Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย และตัวแทนคณะทำงาน Thailand Taxonomy ร่วมวงเสวนา ให้ความเห็นและมุมมองต่อโอกาส และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมในประเทศไทยว่าจะ “ปรับตัว” และ “เปลี่ยนแปลง” อย่างไรให้ยั่งยืน ย้ำการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ต้อง 'ยุติธรรม' ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

 

21 ก.ย.2566 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม HILL CREST ชั้น 5 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ลาดพร้าว บาย ยูเอชจี, กรุงเทพ, แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (แนวร่วมฯ, Fair Finance Thailand) ร่วมกับ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย: ทำไมต้อง "ยุติธรรม" Thai Energy Transition: Why It Must be "Just"  ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัย “แนวทางการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจเขียวตามนิยามเดียวกัน (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (Just Energy Transition)” โดยได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และการเสวนาในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมในประเทศไทย “เปลี่ยนอย่างไรให้ยั่งยืน” 

 

วงเสวนาประกอบด้วยอาทิตย์ เวชกิจ รองประธาน กลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ธนิดา ลอเสรีวานิช กล่าวถึง Thailand Taxonomy ที่เป็นหนึ่งมาตรฐานในการกำหนดทิศทางของธนาคารให้ดำเนินงานอย่างยั่งยืนในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ใช้ได้จริงมากที่สุด คณะทำงานมีการสอบถามความเห็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อปรับปรุงนโยบายอยู่ตลอด โดยภาคพลังงานเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากจึงถูกพิจารณาให้อยู่ใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ควบคู่ไปกับภาคการขนส่ง จุดประสงค์คือพยายามหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวให้ได้มากที่สุดโดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมรองรับ ทำให้ธุรกิจสามารถประเมินตัวเองได้ว่าอยู่ระดับใดของมาตรฐานนี้ และมีโอกาสในการพัฒนาหรือออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ยั่งยืนมากขึ้น ด้านความท้าทาย ธนิดามองว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายด้านระบบนิเวศในประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง ยังต้องการนโยบายที่รัดกุม หรือเครื่องมือในการดำเนินต่อไป

สำหรับมุมมองด้านวิชาการ รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมายถึงการยกเลิกการพลังงานฟอสซิล ซึ่งยังมองเห็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างแสงอาทิตย์ ลม หรือการเกษตรที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ทดแทนได้ รวมถึงประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่สามารถเชื่อมโยงระบบกริด (grid) เข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน หากสามารถกระจายการผลิตไฟฟ้าและร่วมมือกันในภูมิภาค ก็จะสามารถสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น อีกมุมมองหนึ่งคือการตระหนักรู้ของประชาชนในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องไฟฟ้า ผ่านการรณรงค์ในแคมเปญ “#ค่าไฟต้องแฟร์” ซึ่ง รศ.ชาลี ยังมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องค่าไฟราคาถูก แต่การเปลี่ยนผ่านยังมีความท้าทายในประเด็นการเปลี่ยนโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ต้องย้อนกลับไปสำรวจที่จุดเริ่มต้นในการผลิตพลังงาน เพื่อให้ค่าไฟมีความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านนโยบายที่กำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น พร้อมทั้งการปล่อยคาร์บอนของผู้มีกำลังจ่าย ที่จำเป็นต้องมีนโยบายที่รัดกุมและป้องกันไม่ให้เกิดการฟอกเขียวด้วย

อาทิตย์ เวชกิจ มองว่าที่ผ่านมามนุษย์ผลัดวันประกันพรุ่งในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยคาร์บอนมาโดยตลอด แต่การตรวจสอบอย่างเข้มข้นในทุกวันนี้ทำให้ไม่สามารถหลบหลีกได้ต่อไป หากปัญหาโลกรวนไม่บรรเทา ประเทศไทยจะเป็นประชากรอันดับต้น ๆ ของโลกที่ได้รับผลกระทบ และความเป็นจริงที่ว่าภาคธุรกิจไม่ได้มีเวลาถึง 2050 ในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ด้วยเหตุผลว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวโดยตรงต่อประเทศไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ การท่องเที่ยว อาทิตย์แบ่งปันความท้าท้ายเกี่ยวกับข้อมูลด้านพลังงานที่มียังกระจัดกระจาย ไม่เพียงพอ และไม่สมบูรณ์ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อการทำงานต่อไปให้ยั่งยืนและยุติธรรมได้

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ให้ความเห็นเกี่ยวกับความท้าทายในประเด็นคาร์บอนเครดิต ในฐานะผู้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในบริเวณต่าง ๆ ในประเทศไทย แม้ว่าจะไม่สามารถระบุผู้ปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่ชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่ากลับถูกไล่ออกจากพื้นที่และถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนจากการเผาป่า ทั้งที่ชุมชนเป็นผู้ดูแลพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่ดูดซับคาร์บอน” กลับต้องเป็นแรงงานที่เข้าไปส่งเสริมผู้ปล่อยคาร์บอนตัวจริงอย่างโรงงานหรือบริษัทใหญ่ สุภาภรณ์ เสนอในวงเสวนาว่าควรจะมีนโยบายอย่างชัดเจนในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง และไม่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยพื้นที่ของชุมชนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาและพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งต่อไป นอกจากนี้ ยังพูดถึงมิติทั้ง 4 ของความยุติธรรมในงานวิจัย เช่น ผลประโยชน์ของพลังงานทดแทนที่ตกเป็นของกลุ่มธุรกิจเดิม การศึกษาศักยภาพในพื้นที่ร่วมกับชุมชน สำหรับลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ไม่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net