Skip to main content
sharethis

วงพูดคุยเรื่อง "สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" โดย รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นโดย อ.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ว่าด้วยแนวทางการต่อสู้สันติวิธี ความเป็นไปได้และข้อจำกัด และความเข้าใจผิดของสังคมต่อนิยามสันติวิธี โดยเป็นหนึ่งในการอภิปรายและนำเสนองานวิจัย “ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย” วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยการนำเสนอของบุญเลิศมุ่งไปที่ (1) การตั้งคำถามถึงคำจำกัดความของสันติวิธี ทั้งในกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม ทั้งในฝั่งภาครัฐ ภาคสื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไป และ (2) เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้สันติวิธีคืออะไร ซึ่งโดยทั่วไปการชุมนุมมักเริ่มจากสันติ แต่เมื่อมีสิ่งกระตุ้นก็อาจทำให้เกิดการยกระดับการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นส่วนย่อยของขบวนการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวหลัก

ในการนำเสนอตอนหนึ่ง บุญเลิศหยิบยกคำถามสำคัญที่มักมีผู้ถามว่า ทำไมการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงจึงมักไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลนัก ในความเห็นของเขาเห็นว่า เป็นเพราะรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม ประกอบกับความไม่ชัดเจนในแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหว นำพาไปสู่การถกเถียงในเชิงรายละเอียด ซึ่งมีผลเสียต่อขบวนมากกว่า เช่น ความไม่แน่ใจว่าใครใช้ความรุนแรงก่อน หรือฝ่ายรัฐใช้มาตรการเหมาะสม ได้สัดส่วนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของการแย่งชิงความชอบธรรมกัน นอกจากนี้รัฐยังฉลาดมากขึ้นในการปราบปราม ทั้งการใช้การปราบปรามที่ไม่อันตรายถึงชีวิต การใช้นิติสงคราม อย่างการจับแล้วไม่ให้ประกันตัว ฯลฯ

อย่างไรก็ตามในงานศึกษาของบุญเลิศ เสนอด้วยว่าการไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว ยังคงมีโอกาสชนะสูงกว่าการใช้ความรุนแรง แม้โอกาสในการชนะมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วงสิบปีกว่าเป็นต้นมา แต่อย่างน้อยการไม่ใช้ความรุนแรงก็จะไม่สร้างรอยร้าวลึกให้สังคมกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้น การเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง ก็อาจโน้มน้าวให้คนเห็นต่างมาเข้าพวกได้ยาก หากในสังคมมีการแบ่งแยกอย่างลึกซึ้งในตัวเอง

สิ่งสำคัญที่ต้องการนำเสนอ คือการปรับความเข้าใจว่า แม้สันติวิธีจะไม่ใช่วิธีการที่ง่าย แต่อย่างน้อยสันติวิธีจะเป็นเกราะคุ้มกันขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อให้ยังคงความชอบธรรมเอาไว้ได้อยู่ และทำให้ภาครัฐต้องระมัดระวังการจัดการกับผู้ชุมนุม รวมไปถึงกลยุทธ์การดันเพดานความเข้าใจของสังคมว่า สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถูกกฎหมายก็ได้ เส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าสันติหรือไม่สันติ คือ ความรุนแรงทางกายภาพ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งดูไม่ยาก แต่เส้นแบ่งที่เป็นสีเทา เช่น การทำลายวัตถุหรือสถานที่ แม้จะไม่ได้ทำร้ายบุคคลใด หรืออาจเข้าข่ายสันติวิธีตามหลักวิชาการ แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกสังคมท้าทายทางความคิด และเป็นสิ่งที่ขบวนการต้องนำมาขบคิดต่อ ต้องหาสมดุลระหว่างการขยายเพดานการรับรู้เรื่องสันติวิธี และการลงมือปฏิบัติที่จะไม่ทำให้เสียแนวร่วม โดยหน้าที่ของนักวิชาการต้องพยายามช่วยอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้ง่ายขึ้น

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: วิสามัญมรณะฯ [คลิป], 10 ต.ค. 66

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net