Skip to main content
sharethis

ประกาศกฎกระทรวงลดค่าธรรมเนียม -คำขอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเหลือ 500 บาท แรงงานกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม มีผลยาว 4 ปี หนุนให้เกิดการจ้างงานถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2566 ประกาศดังกล่าวออกโดยกระทรวงมหาดไทยและลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ จะเป็นการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปจาก 1,900 บาท เป็น 500 บาท สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

การลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 4 ปี จะมีส่วนสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย แก้ไขปัญหาคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเพื่อการทำงาน ให้เข้าสู่ระบบการเป็นผู้เข้าเมืองเพื่อทำงานโดยถูกต้องตามกฎมหาย เพื่อรักษาความมั่นคง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจทั้งภาคการผลิตสินค้า ภาคการบริการและภาคการส่งออก และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย

“กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับบนี้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด19 ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมลงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทั้งแรงงานและนายจ้าง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 28/10/2566

กระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าพาแรงงานจากอิสราเอลกลับได้หมดภายใน ต.ค. 66

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับไทยกว่า 8,000 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 มีแรงงานไทยเดินทางกลับมารวม 763 คน ซึ่งทำให้ตัวเลขรวมปัจจุบัน พบว่ามีแรงงานไทยกลับมาแล้วกว่า 5,000 คน และปลัดกระทรวงแรงงานเชื่อมั่นว่าจะพาแรงงานไทยกลับมาหมดทันสิ้นเดือนนี้

นายไพโรจน์มอบหมายให้ นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ต้อนรับและดูแลอำนวยความสะดวกแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล และแจ้งความประสงค์เดินทางกลับถึงประเทศไทยที่เดินทางกลับ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 484 คน

ด้วยเที่ยวบิน LY083 จำนวน 268 คน เที่ยวบิน LY081 จำนวน 87 คน เที่ยวบิน LY085 จำนวน129 คน ทุกเที่ยวบินมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ร่วมอำนวยความสะดวกและแนะนำสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยา

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีการตั้งโต๊ะให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุดด้วย

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานทุกคนจากสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้แรงงานไทยรวมทั้งญาติของแรงงานไทยเชื่อมั่นว่า กระทรวงแรงงานจะสามารถพาทุกคนออกมาให้ได้เร็วและปลอดภัยที่สุด” นายไพโรจน์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/10/2566

กต. วอนแรงงานกลับไทยก่อน ย้ำถูกจับ 18 คน อิสราเอลไม่ทราบที่มาตัวเลข 54 คน

27 ต.ค. 2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและความคืบหน้าภารกิจอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล ว่า สถานการณ์ยังมีความน่าห่วงกังวล มีการติดตามปฏิบัติการภาคพื้นอย่างเต็มรูปแบบของอิสราเอล ฝ่ายต่างๆ พยายามพูดคุยกับอิสราเอลว่าขอให้ชะลอการบุกอย่างเต็มรูปแบบไปก่อน เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวประกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการดูแลความปลอดภัยและปล่อยตัวประกันที่เหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการปล่อยตัวประกัน 2 ครั้ง รวมแล้ว 4 คน

ยอดแรงงานไทยในอิสราเอลที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ

ผู้เสียชีวิต 33 ราย

ผู้บาดเจ็บ 18 คน (อยู่ระหว่างการรักษา 5 ราย)

ผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 18 คน

ส่วนกรณีมีข่าวว่าคนไทยถูกจับกุม 54 คน นางกาญจนา ระบุว่า เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่จากการประสานข้อมูลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางการไทยและทางการอิสราเอลแล้ว ได้ข้อมูลตรงกันยืนยันที่ตัวเลขเดิม 18 คน ซึ่งกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งรายงานอ้างว่าเป็นข้อมูลจากทางการอิสราเอลนั้น ทางการอิสราเอลระบุว่าไม่ทราบแหล่งที่มาของตัวเลข 54 คนดังกล่าว ซึ่งเราหวังว่าจะยังไม่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น และจะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ทางการมีนโยบายว่า มีข้อมูลอะไรก็จะเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยจะต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว ขอให้วางใจได้ว่าเราจะติดตามต่อไป”

ในส่วนของร่างของเสียชีวิต มีการเคลื่อนย้ายกลับมายังประเทศไทยแล้ว 15 ราย ขณะที่การอพยพดำเนินการไปแล้ว 23 เที่ยวบิน ช่วยคนไทยกลับบ้านได้แล้ว 4,771 คน รวมผู้ที่เดินทางกลับมาเองด้วย ซึ่งผู้ที่กลับมเองขอให้วางใจจะได้รับการชดเชย โดยขอให้ติดต่อที่แรงงานจังหวัด

ขณะที่นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษายังสภาบัน Arava International Center for Agriculture Training มีการเดินทางกลับไทยแล้ว 40 คน ส่วนอีก 75 คน ยังไม่ประสงค์กลับ โดยคิดว่าตนเองยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าไทยเป็นชาติที่อพยพมากที่สุดอย่างแข็งขัน เนื่องจากมีจำนวนคนไทยอยู่ที่อิสราเอลมาก

ทางด้านพี่น้องคนไทยที่รอค่าแรง หรือยังไม่พร้อมที่จะกลับ รัฐบาลพยายามส่งข้อความถึงท่าน ขอให้กลับมาตั้งหลักที่ไทยก่อน ซึ่งการจะกลับไปทำงานนั้น ทางการอิสราเอลแสดงความยินดีที่จะตอบรับอยู่แล้ว เพราะเราถือว่าเป็นแรงงานที่สำคัญในภาคการเกษตรของเขา ขอให้กลับมาก่อน โดยขอให้ไปยังที่ศูนย์พักพิงของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เอกอัครราชทูตอิสราเอล พูดในการประชุมสหประชาชนเมื่อวานที่ผ่านมา (26 ต.ค. 2566) โดยมีการนำภาพและคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นแรงงานไทยถูกทำร้าย ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามเรื่องนี้หรือไม่ นางกาญจนา ตอบว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ติดตามเรื่องนี้ ซึ่งปกติในเรื่องของผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ไม่ใช่ข้อมูลที่เอามาเปิดเผยกัน เพราะต้องคิดถึงใจคนที่เป็นญาติด้วย

ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จะหารือกับเลขานุการที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเรื่องนี้ ซึ่งตามหลักการจะนำเอกสารหรือคลิปมาแสดงในที่ประชุม ต้องขออนุญาตต่อประธานก่อน โดยผ่านฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเข้าใจว่าครั้งนี้ไม่ได้ขออนุญาต แต่จะประสานงานติดตามกันต่อไป ย้ำว่าการเคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ในรูปแบบออนไลน์ด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/10/2566

เผยยอดแรงงานไทยแจ้งขอกลับประเทศแล้ว 8,500 คน ขณะที่อีกกว่า 2 หมื่นคนไม่ขอเดินทสางกลับตอนนี้ส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สิน

26 ต.ค. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีแรงงานแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับไทยกว่า 8,500 คน เดินทางกลับถึงไทยแล้วประมาณ 5,500 คน อีกประมาณ 3,000 คน คาดว่าจะอพยพกลับประเทศได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่แรงงานไทยในอิสราเอลที่เหลืออีก 20,000 คน ยังไม่แจ้งความประสงค์กลับประเทศ ทำงานอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล ซึ่งยังอยู่ในภาวะปกติ

"ส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินจึงยังอยากไม่กลับเมืองไทยในตอนนี้ ส่วนแรงงานที่กลับถึงไทยแล้ว สำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้จัดหาตำแหน่งงานไว้รองรับให้แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดทางการเกาหลีและออสเตรเลีย พร้อมรับแรงงานไทยที่มีทักษะด้านการเกษตรไปทำงานในหลายอัตรา"รมว.แรงงานระบุ

ที่มา: แนวหน้า, 26/10/2566

ร่าง 7 แรงงาน กลับถึงไทยแล้ว ส่งกลับภูมิลำเนาให้ญาติทำพิธี

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารสำนักงานเขตปลอดอากรภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ รถตู้ของบริษัทสุริยาหีบศพ 7 คัน พร้อมโลงศพ มาสแตนด์บาย รอรับร่างแรงงานไทย 7 คนที่เสียชีวิตจากสงครามในประเทศอิสราเอล ที่จะเดินทางมากับสายการบินเอลอัล จากกรุงเทลอาวีฟ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเวลา ประมาณ 09.50 น.

ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้นำพวงหรีดในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน มาเตรียมรอเพื่อที่จะเข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยทันทีที่ร่างของแรงงานไทยมาถึง โดยเป็นการจัดพิธีทางศาสนาในส่วนของทางการไทยก่อนที่จะเคลื่อนร่างแรงงานไทยกลับภูมิลำเนา โดยร่างแรงงานไทยที่มาถึงวันนี้ ประกอบด้วย นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ, นายศักดา สุระคาย, นายนิติกร แซ่ว่าง, นายอภิชาติ กุสะรัมย์, นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี, นายศรีทัศน์ กาเหว่า และนายพิรุฬห์ ทานนพิมพ์

ทันทีที่เครื่องบินจากสายการบิน เอลอัล เที่ยวบินที่ LY083 ได้นำร่างแรงงานชาวไทยที่เสียชีวิต 7 ราย มาถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการรับร่าง โดยนำร่างผู้เสียชีวิตที่บรรจุในกล่องไม้ และมีกล่องกระดาษคลุมมาอีกชั้น มาตรวจสอบรายชื่อจากเลขที่ใบขนย้าย และชื่อของผู้เสียชีวิต ที่ติดอยู่ที่หน้ากล่อง โดยไม่มีการเปิดกล่อง เพราะจะให้ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นผู้เปิด เมื่อถึงภูมิลำเนาเท่านั้น

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนทำพิธีไว้อาลัย มีตัวแทนทางการไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่ร่วมพิธีรับศพฯ ประกอบด้วย นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุลในการทำพิธีไว้อาลัยตามศาสนา รวมถึงมีนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และตัวแทนจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมในพิธีรับร่างและร่วมพิธีไว้อาลัยด้วย โดยตัวแทนนำพวงหรีดมาวางบนลังไม้ที่บรรจุร่าง เป็นการประกอบพิธีไว้อาลัยแล้ว ก่อนยืนไว้อาลัยให้กับร่างผู้เสียชีวิต และนำร่างขึ้นรถตู้ทั้ง 7 คันที่เตรียมไว้ ลำเลียงร่างกลับไปยังภูมิลำเนา โดยมีครอบครัวรอรับร่างแรงงานอยู่ตามภูมิลำเนา ซึ่งทางการไทยได้ประสานในเรื่องเอกสารต่างๆ ไว้ให้กับทางครอบครัวแล้ว

ขณะที่นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างของแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลวันนี้กลับมาทั้งหมด 7 ราย โดยมี 5 รายที่มีประกันสังคมในประเทศไทย ทั้งนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา ขณะที่รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากอิสราเอล ที่เหลือยังต้องใช้เวลาพอสมควร และวันนี้ตนเองจะได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งจะมีการสอบถามความชัดเจนในอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางกาารอิสราเอลจะให้กับแรงงานไทยด้วย

ส่วนในช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่กลุ่มฮามาสโจมตีหนักขึ้นมีผลต่อการเคลื่อนร่างมาสนามบินหรือไม่นั้น นายอารี ยอมรับว่า ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่าง จึงมีแนวคิดว่า หากต่อไปจะมีแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในอิสราเอลจะต้องมีการหาที่หลบภัยให้ หรืออาจมีการซ้อมหลบภัยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งหากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะปลอดภัยและสูญเสียน้อยกว่าเดิมได้

ส่วนกรณีที่นายจ้างจากอิสราเอล เสนอค่าจ้างให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ต่อ นายอารี บอกว่าก็เป็นสิทธิของนายจ้าง ขึ้นอยู่กับคนงานของเรา และจากการที่ตนเองไปรอรับแรงงานพบว่าร้อยละ 70 บอกว่ายังมีภาระหนี้สิน แต่เนื่องจากช่วงแรกยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์จึงต้องเดินทางกลับมาตั้งหลักก่อน แต่อาจจะเดินทางกลับไปทำงานอีก โดยหากต้องการเดินทางกลับไปอีกครั้งกระทรวงแรงงานก็จะหาอาชีพให้ตามที่ความถนัด

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดว่า จะให้ธนาคาร ธกส.และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและระยะยาวให้กับแรงงานเพื่อช่วยเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงานในอิสราเอล เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับประเทศนั้น มองว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่จะจูงใจแรงงานกลับมาได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแรงงานว่าจะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่ ซึ่งก็มองว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีในการหาทางออกให้แรงงาน

ขณะที่กรณีมีบางเงื่อนไขของกระทรวงแรงงานที่หากเซ็นชื่อรับเงินเยียวยาไปแล้ว อาจจะถูกตัดสิทธิไม่ได้ไปทำงานที่อิสราเอลต่อนั้น นายอารี ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน โดยการจะให้แรงงานกลับไปทำงานที่อิสราเอลจะมีการหารือแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้ง

นายอารี ยังกล่าวถึง การติดตามค่าแรงจากนายจ้างที่อิสราเอล สำหรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งทูตแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอีก 10 คนที่ส่งไปช่วยประสานงานในเรื่องนี้ และจะประสานกับลูกจ้างด้วยว่ายังเหลือ หรือตกหล่นอะไร ขั้นตอนไหนบ้าง

ส่วนแรงงานที่จะเดินทางกลับไปทำงานตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีเกินครึ่งที่ให้ข้อมูลว่าอยากจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก ส่วนโอกาสที่นายจ้างในอิสราเอลจะไม่รับกลับไปทำงานนั้น นายอารียืนยันว่าไม่มี ซึ่งตามเงื่อนไขต้องรับอยู่แล้วเพราะบริษัทอยากให้กลับไป และอาจจะมีการเพิ่มค่าแรงเป็นแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงาน ต่อให้เดินทางกลับมาก่อนครบสัญญาก็ตาม เนื่องจากแรงงานไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรซึ่งอิสราเอลมีต้องการด้านนี้

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวในกลุ่มแรงงานจากอิสราเอลว่าจะรับกลับถึงแค่สิ้นเดือนเท่านั้น นายอารี บอกว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับ ทางรัฐบาลก็จะประสานหาเครื่องบินให้ไม่มีการทอดทิ้งแน่นอน และไม่ใช่แค่สิ้นเดือนนี้ ซึ่งกระแสข่าวอาจเป็นเพียงการกระตุ้นเพื่อให้แรงงานได้รีบกลับมาอย่างปลอดภัย และยืนยันว่าแรงงาสที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดจะได้รับการดูแลในการกลับประเทศอย่างแน่นอน

ที่มา: ข่าวช่องวัน, 26/10/2566

"พม." ผนึก "สธ." เพิ่มประสิทธิภาพเยียวยาแรงงานกลับจากอิสราเอลกว่า 300 ราย

24 ต.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการเยียวยาจิตใจแรงงานไทยที่กลับมาจากประเทศอิสราเอลว่า ขณะนี้กระทรวง พม.ได้เข้าไปพูดคุย และดูแลครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตทั้ง 8 คนแล้ว ส่วนอีก 254 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบอื่นๆ เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจเยี่ยมและพูดคุย ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในส่วนภาคอื่นๆ มีอยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม.ได้ไปพูดคุยกว่า 300 รายแล้ว แต่ในหน่วยงานอื่นๆ ก็ไปดูแลเรื่องการเยียวยา โดยกระทรวง พม.ได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลและด้านจิตใจ เพราะมีแรงงานไทยต้องการการดูแลเรื่องจิตใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลแรงงานไทยในอิสราเอล

นายวราวุธ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กรณีที่มีแรงงานไทยในอิสราเอลมีความประสงค์จะอยู่ในประเทศอิสราเอลต่อ เนื่องจากนายจ้างเพิ่มค่าแรงให้นั้น ตนอยากให้พิจารณาถึงความห่วงใยของครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในประเทศ เข้าใจว่าหากกลับมาจะมีหนี้สิน แต่อยากให้พิจารณาความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปหาวิธีให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่กระทรวง พม.ดูแลจะทำให้ดีที่สุด

นายวราวุธ ยังกล่าวถึงการใช้ล่ามภาษามือ ว่า ในส่วนของภาครัฐน่าจะมีให้บริการ จึงขอเน้นในงานของราชการ ส่วนเรื่องการเมืองเกรงว่าจะมีปัญหา แต่ในอนาคตพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) จะมีล่ามภาษามือเพื่อมาชี้แจงงานของพรรค

ที่มา: สยามรัฐ, 24/10/2566

นายกฯ สะเทือนใจแรงงานไทยถูกใช้เงินล่อทำงานต่อแม้ต้องเสี่ยงชีวิตท่ามกลางสงคราม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานคนไทยจากอิสราเอลว่า จากรายงานพบว่ายังมีแรงงานคนไทยอีก 2-3 หมื่นคนที่ยังต้องเสี่ยงชีวิต ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลแรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าช่วยดูแลแรงงานเกษตรที่กลับมาจากอิสราเอลให้ผลตอบแทนดีขึ้น พร้อมทั้งสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงให้ช่วยดูแลคนไทยที่กลับจากอิสราเอลด้วย

ส่วนประเด็นที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเสี่ยงชีวิตเมื่อนายจ้างใช้เงินมาล่อใจให้ยอมเสียงชีวิตอยู่ทำงานต่อ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าทำให้สะเทือนใจอย่างมาก ในเรื่องนี้ก็ตระหนักดีว่าเงินมีความสำคัญกับเขาขนาดไหน พร้อมกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวให้ญาติแรงงานไทยในอิสราเอลช่วยโน้มน้าวให้กลับมา เพราะไม่คุ้มที่จะเสี่ยงชีวิตอยู่

“นโยบายการเงินการคลังที่ดี ไม่ใช่แค่รักษาวินัยการเงินการคลังเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดี เพื่อให้ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับแรงงานไทยที่ตกเป็นตัวประกันและเสียชีวิตนั้น ขณะนี้ยังมีจำนวนเท่าเดิม และยังสามารถนำคนไทยกลับมาได้วันละ 600-800 คน แต่ก็ไม่มีแรงงานไทยที่แสดงเจตจำนงจะกลับมาเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ากลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 50 คน แต่ในช่วงบ่ายจะโทรศัพท์ไปพูดคุยกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพยายามพูดคุยทุกช่องทาง หวังว่าจะมีคนไทย 19 ชีวิตอยู่ในจำนวนนี้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ที่ตกเป็นตัวประกัน

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 24/10/2566

ธ.ก.ส. ยกหนี้ให้ลูกค้าแรงงานไทยในอิสราเอลที่เสียชีวิต

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า กำลังให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาที่มีผู้กู้เงินเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล สำรวจว่าลูกค้าทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างเพื่อช่วยเหลือตามมาตรการที่กำหนดไว้

สำหรับผู้เสียชีวิตหรือสูญหายตามคำสั่งศาลจะยกหนี้ให้ ส่วนเงินกู้ในสัญญาอื่นที่ผูกพันกันจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ที่กู้เงินให้คู่สมรสและบุตรไปทำงานแล้วผู้ไปทำงานเสียชีวิตด้วย รวมถึงแรงงานที่หนีภัยการสู้รบกลับมาทำให้ขาดรายได้ จะลดดอกเบี้ยให้ในระยะเวลาหนึ่ง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/10/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net