Skip to main content
sharethis

เวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชนที่ จ.สงขลา หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถา “3 ล็อกเศรษฐกิจภาคใต้” สะท้อนความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ พร้อมตั้งโจทย์ว่าการแก้ปัญหาต้องไม่ใช่การแก้เป็นรายมาตรการหรือรายธุรกิจ แต่ควรแก้ในเชิงระบบ

เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party  รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2567 มีการจัดเวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน ที่โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยช่วงเช้า ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ปาฐกถา “3 ล็อกเศรษฐกิจภาคใต้” สะท้อนความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ พร้อมตั้งโจทย์ว่าการแก้ปัญหาต้องไม่ใช่การแก้เป็นรายมาตรการหรือรายธุรกิจ แต่ควรแก้ในเชิงระบบ

ล็อกที่หนึ่ง เมื่อดูข้อมูลภาพรวมรายได้ของภาคใต้ จะเห็นว่ามีอัตราเติบโตน้อยและถดถอยลงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยเพิ่มขึ้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ค่าเฉลี่ยรายได้จากที่เคยสูงก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว 
- การเติบโตของรายได้ในภาคใต้กระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด บางจังหวัดก็จนลงด้วย
- ศักยภาพในการสร้างมูลค่าและรายได้ต่อหัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2554 ภาคใต้เคยคิดเป็น 77% แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 เหลือแค่ 57% 
- และหากดูรายจังหวัดก็จะเห็นได้ว่าจีดีพีต่อหัวไม่เพิ่มขึ้นเลย มีเพียงสามจังหวัดเท่านั้นที่โตเกิน 2% คือภูเก็ต ชุมพร และพังงา

ล็อกที่สองคือด้านอาชีพ ภาคใต้ในช่วงหลังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์อื่นๆ แทบไม่โตเลยในภาพรวม ภาคใต้ไม่มีอย่างอื่นโตเลยนอกจากการท่องเที่ยวซึ่งมีความผันผวนง่าย เศรษฐกิจหลังโควิดภาคใต้ก็ยังโตช้าเมื่อเทียบกับภาคอื่น

ล็อกที่สามคือคุณภาพชีวิต จะเห็นว่าสัดส่วนครัวเรือนยากจนยังสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้ ไม่มีงานให้ทำมากพอ อัตราอาชญากรรมก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย สัดส่วนประชากรยากจนก็สูง ครัวเรือนในภาคใต้ที่มีความเสี่ยงกับภัยพิบัติก็สูงกว่าภาพรวมของทั้งประเทศ

โจทย์ใหญ่คือเครื่องยนต์เศรษฐกิจภาคใต้ จะไปยังไงต่อ?

เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร การท่องเที่ยวอุตสาหกรรม อยู่ในสภาวะที่ควรตั้งคำถามว่าจะไปอย่างไรต่อ

ในภาคเกษตรแม้จะมีการเปลี่ยนสัดส่วนผลผลิต แต่มูลค่าผลผลิตโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง

การท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวช้า ที่ฟื้นตัวเร็วได้แค่ไม่กี่จังหวัดเท่านั้น นักท่องเที่ยวกลับมาปริมาณมากขึ้นแต่การจับจ่ายใช้สอยไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย ทำให้ต้องพึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นอีก ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ก็กลับมาแค่ประมาณ 71% ของช่วงก่อนโควิดเท่านั้น โจทย์ใหญ่ของการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนนี้อยู่ที่จะกระจายสัดส่วนการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวที่อยู่แค่ประมาณ 5 จังหวัด กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา ได้อย่างไร

ในภาคอุตสาหกรรมก็มีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขั้นต้นเท่านั้น คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาคืออุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในราคาภาคเกษตรของโลกตามไปด้วยโดยตรง อย่างที่เคยเกิดขึ้นและยังคงเกิดอยู่กับราคายางพาราในปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องคิดวันนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายมาตรการหรือรายธุรกิจ แต่เป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบ

วันนี้พี่น้องประชาชนหลายคนสะท้อนเรื่องการจัดการปัญหาที่ดิน หลายคนพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เพราะเราเชื่อว่าการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทีละเรื่อง แต่ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง อย่างเช่นการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบเพื่อจัดการโครงสร้างที่ดินใหม่ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบงบประมาณ เป็นต้น

EEC vs SEC ดูเหมือนคล้าย แต่แตกต่าง

ช่วงต่อมาเป็นวงเสวนาหัวข้อ “ปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจของภาคใต้” ที่เปิดเวทีให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนใน จ.สงขลา ร่วมสะท้อนปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านได้รับฟังข้อมูล ก่อนร่วมตอบคำถามและแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นเศรษฐกิจของภาคใต้ โดยตัวแทนของพรรคก้าวไกลคือ ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ระบุว่าประเด็นที่สะท้อนมาจากภาคประชาชนและภาคเอกชนมีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านสามารถรับนำไปผลักดันได้ทันที หลายเรื่องเป็นประเด็นที่ต้องผลักดันผ่านร่างกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.โรงแรม ฯลฯ

ส่วนอีกประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาชนสะท้อนขึ้นมา คือเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งสถานะล่าสุดวันนี้ยังไม่มีร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นของคณะรัฐมนตรีออกมา ที่น่ากังวลคือถ้าร่างของคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อไหร่ ก็อาจจะเข้าสภาฯ อย่างรวดเร็วและผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็ว จนอาจขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แม้โดยเนื้อหาหลักหลายเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่พอเป็น SEC บริบทค่อนข้างแตกต่างกันเพราะ EEC เป็นการต่อยอดจากพื้นที่ที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ SEC เป็นการเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้การดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

รัฐต้องมีบทบาทนำการเปลี่ยนแปลง

ศิริกัญญากล่าวว่า เวลาพูดถึงเศรษฐกิจของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรของภาคใต้ เราอยากเห็นบทบาทของรัฐที่มาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น หลายครั้งที่รัฐเหมือนจะมีแนวคิดแต่ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนให้สุดหรือไม่ได้ทำเลย

เช่นรับเบอร์ซิตี้ (Rubber City) ที่เดิมวางให้เป็นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราในขั้นปลายมากขึ้น ถึงขั้นตั้งนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นนิคมร้าง เราอยากเห็นอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่พัฒนาจากขั้นพื้นฐานให้ก้าวหน้ามากขึ้น แต่รัฐก็ต้องมีบทบาทนำมากกว่านี้

และแน่นอนว่าภาคเกษตรยังเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่สำคัญของภาคใต้ เพราะการพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจไม่กี่ตัว อาจทำให้มีความเปราะบางที่เสี่ยงต่อรายได้ที่ผันผวน ภาคใต้เคยเป็นภาคที่มีอัตราส่วนของเด็กที่เรียนต่อในระดับภาคบังคับสูงที่สุดในประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น 10 ปีกลายเป็นภาคที่มีเด็กต้องตกหล่นจากระบบการศึกษาประมาณหนึ่งในสาม สะท้อนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจที่เปราะบางผันผวนของภาคใต้

เวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชนที่ จ.สงขลา ครั้งนี้ มีทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานราชการ เข้าร่วมจำนวนมาก โดยช่วงเย็นมีการร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนรอบบริเวณทะเลสาบสงขลาด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net