Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลจัดเสวนาในวาระครบ 4 ปียุบพรรคอนาคตใหม่ ทบทวนมูลเหตุแห่งการยุบพรรคในอดีต ข้อหาเดียวกันแม้ต่างการกระทำ สะท้อนการตีความกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ชี้ยุบพรรคคือการทำลายจุดเชื่อมระหว่างประชาชนกับการเมือง ทำลายเจตจำนงประชาชน จึงไม่ควรมีพรรคใดถูกยุบเพราะเป้าหมายทางการเมืองอีก

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งว่าเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ แขวงหัวหมาก พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรมเสวนา Sol Bar Talk Special เรื่อง “ถ้ายุบพรรคการเมืองต่อไป ประเทศไทยจะเสียอะไรบ้าง?” เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมี รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่, และณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา

รศ.ยุทธพรกล่าวว่า หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียงไม่กี่พรรคในประเทศไทยที่ถูกยุบไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ความเป็นจริงพรรคการเมืองไทยขนาดเล็กและขนาดกลางถูกยุบมาแล้วกว่าร้อยพรรค ซึ่งการยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะในระบอบนี้ พรรคการเมืองคือตัวกลางที่เชื่อมต่อประชาชนเข้ากับระบบการเมือง นำปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนเข้าสู่การแก้ไขในระบบรัฐสภา หากพรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาชนและประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง แต่หากพรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนและประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอลงตามไปด้วย

รศ.ยุทธพรกล่าวต่อไปว่า ต้องย้ำว่าโทษของการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถูกเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมือง และกำหนดบทลงโทษหากพรรคไม่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือพรรคการเมืองไทยไม่ได้ถูกทำให้เติบโตไปตามธรรมชาติ แต่ถูกบังคับให้เติบโตผ่าน พ.ร.ป. พรรคการเมือง เช่น การไปกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือต้องมีสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนจะดูดี สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน แต่หากพรรคการเมืองไม่ได้เติบโตโดยธรรมชาติ ไม่ได้เติบโตจากพลังการขับเคลื่อนทางสังคม พรรคก็ต้องไปหานายทุนเพื่อทำให้พรรคเติบโตไปตามที่กฎหมายกำหนด นำมาซึ่งการต่อรองแลกโควต้ารัฐมนตรีและอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่าที่เราไม่อยากเห็น

นอกจากจะกำหนดการเติบโตแล้ว พ.ร.ป. พรรคการเมืองยังทำให้พรรคถูกตัดตอนเช่นกัน เช่น ถ้าไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หาสมาชิกได้ไม่ครบ ไม่ดำเนินกิจการต่าง ๆ หรือไปทำสิ่งที่กฎหมายระบุว่าเข้าข่ายยุบพรรค พรรคก็จะถูกตัดตอนไป ยิ่งโดยเฉพาะ พ.ร.ป. พรรคการเมืองฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคด้วยถ้อยคำที่ตีความได้กว้างขวาง ก็มีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองง่ายยิ่งขึ้น

“การใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติรัฐ-นิติธรรมมันจะไม่หลงเหลืออยู่ในสังคม สิ่งที่เรียกว่าการมีกฎหมายเพื่อพิทักษ์รักษาหรือคุ้มครองเสรีภาพให้กับประชาชนมันจะไม่เหลือในสังคม แต่สิ่งที่เหลือคือกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของคนมีอำนาจ หรือกฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือของคนซึ่งต้องการจะใช้เพื่อทำลายล้างทางการเมือง” รศ.ยุทธพรกล่าว

รศ.ยุทธพรมองถึงปัญหาทางการเมืองไทย 3 ประการที่ทำให้การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง คือ 1. ปัญหาเชิงอุดมการณ์ ระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบสากล กับประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามและการตีความที่หลากหลายว่าระบอบการปกครองของไทยคืออะไรกันแน่ และแบบใดจึงเรียกว่าการ “ล้มล้างการปกครอง”

2. ปัญหาเชิงสถาบันและกระบวนการทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่สถาบันแรกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมไทย แต่คือระบบราชการ โดยเฉพาะศาล และกองทัพ ทำให้เกิดภาวะรัฐเร้นลึกที่คอยบอนไซระบอบประชาธิปไตย

และ 3. ปัญหาสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือ สังคมไทยเราไม่ใช่สังคมที่มีจินตภาพเรื่องการรวมกลุ่ม พรรคการเมือง การเลือกตั้ง กระบวนการนิติบัญญัติ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาเป็นหลักตั้งต้น ซึ่งเป็นจินตภาพพื้นฐานที่จำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย 3 ปัญหาข้างต้นนี้นำไปสู่การใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง และทำให้สถาบันทางประชาธิปไตยของไทยอ่อนแอมาโดยตลอด

ขณะที่ณัฐวุฒิกล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.ป. พรรคการเมืองประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2498 มีพรรคการเมือง 375 พรรคเป็นอย่างน้อยที่ถูกยุบไป เป็นการยุบเจตจำนงของประชาชนไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไรที่พยายามรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่เคยออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การยุบพรรคก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเพียง 17 วันย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งโดยภาพรวม เป็นการตัดโอกาสพรรคการเมืองในการเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เป็นการทำลายเจตจำนงของประชาชน และขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการนำองค์กรอิสระมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งผ่านไป 5 ปีสถานการณ์ของประเทศไทยก็ยังเป็นเช่นเดิม

ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศชาติเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ 1. การยุบพรรคคือการยุบเจตจำนงของประชาชนที่มารวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง 2. การยุบพรรคทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาเสียไป โดยหากพรรคนั้นเป็นรัฐบาลก็จะสูญเสียสิทธิในการได้อำนาจบริหาร ส่วนหากพรรคนั้นเป็นฝ่ายค้าน รัฐสภาก็จะสูญเสียระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และ 3. การยุบพรรคคือการทำลายตัดตอนความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อองค์กรต่าง ๆ ในระบบการเมือง ซึ่งยิ่งทำเช่นนี้ต่อไป ประชาชนก็จะยิ่งตื่นรู้และยิ่งตาสว่าง

“การยุบพรรคที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงของประชาชน แต่เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการทำลายล้างกันทางการเมือง เราต้องยืนยันและส่งเสียงร่วมกัน เพื่อไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยเสื่อมเสียไปมากกว่านี้” ณัฐวุฒิกล่าว

ขณะที่พรรณิการ์กล่าวว่า หากลองทบทวนว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของไทยถูกยุบด้วยข้อหาอะไรบ้าง จะพบว่าพรรคไทยรักไทยถูกยุบเมื่อปี 2550 ด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” จากกรณีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยมิชอบ พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบเมื่อปี 2562 ด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” จากกรณีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และในปี 2567 พรรคก้าวไกลก็กำลังจะถูกยื่นให้พิจารณายุบพรรคด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” เช่นกัน จากกรณีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

ทั้ง 3 กรณีจะเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนว่ากฎหมายสามารถตีความได้หลายทาง ผันแปรไปตามบริบทความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง กฎหมายที่ดีต้องชัดเจน เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองเข้าใจตรงกันว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ และไม่ให้เกิดการใช้อำนาจที่ล้นเกินของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนี้ พรรณิการ์กล่าวต่อไปว่า การกระทำผิดของบุคคลภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก สส. หรือกรรมการบริหาร ไม่ควรเป็นเหตุแห่งการลงโทษยุบพรรค หากพิสูจน์ได้ชัดว่าบุคคลนั้นกระทำผิดโดยส่วนบุคคล ไม่ได้ใช้อำนาจของพรรคในการกระทำความผิด เช่นกรณีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดในคดีหุ้น ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้ถึงขั้นยุบพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นการกระทำส่วนบุคคล ไม่ได้กระทำการในฐานะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย สิ่งนี้คือข้อพิสูจน์ว่าการยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับพรรคใดก็ตาม

“เวลาพูดถึงการยุบพรรค สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคการเมืองด้วยกันเห็นดีเห็นงามไปกับการยุบพรรค ซึ่งเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่จะปกป้องกันและกันว่าเราจะต้องไม่ถูกยุบ แล้วใครจะมาปกป้องพวกเรา” พรรณิการ์กล่าว

ท้ายที่สุด เมื่อพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ของการยุบพรรค รศ.ยุทธพรกล่าวว่า มี 2 เส้นทางที่จะดำเนินการได้ เส้นทางแรกคือการยกเลิกบทลงโทษเรื่องการยุบพรรคออกจาก พ.ร.ป. พรรคการเมือง ซึ่งข้อดีคือจะทำให้การยุบพรรคการเมืองไม่เกิดขึ้นอีก ยกเว้นจะเกิดการรัฐประหาร แต่ก็มีข้อเสียคือ หากมีพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เช่น พรรคทหารจำแลง ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ หรือจะเลือกใช้เส้นทางที่ 2 คือการเขียนข้อกำหนดเกี่ยวกับการยุบพรรคไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เฉพาะเจาะจง เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลใช้อำนาจในการตีความล้นเกิน

ขณะที่ณัฐวุฒิกล่าวว่า หนทางที่ดีที่สุดคือการคืนเจตจำนงให้ประชาชนร่วมกันคิดและออกความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าควรจะออกแบบกลไกและเงื่อนไขเพื่อป้องกันการยุบพรรคด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างไร รวมถึงการออกแบบกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net