Skip to main content
sharethis

สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะครบรอบ 10 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ยังเป็นการครบรอบการก่อตั้งขององค์กรทนายความที่มาช่วยเหลือบรรดาผู้คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีโดยรัฐบาลทหารอย่าง “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่ตั้งหลังรัฐประหารหนึ่งวันและปัจจุบันยังคงทำงานมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่มี คสช.แล้ว

ถึงจะไม่มี คสช.อยู่แล้ว แต่มรดกของคณะรัฐประหารก็ยังอยู่ต่อมา ที่ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ 60 ที่พยายามแก้ไขกันตอนนี้ แต่ยังมีทั้งประกาศหรือคำสั่ง คสช.บางฉบับที่ยังอยู่แม้จะไม่ปรากฏการนำมาใช้แล้ว คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหาร แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือกลไกต่างๆ ที่ถูกคณะรัฐประหารเซตระบบใหม่และยังถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว อย่างกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานความมั่นคงที่สะท้อนให้เห็นผ่านปริมาณคดีทางการเมืองที่พุ่งไปถึงหลักพันคดีไปจนถึงการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองหลายอย่างทั้งช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร ความตื่นตัวทางการเมืองของคนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร การตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนในปี 63 และการเลือกตั้งใหญ่ 2 ครั้ง แต่องค์กรทนายความอย่างศูนย์ทนายความฯ ก็ยังอยู่มาจนถึงปีที่ 10 และยังมีงานให้ทำ

ประชาไทชวนคนทั้งคนเก่าคนแก่ของศูนย์ทนายความฯ และคนรุ่นใหม่ที่เป็นผลพวงจากการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนในปี 2563 มาเล่าถึงแรงดลใจที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาสู้กับอำนาจรัฐและยังสู้ต่อมาเป็น 10 ปีเพื่อปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในภาวะบ้านเมืองที่คำสั่งของเผด็จการทหารคือกฎหมายมาจนถึงวันที่เยาวชนแค่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์จนเกิดคดีขึ้นมากมายและต้องเผชิญกระบวนการยุติธรรม

“เราเป็นทนาย เราเป็นนักกฎหมายไง เราก็อยากจะต่อสู้เรื่องนี้”

ภาวิณี ชุมศรี หรือทนายแอน

ภาวิณี ชุมศรี หรือทนายแอน หัวหน้าฝ่ายคดีและเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ แต่ก่อนหน้าจะมาทำศูนย์ทนายความฯ เธอเคยเป็นทนายความในคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 มาก่อนแล้ว จนรัฐประหาร 2557 ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีโดยรัฐบาลทหาร

ทนายแอนเล่าย้อนไปว่าพอเกิดรัฐประหาร 2557 แล้วมีคนถูกออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร ทหารก็จับกุมคนไปค่ายทหารทำให้ไม่อาจรู้ชะตากรรมของคนที่ถูกจับกุมได้เลย ซึ่งตอนนั้นคนที่ถูกจับในการชุมนุมต้านรัฐประหารก็ถูกเอาไปค่ายทหารก่อนถูกส่งกองปราบฯ ก็ไปตามจนได้เจอคนที่ถูกจับแต่ทหารก็ย้ายสถานที่คุมขังไปที่ค่ายทหารอีก

“ตอนนั้นเราก็อัตโนมัติเลย ไปตามหาคนที่ถูกจับก่อนเพราะเรารู้ว่ากฎอัยการศึกทหารจับไปไว้ที่ไหนก็ได้แล้วไม่ปลอดภัย อาจจะถูกอุ้มหาย ถูกซ้อมทรมาน ณ ตอนนั้นเราก็ตาม”

เธอบอกหลังจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ได้มาตั้งวงคุยกับเพื่อนทนายความเพื่อออกคำแนะนำให้กับประชาชนในการปฏิบัติตัวหากออกชุมนุมแล้วถูกจับกุม และในการประชุมก็ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วว่ามีความจำเป็นที่จะต้องประกันสิทธิให้กับคนที่ถูกจับกุมและตั้งศูนย์ทนายความฯ ขึ้นมา

ทนายแอนบอกถึงความอยากที่จะทำงานนี้เพราะการเห็นคนถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งที่แค่ออกมาคัดค้านชูกระดาษหรือแค่ชูสามนิ้วไม่ควรถูกดำเนินคดี ต้องเห็นคนได้รับผลกระทบโดยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทำให้อยากใช้กลไกทางกฎหมายมาต่อสู้ แม้ว่าในวันที่เริ่มเข้ามาทำงานกับศูนย์ทนายความฯ จะเป็นช่วงที่อยู่ภายใต้กฎกติกาของ คสช.และกระบวนการยุติธรรมแบบทหารในศาลทหารซึ่งอยู่ภายใต้ คสช.เช่นกัน เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

แม้ว่าทนายแอนจะทำงานนี้ด้วยแพสชั่นในฐานะนักกฎหมาย แต่การทำงานนี้มาตั้งแต่ต้นและมีช่วงคดีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากหรือบางครั้งต้องเจอกับคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหลักการ เห็นคนไม่ได้ประกันตัวทั้งที่ไปรายงานตัวกับศาลตลอด ได้รับรู้การต่อสู้และความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญจะทำให้รู้สึกท้อบ้างเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอยังทำงานนี้ต่อมาได้ก็เพราะคนเหล่านี้ยังต่อสู้อยู่และพวกเขาก็ยังต้องการทนายความ ถ้าพวกเขายังหยัดยืนอยู่ทนายความก็ยืนหยัดไปกับพวกเขา

“การรับสารภาพของพวกเขาไม่ได้แบบว่าแพ้แล้วบางทีมันแค่บอกว่าเขาเป็นคนทำ แต่ว่าลูกความหลายคนที่เราเจอส่วนใหญ่ก็เป็นนักสู้ ติดคุกมันแย่แหละ แต่ความคิดของเขามันทะลุเหนือรัฐเขารู้ว่าจะเจอศาลแบบไหนเจอกับกระบวนการยุติธรรมยังไง”

ทนายแอนเล่าด้วยว่า บางคนที่สู้อยู่อาจจะสารภาพว่าทำจริงๆ แต่การสารภาพของพวกเขาคือการยืนยันเรื่องหลักการประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ไม่ใช่การยอมรับความพ่ายแพ้และเป็นการยืนยันถึงสิ่งที่พวกเขาสู้ อย่างเช่นในคดีมาตรา 112 ก็เป็นการยอมรับว่ามีการพูดถึงสถาบันฯ จริง ที่สุดท้ายศาลอาจจะลงโทษเพราะมองแค่ว่าพูดเรื่องนี้ก็ผิดแล้ว แต่พวกเขาก็พูดเพราะต้องการปฏิรูปสถาบันฯ และยังพูดได้อย่างสง่าผ่าเผยว่าพวกเขาคิดอย่างไร ทนายความอย่างเธอจึงมีหน้าที่ทำอย่างไรให้พวกเขาต้องเผชิญกับโทษที่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเห็นการต่อสู้ที่จบลงด้วยชีวิตอย่างเช่นในกรณีของบุ้ง เนติพรในเรือนจำก็เป็นเรื่องที่ทนายแอนรู้สึกกระทบกระเทือนทั้งจิตใจและการทำงานที่สุดนับตั้งแต่กรณีอากงเป็นต้นมา ทั้งที่การเห็นคนไม่ได้ประกันตัวทั้งที่มีเหตุผลที่ควรจะได้ก็เป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับเธอ การมีคนที่เสียชีวิตทั้งที่ไม่ควรต้องเสียชีวิตยิ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

แต่เธอก็บอกด้วยว่าการที่ยังมีเพื่อนมิตรที่สามารถพูดคุยกันได้ว่ากำลังต่อสู้อยู่ในบริบทแบบไหน ยังต้องสู้กันอีกนานแค่ไหน ไม่ใช่ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะต้องชนะ และการต่อสู้นี้ยังอยู่ในระหว่างทางเดินไปสู้เป้าหมาย ก็ทำให้ไม่ท้อมากนัก

“ความรู้สึกเราก็ปล่อยให้มีความรู้สึกได้นะ ถึงเราจะเป็นทนายความหรือเป็นนักต่อสู้นักเคลื่อนไหวก็ตาม เรารู้สึกแย่ได้ ร้องไห้ได้ หรือผิดหวังทดท้อได้เป็นเรื่องปกติ หยุดให้โอกาสตัวเองพักผ่อนรู้ตัวเองว่าเราไม่ไหวเราก็หยุด พร้อมเราก็กลับมา การต่อสู้นี้มันยาวนาน ไม่ใช่ว่าต้องฝืนวันนี้พรุ่งนี้ ไม่ไหวเราก็กลับไปดูแลตัวเองแล้วก็กลับมาใหม่”

อย่างไรก็ตามความตื่นตัวทางการเมืองที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อถึงจุดสูงสุดในปี 2563 จนเกิดปรากฏการณ์การชุมนุมใหญ่หลายครั้งหลายคราของเยาวชนภายใต้การระบาดของโควิด-19 และการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็หยุดเอาไว้ไม่ได้ แต่ก็ตามมาด้วยคดีจำนวนมาก ทำให้องค์กรเล็กอย่างศูนย์ทนายความฯ ต้องวิ่งรอกติดตามช่วยเหลือคนที่โดนจับกุมดำเนินคดีแทบทุกวัน

ทนายแอนบอกว่าวันนี้ศูนย์ทนายความฯ มีพนักงานประจำกว่า 40 คนและยังเคยมีช่วงที่มีทนายความเครือข่ายอาสาเข้ามาช่วยคดีมากถึงหลัก 100 คนทั่วไปประเทศและทุกวันนี้ยังคงทนายความอาสาเหลืออยู่ราวๆ 50 คน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนคดีความที่เกิดขึ้นถึง 1,200 คดีลูกความอีก 2,500 คน ก็ยังถือว่าน้อย

ทนายแอนยอมรับว่าในฐานะหัวฝ่ายคดีแล้ว ตัวเองก็ไม่ได้มีทักษะในการบริหารองค์กรต้องมาเริ่มเรียนรู้จากการลงมือทำงานจริง แต่พอคนที่มาช่วยทำคดีต่างคนต่างพอจะรู้ว่ากำลังเจอกับอะไรและมาด้วยความอยากทำจริงๆ ก็ถามกันแค่ว่าแนวทางของศูนย์ทนายความฯ เป็นอย่างไรเท่านั้นพวกเขาก็พร้อมช่วย จึงทำให้ผ่านสถานการณ์มาได้แล้วก็ค่อยทำให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ก็มีบางคนที่เข้าสู่สภาพหมดไฟทำงานเพราะต้องมาเจอกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคดีเยอะขนาดนี้ แต่เธอก็ดีใจที่ทุกคนช่วยให้งานมันผ่านมาได้

แต่ความเปลี่ยนแปลง 10 ปีนี้ในมุมมองของทนายแอนไม่ใช่แค่เรื่องความเปลี่ยนแปลงขององค์กร แต่ยังหมายถึงความตื่นตัวของวงการนักกฎหมายด้วย

“ในเชิงปัจเจคก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักกฎหมายแน่นอนเลย ไม่ว่าจะคนที่อยู่ในระบบอย่างตำรวจ อัยการ ศาล ในเชิงบุคคลพวกเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน มีคนไม่เห็นด้วยเยอะมาก ทนายความเองก็มีที่อยากมาช่วยก็เยอะ แต่คนที่อยู่ในตำแหน่งที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงได้ยังไม่เปลี่ยนเท่านั้นเอง”

ทนายแอนบอกว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบนี้มากขึ้นในช่วงปี 2563-2564 เมื่อเทียบกับตอนช่วงต่อต้านการรัฐประหาร นักกฎหมายเหล่านี้เริ่มเห็นความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมแต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ยังเป็นเพียงผู้น้อยอยู่ไม่ได้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงองค์กรในกระบวนการยุติธรรมได้มาก เพราะองค์กรกฎหมายมีความแข็งตัวอยู่คนที่กำหนดนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมหรือศาลก็ยังเป็นคนอีกฝ่ายอยู่ก็เลยยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนัก แต่ก็พอจะเห็นได้จากคำตัดสินของศาลที่พอจะมีคดีที่รอลงอาญาบ้างหากสารภาพ หรือคดีที่สู้พอจะมีเหตุลดโทษก็มีรอลงอาญา

“มีผู้พิพากษาไม่มากก็น้อยที่ให้โอกาสแบบนี้เขาก็มีทัศนะที่เปิดกว้าง แต่เขาพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้หรือแสดงตัวออกมาไม่ได้”

เมื่อถามทนายแอนถึงความคาดหวังจากการทำงานมาตลอด 10 ปีว่าอยากจะเห็นองค์กรเป็นอย่างไรในอนาคต เธอบอกว่าต้องมีการ “นิรโทษกรรม” ก่อน

เธอให้เหตุผลว่า ถ้ายังไม่มีการนิรโทษกรรมด้วยสถานการณ์ที่มีคดีอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้นอกจากสู้คดีแล้วก็บันทึกข้อมูลทำรายงานคดีไปทำให้ต้องอยู่ในสภาพที่ต้องคอยตั้งรับคดีอยู่แบบนี้ และการนิรโทษกรรมก็ต้องรวมคดีมาตรา 112 ด้วยเพราะตอนนี้ก็มีอยู่ถึง 300 คดีแล้วและต้องสู้คดีกันยาว ถ้ามีการนิรโทษกรรมอย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่และเวลาพอให้ทำคดีเชิงรุกคือการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือการนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้อย่างไหร่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันและสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนหมด คสช.แต่ปรากฏว่าพายุคดีก็กลับเข้ามา

“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นก่อนก็คือ หนึ่ง ล้างคดีกันก่อน อันนี้ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดนะ แต่เป็นเรื่องของคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นนิรโทษกรรมไปก่อน”

ศูนย์ทนายความฯ ในฐานะผู้บันทึกประวัติศาสตร์

นพพล อาชามาส หรือนพ

นพพล อาชามาส หรือนพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความฯ และยังเป็นเสมือนบรรณาธิการเนื้อหาบนเว็บไซต์ศูนย์ทนายความฯ ด้วย แต่ก่อนมาทำงานศูนย์ทนายความฯ เขาก็เพิ่งจบปริญญาโทจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยวิทยานิพนธ์ตัวจบของเขาก็คือ “การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

หลังนพเรียนจบก็ไปเป็นฟรีแลนซ์เขียนข่าวส่งให้สำนักข่าว พอถึงช่วงสถานการณ์รัฐประหาร 2557 ตัวเขาเองตอนนั้นก็ติดตามเรื่องการเอาคนเข้าค่ายทหารและคดีในศาลทหารอยู่แล้ว จนกระทั่งศูนย์ทนายความฯ ขยับขยายงานไปในพื้นที่เชียงใหม่และภาคเหนือ ด้วยความสนใจเรื่องข้อมูลและงานเขียนอยู่แล้วเขาจึงได้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกันและได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลประจำภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2558 ที่ทำทั้งเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิและประสานงานกับทนายความในการช่วยเหลือทางคดี

แม้นพจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รุ่นแรกสุด แต่เขาก็อยู่มานานถึง 9 ปีแล้วหลังจากศูนย์ทนายความฯ เริ่มเห็นความสำคัญในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิจนเปิดฝ่ายข้อมูลขึ้นมาอย่างเป็นกิจลักษณะ เขาให้เหตุผลที่อยู่มานานขนาดนี้ว่าเพราะมองเห็นถึงความจำเป็นของงานในศูนย์ทนายความฯ ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ทางการเมืองแล้วก็ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเช่นเรื่องม.112 ที่ตอนยุค คสช.อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าเวลานี้ที่มีคนสนใจอย่างสูงแล้ว แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฎหมายอาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม

“ในความเล็กๆ น้อยๆ นี่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ความสนใจของสังคม ความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนมันกว้างขวางขึ้นเยอะ ก็ไม่ได้เคลมว่าเกิดจากเราแต่สังคมมันค่อยๆ เปลี่ยนแล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ ก็ยังรู้สึกว่ามันยังทำไปได้อยู่ แต่ถ้าเหนื่อยมากก็พัก”

แต่ระหว่างทางของศูนย์ทนายความฯ ที่นอกจากจะต้องพบเจอกับผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความรุนแรงหลายระดับที่ไม่ใช่แค่การดำเนินคดี แต่มีไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมาน การสลายการชุมนุม และยังต้องเจอกับความสูญเสียระหว่างการต่อสู้อย่างกรณีของบุ้ง เนติพร เขาจัดการกับความเครียดและความรู้สึกสูญเสียเหล่านี้อย่างไร

นพบอกว่าก็มีความเศร้าแล้วก็มีคนที่ได้รับผลกระทบทั้งที่ไม่มีความพร้อมจะรับกับสถานการณ์ที่หนักๆ มันก็มีความเหนื่อยแล้วยิ่งถ้ามีเรื่องเข้ามาเยอะก็ทับถมกันพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนช่วยกันประคับประคองเพราะไม่ได้มีแค่ศูนย์ทนายความฯ แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยดูแลด้านชีวิตจิตใจให้กับเจ้าหน้าที่เหมือนกันเพราะตัวศูนย์ทนายความฯ เองก็ไม่ได้มีความสามารถดูแลได้ขนาดนั้น

“ก็ช่วยๆ กันหลายคนมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องแบกไว้คนเดียว ก็บริหารจัดการใจตัวเองด้วย แล้วเราก็เห็นภาพใหญ่ว่ามันมีความหวังอยู่บ้าง มันไม่ได้ถึงกับสิ้นหวังแล้วจมอยู่กับเรื่องที่มันโศกเศร้า”

นพเล่าถึงความคาดหวังของเขาต่องานข้อมูลที่ได้ทำมานานว่า ก็อยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลที่ทางศูนย์ทนายความฯ เก็บรวบรวมไว้ได้ อย่างเช่นเอกสารทางคดีที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์และถูกจัดเก็บไว้เป็นที่เป็นทางอย่างเช่น หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ แต่อาจจะต้องหาททางให้เอกสารทางคดีหรือข้อมูลการละเมิดสิทธิให้คนสามารถเอาไปใช้ต่อได้ในทางวิชาการ หรือมองกลับมาในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุคนี้เพื่อนำไปวิเคราะห์ได้แบบโครงการยันทึก 6 ตุลา ที่ข้อมูลในช่วงเวลานั้นได้รับการนำมาเผยแพร่ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องในระยะยาวคงไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้า

แรงบันดาลใจจากความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน

ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ หรือฟิว

ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ หรือฟิว ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ เช่นเดียวกับนพ เธออาจจะไม่ถึงกับเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่หมาด แต่ก็นับได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นดอกผลจากความตื่นตัวทางการเมืองและการเคลื่อนไหวบนถนนของเยาวชนในปี 2563

“บอกเลยว่าเป็นครั้งแรกที่เราเห็นความตื่นตาตื่นใจการลุกฮือของผู้คนขนาดนี้ในชีวิตครั้งแรกของเราแล้วเป็นคนรุ่นเดียวกันที่ออกมาทําสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมการเคลื่อนไหวการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันหรือว่าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่านี่คือการพูดที่ตรงที่สุดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เป็นคนในสังคมคนนึงเค้ารวมตัวกันออกมา”

ฟิวบอกว่าเริ่มทำงานกับศูนย์ทนายความฯ มาตั้งแต่ปี 2565 เพราะว่าหลังเรียนจบจากสาขาบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการชุมนุมทางการเมืองของเยาวชนในเวลานั้นกำลังอยู่ในช่วงจุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้เห็นการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนักด้วยเช่นกันทำให้เกิดข้อสงสัยต่อกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามทำให้การชุมนุมกลายเป็นสิ่งกฎหมายขึ้นมา

“ตอนนั้นเรายังเป็นแค่บัณฑิตใหม่แล้วมันมีข่าวออกมารายวันจากศูนย์ทนายฯ ว่ามันมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ออกไปเรียกร้องสิทธิ์หรือคนที่แค่ไปอยู่ในพื้นที่ของการชุมนุมโดยที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็มีความสงสัยว่าแล้วรัฐจับเขาไปที่ไหน คนพวกนี้ไปที่ไหนต่อ เขาจะต้องเจอกับอะไร เพราะว่าการกดปราบแบบนี้ การจับกุมผู้ชุมนุมแบบเหมือนหว่านแห่ไปแบบนั้นเราก็มีความสงสัยว่ารัฐจัดการพวกเขาอย่างไรทําตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักการหรือไม่”

ฟิวบอกว่า ยิ่งเธอติดตามไปมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้รู้ว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่มีอะไรเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญหรือตามแนวปฏิบัติของตํารวจเองที่ประกาศออกมาว่าการจับกุมจะเป็นไปตามกฎหมายหรือบอกว่าจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิ่งเหล่านี้ที่ฟิวได้รับรู้ก็ทำให้เธอได้เข้าไปสมัครงานกับศูนย์ทนายความฯ ในเวลาต่อมาเพราะหวังจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมและคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมในการชุมนุมได้รู้ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดกับประชาชน

เธอมองถึงคุณค่าในงานที่ตัวเองทำในฝ่ายข้อมูลว่าเป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ตีตรานักการเมืองและผู้ที่มีอิทธิพลว่าพวกเขาเหล่านี้ทำกับประชาชนอย่างไรบ้างต่อให้ถึงวันที่ไม่มีคดีความหรือไม่มีคนที่ถูกละเมิดสิทธิอีกแล้วเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นก็จะไม่หายไปแล้วก็ตาม เพื่อเป็นการจารึกบาดแผลของประชาชนหลายคนที่ถูกดำเนินคดี บาดแผลของประชาชนหลายคนที่ต้องมาตกอยู่ในกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมกับเขาตลอดทั้งชีวิตไม่ให้ลืมสิ่งที่รัฐเคยทำกับประชาชนและส่งต่อและถ่ายทอดต่อไปในอนาคต ซึ่งเธอคาดหวังว่าในอนาคตบันทึกเหล่านี้อาจจะอยู่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการแสดงตามที่ต่างๆ

“มันมีคุณค่าตรงนั้นแล้วคนที่ทำงานอยู่กับข้อมูลอย่างเราก็เห็นทางไปของมันว่าไม่จำเป็นต้องจบลงไปกับคดีคนสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ร่องรอยความเจ็บปวดของประชาชนด้วยกันเองได้แล้วบอกต่อสานต่อ ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย”

แต่เมื่อถามย้อนถามไปถึงความรู้สึกในวันที่ฟิวเข้าไปทำงานใหม่ๆ แล้วต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมายของผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิจากรัฐ

ฟิวเล่าว่าตอนที่เข้ามาทำงานศูนย์ทนายความฯ ใหม่ๆ ก็รู้สึกช็อคที่เจอหลายสิ่งหลายอย่างเยอะแยะไปหมด มีคนที่เธอไม่คุ้นชื่อแต่ดูเป็นคนสำคัญมากสำหรับองค์กรหรือเป็นคนธรรมดาๆ แต่เรื่องราวและการเคลื่อนไหวของเขายิ่งใหญ่กว่าคนธรรมดาแล้วสิ่งที่เขาถูกกระทำก็ดูสาหัสกว่าที่คนธรรมดาจะโดน แล้วก็ยังเจอกับข้อมูลมากมายที่ต้องตามอ่าน ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ของศูนย์ทนายความฯ ก็คิดว่าถ้าไม่ได้เป็นคนที่สนใจเรื่องเหล่านี้จริงๆ ก็คงจะไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว

“งานของศูนย์ทนายความฯ ก็ทั้งหนักและมีความท้าทายมาก มีบางเรื่องที่เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจตัวเธอเองอยู่บ้างแล้วก็มีความหมดหวังอยู่ด้วย แต่ในการทำงานคนรอบตัวหรือตัวศูนย์ทนายความเองก็ทำให้รู้สึกว่าถึงเราจะหมดหวังแต่การมีอยู่ขององค์กรนี้มันคือความหวังของคนที่ถูกดำเนินคดีเหล่านั้น ก็เลยคิดว่านี่คงเป็นการคงอยู่ของเรา ณ ตอนนี้ในการทำงานนี้”

ฟิวบอกทิ้งท้ายถึงเหตุผลที่ยังทำให้เธอทำงานนี้ต่อมาว่า เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งผู้ที่มีอำนาจอยู่สักวันก็ต้องหมดไปไม่ว่าจะอยู่มานานเป็นร้อยปีหรือจะยึดกุมอำนาจไว้คนเดียวได้

“เชื่อว่าวันพรุ่งนี้ก็จะต้องชนะแน่นอน สะกดจิตตัวเองทุกวัน(หัวเราะ) ว่าประชาชนต้องชนะแน่นอนในวันพรุ่งนี้ ถ้าไม่วันพรุ่งนี้ก็วันมะรืน”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net