Skip to main content
sharethis
    • ศาลยกฟ้องคดีที่โรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลฟ้องปิดปากการเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิฯ เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ร้อยเอ็ด
    • ด้านทนายความระบุคำพิพากษาของศาลถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีเพราะระบุชัดว่าการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรม ประชาชนย่อมทำตามกฎหมายได้ พร้อมชวนจับตาการเตรียมอุทธรณ์ของโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล
    • ขณะที่ 'เลิศศักดิ์' ระบุการฟ้องคดีเป็นเพียงความไม่พอใจในเบื้องต้น แต่ความไม่พอใจของนักธุรกิจจะรุนแรงขึ้นอีก พร้อมจี้รัฐเร่งออกกฎหมาย Anti-SLAPP เพื่อปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ 

24 มิ.ย. 2567 องค์กร Protection International รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ศาลอาญารัชดานัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่บริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลฟ้อง เกียรติศักดิ์ แก้วพิลา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 90,326,328 ประมวลกฎหมายอาญา และบริษัทฯมีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ฉบับละ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา  โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 พ.ค. 2567 ศาลอาญารัชดาได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีนี้และได้มีการสืบพยานของโจทก์ พร้อมกับนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องในวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา นี้   โดยศาลใช้เวลาในการพิจารณาคดีกว่า 2 ชั่วโมงก่อนที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องเกียรติศักดิ์

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความกล่าวถึงรายละเอียดคำพิพากษาของศาลในการยกฟ้องครั้งนี้ว่า  คำตัดสินของศาลชั้นต้นที่มีออกมาในวันนี้ถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่ดี เพราะพิจารณาถึงการเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจได้รับผลกระทบเป็นประเด็นสำคัญ และศาลเห็นว่าเกียรติศักดิ์เป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่อาศัยใกล้เคียงพื้นที่โรงงานฯ ไม่เกิน 3 กม. ซึ่งถือว่าเป็นประชาชนที่อยู่ในรัศมีที่อาจได้รับผลกระทบจากโรงงานตามเอกสาร EIA ของโจทก์ การแสดงความคิดเห็นของเกียรติศักดิ์ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครองธรรมและติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3)

ความน่าสนใจของคำพิพากษาของศาลคือส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชี้แจงให้จำเลย (เกียรติศักดิ์) รวมถึงชาวบ้านที่มีข้อสงสัย ได้เข้าใจการสร้างโรงงานของโจทก์และมีความมั่นใจว่า โรงงานของโจทก์จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพแก่ผู้อาศัยอยู่ในชุมชน

“ตอนนี้เราไม่ได้ตกอยู่ในฐานะจำเลยเพราะศาลไม่ได้รับฟ้อง ภาระทางคดีเราจบแล้ว ก็จะไปเป็นภาระทางฝ่ายโจทก์ที่มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ภายใน 1 เดือน และขยายเวลาออกไปได้ตามที่ศาลจะเห็นสมควร ซึ่งในชั้นอุทธรณ์ผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ อยากชวนทุกคนติดตามคดีนี้ร่วมกัน” ทนายความกล่าว

ขณะที่เกียรติศักดิ์กล่าวภายหลังทราบผลของการตัดสินคดีในครั้งนี้ว่า ตนรู้สึกดีใจและขอบคุณที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ เพราะครั้งแรกที่ตนถูกฟ้องทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆที่ลุกขึ้นมาสู้ด้วยกันเกิดความหวาดกลัว แต่หลังจากศาลมีคำตัดสินในวันนี้แล้วก็ทำให้พวกเราที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องชุมชนของเรามีแรงในการสู้ต่อ และไม่ตื่นกลัวอีกแล้ว  ตนและชาวบ้านคนอื่นๆในพื้นที่ยืนยันที่จะจะต่อสู้เพื่อรักษาทุ่งกุลาไว้ให้เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิของประเทศต่อไป

ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกากล่าวว่า  เดี๋ยวนี้การแสดงออกของชาวบ้าน ในการไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาต่างๆ มันอ่อนไหวและเปราะบางมากต่อผู้ประกอบการ ทั้งที่ความเป็นผู้ประกอบการควรที่จะเข้มแข็งหรือทนทานต่อการแสดงความเห็นให้มากกว่านี้เพราะสิ่งที่คุณต้องทำคือมีสำนึกและความรับผิดชอบต่อการทำธุรกิจที่ไม่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนแต่มันกลายเป็นว่าในหลักการ Business and Human Rights  ที่เป็นกติกาของสหประชาชาติที่พยายามจะให้เป็นกรอบเงื่อนไขของนักธุรกิจทั้งหลายจะต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน กลับกลายเป็นกรอบกติกาที่ผู้ประกอบการอ่อนไหว และจะทำให้น่าเป็นห่วงว่ากรอบกติกาเรื่องธุรกิจที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะดำเนินต่อไปในรูปแบบไหนอย่างไร

“ รัฐบาลไทยต้องออกกฎหมายในการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP) ได้แล้วไม่อย่างนั้นมันจะไม่เพียงเฉพาะการฟ้องคดี  ซึ่งการฟ้องคดีนั้นเป็นเพียงความไม่พอใจในเบื้องต้น แต่ความไม่พอใจของนักธุรกิจมันจะรุนแรงขึ้นอีก อาจจะไปจนถึงการกระทำความรุนแรงขึ้นก็ได้ ถ้าหากเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เขาฟ้องคดีได้โดยง่ายต่อประชาชน อารมณ์โมโหอารมณ์โกรธจะรุนแรงมากขึ้นอาจจะมากกว่าคดีก็ได้ดังนั้นกฎหมาย Anti-SLAPP จะช่วยทำให้เขายับยั้งชั่งใจและช่วยบรรเทาความความโกรธแค้นและดึงพวกเขาให้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงการที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังมากขึ้นและทำให้เขาไม่ไปสู่พรมแดนแห่งการใช้ความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย“ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกากล่าว

ทั้งนี้ เกียรติศักดิ์ ได้ต่อสู้ร่วมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาอีกหลายร้อยคนเพื่อยืนหยัดและส่งเสียงคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมาโดยตลอด อาทิ ชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งิษชแวดล้อม (EIA) ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล, การชุมนุมสาธารณะเพื่อยืนหยัดและแสดงเจตนารมย์ในการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งการยื่นหนังสือคัดค้านต่างๆต่อผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และอีกหลากหลายกิจกรรมก่อนนำมาสู่การฟ้องร้องปิดปากการเคลื่อนไหวของเกียติศักดิ์ในครั้งนี้ของบริษัทและศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในครั้งนี้

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ระบุว่า ในขณะนี้ไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฉบับที่สองแล้ว  แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลเพื่อคุ้มครองและยอมรับการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทางกฎหมาย แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และข้อบทเกี่ยวกับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยถือเป็นเพียงมติของหน่วยงานฝ่ายบริหารภายใต้รัฐบาลไทย และมีสถานะเป็นเพียง “กฎ” ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นเหตุให้ไม่มีน้ำหนักหรือไม่มีศักยภาพในการบังคับใช้ตามกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องออกกฎหมายและนโยบายที่จะบังคับใช้ได้ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่น่าสนใจจากองค์กร Protection International ที่ได้มีการเปิดเผยรายงาน ในหัวข้อ “ปิดปากความยุติธรรม การต่อสู้กับการฟ้องคดีปิดปาก และการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”  เมื่อปี พ.ศ. 2566 โดยระบุสถิติที่น่าสนใจว่า  ตลอดการเก็บข้อมูลของ PI มา 9 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหาร พบว่าภาคธุรกิจและฝ่ายรัฐบาล มีการฟ้องปิดปากเพิ่มขึ้นมาโดยใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการฟ้อง  ซึ่งระบบกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติในเชิงโครงสร้าง ประกอบกับอคติของผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อนักปกป้องสิทธิ รวมทั้งส่งผลกระทบไปยังชุมชนและครอบครัวของนักปกป้องสิทธิฯด้วย 

โดยการเก็บข้อมูลของ PI ตั้งแต่ปี 2557-2565  พบว่ามีการฟ้องคดีปิดปากเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชน มากถึง 570 คดี ซึ่งเป็นคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวนมากถึง  41 คดี  โดยในรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอที่น่าสนใจที่เรียกร้องให้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่ปัจจุบันนี้มีสถานะแค่กฎ  แต่ PI เสนอให้เป็นกฎหมาย   นอกจากนี้ในมาตรา 161/1 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ศาลพิจารณาได้ว่าที่ผ่านมา มีการกลั่นแกล้ง ฟ้องเพื่อปิดปาก หรือหากฟ้องโดยไม่สุจริตใจ ให้ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้ และคำว่า “ไม่สุจริตใจ”  อยากได้นิยามว่ามันคืออะไร

และมาตรา 21 ของระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการได้เปิดช่องให้อัยการสูงสุดสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นการกลั่นแกล้ง ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้เช่นกัน  หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานธุรกิจสามารถใช้การฟ้องคดีปิดปากมากลั่นแกล้งนักสิทธิมนุษยชนได้ พอศาลตัดสินว่าไม่ผิด คนฟ้องไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องกฎหมายการเอาผิดหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีการฟ้องกลั่นแกล้ง จะต้องรับผิดชอบด้านการเงิน ด้านการเมืองและด้านกระบวนการยุติธรรม

และขอให้คดีหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นคดีอาญา แต่เป็นแค่คดีแพ่ง รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่ทำงานธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต้องกดดันรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net