Skip to main content
sharethis

UN เปิดรายงานชี้ไทยกลายเป็นทางผ่านในการจัดหาอาวุธของรัฐบาลทหารพม่าอันดับ 1 แทนสิงคโปร์ ปีล่าสุดมีมูลค่าถึง 130 ล้านดอลลาร์ มีการโอนผ่านธนาคารไทย 5 แห่ง เฉพาะ “ไทยพาณิชย์” มีถึง 100 ล้านดอลลาร์ แต่ไทยพาณิชย์ไม่ตอบจดหมายของผู้รายงานพิเศษ UN แม้จะมีการส่งหาหลายครั้งแล้ว

วานนี้ (27 มิ.ย.2567) เว็บไซต์ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เผยแพร่รายงาน “ธุรกรรมค้าความตาย : ธนาคารและรัฐบาลสนับสนุนรัฐบาลทหารในพม่าอย่างไร” ความยาว 36 หน้ากล่าวถึงช่องทางการทำธุรกรรมเพื่อจัดซื้ออาวุธสงครามของสภาบริหารแห่งรัฐของพม่า (State Administration Council - SAC) ชื่อของรัฐบาลทหารพม่าที่ นำไปใช้ในการทำสงครามปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านและกองกำลังที่เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาล ซึ่งมีการกล่าวถึงธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่านทางธนาคารของไทยที่เพิ่มขึ้นหลังจากสิงคโปร์ระงับการทำธุรกรรมกับธนาคารของรัฐบาลทหารพม่า และยังระบุถึงบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในไทยมีส่วนในการจัดหาเสบียงให้กับรัฐบาลทหารพม่าด้วย

รายงานระบุว่านับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2564 กองทัพพม่าได้มีการโจมตีใส่ประชาชนอย่างเป็นระบบด้วยอาวุธร้ายแรงที่ได้รับจากต่างประเทศ 6 เดือนที่ผ่านมามีการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน จนมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 5,000 คน คน 3 ล้านคนที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองมากกว่า 20,000 คน อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารเองก็สูญเสียทั้งกองกำลังทหาร ค่ายทหาร และเขตแดนไปเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

จากรายงานระบุว่าแม้รัฐบาลทหารของพม่าจะกำลังเผชิญสภาวะเข้าตาจนทั้งจากสถานการณ์ภายในและแรงกดดันจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติทำให้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารพม่าสามารถจัดหาอาวุธและเสบียงได้น้อยลง แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ยังมีช่องทางหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของนานาชาติผ่านทางประเทศสมาชิกของยูเอ็น

ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษประเด็นเรื่องพม่าของ ยูเอ็นระบุว่าจากการตรวจสอบพบว่ามี 16 ธนาคารใน 7 ประเทศมีธุรกรรมทางการเงินกับรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้ในการจัดซื้อทางทหารมานานกว่า 2 ปีแล้ว อีกทั้งยังมี 25 ธนาคารที่ให้บริการทางการเงินกับธนาคารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่าด้วย ซึ่งเขากล่าวว่าสถาบันทางการเงินเหล่านี้จะต้องมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมกับรัฐบาลทหารพม่า

ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นได้เน้นย้ำว่าสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่านั้นมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นการสนันสนุนให้เกิดการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนพม่าและเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการสนับสนุนการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้จากรายงานที่มีการเผยแพร่ มีการกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาว่าพบว่าบทบาทของไทยและสิงคโปร์ในการเป็นที่มาของการจัดหาอาวุธและเสบียงทางการทหารให้กับรัฐบาลทหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

รายงานระบุว่าในปีที่ผ่านมาหลังจากผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นออกรายงานฉบับก่อนหน้ามาเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธของรัฐบาลทหารพม่า ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตอบสนองต่อเรื่องนี้โดยทำการสืบสวนบริษัทภายในประเทศและมีนโยบายที่ชัดเจนในการต่อต้านการจัดส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า ทำให้ในปี 2566 มีอาวุธที่จัดส่งจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ให้กับรัฐบาลทหารพม่าลดลง 90%

แต่กลับพบว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงมีนาคม 2567 มีการจัดหายุทธโธปกรณ์และเสบียงผ่านทางประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าสูงถึง 130 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงเท่าตัวจากรอบปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าอยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์ โดยอาวุธที่จัดหาผ่านทางบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย

ยุทโธปกรณ์ที่มีการจัดซื้อผ่านทางไทย เช่น ชิ้นส่วนของเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่นที่กองทัพพม่าใช้ในการโจมตีต่อเป้าหมายพลเรือนในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงอากาศยานแบบอื่นๆ เช่น เครื่องบินขับไล่ MiG-29, JF-17, K-8,อากาศยานไร้คนขับ(โดรน) แบบ CH-3 UCAVs นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ทำสงครามอิเล็กโทรนิกส์ ยานพาหนะสนับสนุน จรวดมิซไซล์ อุปกรณ์ยุทธนาวี เป็นต้น

จากกราฟสถิติของยูเอ็นข้างต้นจะเห็นว่า ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้กลายเป็นอันดับ 1 ในการเป็นแหล่งจัดหาอาวุธและเสบียงของรัฐบาลทหารพม่า จากเดิมที่ จีนเคยเป็นอันดับหนึ่ง สิงคโปร์เป็นอันดับสอง และไทยเป็นอันดับสามในรอบปี 2565

ในรายงานระบุถึงธนาคารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลทหารพม่าทั้งหมด 16 ธนาคาร เป็นธนาคารไทย 5 ธนาคารคือ ธนาคารไทยพาณิชย์  ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ธนาคารธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงไทย ทำให้ธนาคารไทยเป็นกลุ่มธนาคารที่รัฐบาลทหารพม่าทำธุรกรรมในการจัดหาอาวุธเป็นอันดับ 1 ด้วย

ในรายงานระบุด้วยว่าธนาคารไทยที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดซื้อเหล่านี้ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิช์ที่เดิมที่ในปี 2565 เคยมียอดของธุรกรรมทางการเงินจากรัฐบาลทหารพม่าเพียงแค่ 5 ล้านดอลลาร์ แต่ในรอบปี 2566 กลับพุ่งสูงขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์ซึ่งยอดเงินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธและเสบียงของรัฐบาลทหารพม่า

อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุไว้ในเชิงอรรถว่าทางผู้รายงานพิเศษมีการส่งจดหมายสอบถามเรื่องนี้กับทางไทยพาณิชย์หลายครั้งแต่ไม่ได้รับจดหมายตอบกลับ แต่ทางธุรกรรมที่เกิดขึ้นนี้ได้รับการยืนยันจากฝ่ายบริหารของรัฐบาลทหารพม่า

ในทางตรงกันข้าม กสิกรไทยเป็นธนาคารอีกแห่งที่ถูกระบุชื่อในรายงานและเป็นธนาคารไทยแห่งเดียวที่ตอบจดหมายกลับผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น รายงาระบุว่ารัฐบาลทหารพม่ามีการจ่ายเงินเพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ผ่านกสิกรฯ ลดลงอย่างมากจากปี 2565 อยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์ ลงมาเหลือ 5 ล้านดอลลาร์ และกสิกรฯ ยังได้ยืนยันกับทางผู้รายงานพิเศษด้วยว่าได้ยุติความสัมพันธ์กับธนาคารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่าแล้วตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

แม้ว่าจากการสืบสวนของผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นเดียวกับสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามผู้รายงานพิเศษฯ ก็เห็นว่าถ้ารัฐบาลไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งการส่งอาวุธและการทำธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลทหารพม่าเช่นเดียวกับสิงคโปร์ รัฐบาลทหารพม่าก็จะมีศักยภาพที่จะโจมตีประชาชนของตัวเองลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

แอนดรูว์กล่าวว่าสิงคโปร์ถือเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลที่มีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่มากพอจะสามารถยับยั้งการค้าความตายของรัฐบาลทหารพม่าได้ และเขาเร่งให้ไทยดำเนินตามแบบอย่างของสิงคโปร์ที่จะเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้และส่งผลอย่างยิ่งต่อความสามารถของรัฐบาลทหารพม่าในการยกระดับการโจมตีพลเรือน

สมาคมธนาคารไทยออกแถลงโต้ไม่สนับสนุน แต่ไม่ได้ตอบคำถาม

วันนี้ (28 มิ.ย.2567) มติชนออนไลน์ได้ลงข่าวคำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทยต่อกรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลทหารพม่าโดยระบุว่า 

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย

นอกจากนี้ ธนาคารสมาชิก ยังมีหน่วยงาน Compliance ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลของบุคคล องค์กร และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีรายชื่ออยู่ในรายการที่ห้ามทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตามในคำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงถึงข้อมูลในรายงานดังกล่าวของยูเอ็น

SCB แจงแค่โอนจ่ายค่าสินค้าอุปโภค-บริโภคปกติ 

ทั้งนี้สำนักข่าว PPTV รายงานล่าสุดว่าทางธนาคารไทยพาณิชย์ออกหนังสือชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่าธนาคารไทยพาณิชย์ให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการ ไปยังประเทศเมียนมา โดยมีแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบทางด้านธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัด

ในคำชี้แจงระบุว่าทางธนาคารได้ตรวจสอบภายในแล้ว “เป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภค และพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ” และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกรายการ

“ธนาคารขอยืนยันแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและเป็นไปโดยหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใสบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อส่งมอบคุณค่าระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net