Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมแสดงความกังวล กรณีการผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบในพื้นที่ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี กลับต้นทางโดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบสถานการณ์และประเมินความปลอดภัยอย่างชัดเจน อาจเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย 

28 มิ.ย. 2567 เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น เครือข่ายประชากรข้ามชาติ และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ร่วมออกแถลงการณ์แสดงความกังวล กรณีที่มีการผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบจากพม่าในพื้นที่ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี กลับไปยังประเทศต้นทางโดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบสถานการณ์และความปลอดภัยอย่างชัดเจน อาจเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย (principle of non-refoulement)

โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์ 3 เครือข่ายภาคประชาชน กรณีรัฐบาลไทยดำเนินการผลักดันกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) กลับไปสู่อันตรายในพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มีรายงานข่าวการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพทหารเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธบริเวณฝั่งตรงข้าม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้มีชาวบ้านในฝั่งเมียนมา ประมาณ 150 คน อพยพหนีภัยเข้ามายังฝั่งประเทศไทยในพื้นหมู่บ้านเกริงกราง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และมีรายงานต่อมาว่าทางหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ได้เข้าดำเนินการกดดันและผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) กลับออกไปยังประเทศต้นทางโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์ความปลอดภัยที่ชัดเจน

ที่ผ่านมา หน่วยงานในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) กรณีชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดราชบุรี เพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมจนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น แต่ในกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้มีการดำเนินการผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมากลับประเทศไปภายในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น (TMR) เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการให้ความช่วยเหลือและประเมินความปลอดภัยเพื่อการส่ง ผภ.สม.กลับคืนภูมิลำเนาในประเทศเมียนมาภายใต้สถานการณ์ในเมียนมาที่ยังแนวโน้มอาจเกิดความไม่สงบได้ทุกเวลา และการดำเนินการผลักดัน ผภ.สม.ที่ไม่ได้มีความประเมินปลอดภัยที่เป็นกลาง ไม่ได้รับความยินยอมจากผภ.สม.อาจเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย (principle of non-refoulement) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องเคารพ หลักการดังกล่าวได้ห้ามรัฐในการปฏิเสธการเข้าบริเวณพรมแดน การดักจับ และการส่งกลับของบุคคลที่เสี่ยงจะเผชิญอันตรายและการประหัตประหาร รวมถึงเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ระบุไว้ว่าห้ามมิให้หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะตกไปอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกกระทำให้สูญหาย

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่ก็เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 (CAT) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (CRC) ซึ่งล้วนระบุถึงหลักการไม่ส่งกลับและสิทธิการได้รับความคุ้มครองของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงด้วยกันทั้งสิ้น

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น เครือข่ายประชากรข้ามชาติ และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนดังต่อไปนี้:

1. ขอให้รัฐบาลไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นโดยให้ยุติการส่งกลับไปสู่อันตรายในทุกกรณี

2. ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการแต่งตั้งประธานคณะทำงานเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องจากความไม่สงบในเมียนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขผลกระทบโดยเร่งด่วน

3. ขอให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติดำเนินการกำชับและติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา

4. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดและประกาศใช้แนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) กรณีชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาฉบับปรับปรุงแก้ไข

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net