Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คำพิพากษาให้ลงโทษ “สมพล” คดี #ม112 เหตุปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ยกเหตุด้อยความสง่างาม ด้อยค่า หมิ่นพระเกียรติ ร.10 ให้จำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา กลับจากศาลชั้นต้นที่เคยยกฟ้องข้อหานี้เนื่องจากไม่ได้มีข้อความที่เข้าองค์ประกอบความผิด ก่อนให้ประกันชั้นฎีกา

25 มิ.ย. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ “สมพล” (สงวนนามสกุล) อดีตพนักงานบริษัทวัย 30 ปี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขารังสิต ในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565

คดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีสั่งฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 จากการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าโลตัส สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าศาลอุทธรณ์ กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เคยพิพากษายกฟ้องในส่วนของข้อหาตามมาตรา 112  โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยปาสีใส่รูป ร.10 อีกหลายท้องที่ ชี้เป็นการกระทำที่มิบังควรและหมิ่นพระเกียรติ มีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลให้ประกันระหว่างฎีกา

ทั้งนี้เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษคือ มีพยานโจทก์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยนอกจากคดีนี้ ยังมีการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์อีกหลายท้องที่ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งประสงค์ที่จะกระทำต่อรูปรัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะอยู่ในท้องที่ใด

การปาของเหลวสีแดงใส่รูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย นอกจากจะทำให้รูปเปรอะเปื้อนด้วยคราบสีแดง ด้อยความสง่างามแล้ว ยังทำให้เสียหายและเสื่อมค่าลง เป็นการกระทำที่มิบังควร และด้อยค่า หมิ่นพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ว่าไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ทั้งที่เป็นประมุขของชาติ การกระทำจึงเป็นลักษณะการดูหมิ่นตามมาตรา 112

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ถาค 1 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ คือสมควรลงโทษโดยไม่รอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่าจำเลยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันต่อรูปรัชกาลที่ 10 อีกหลายภาพและหลายท้องที่ มีการเตรียมอุปกรณ์วางแผนล่วงหน้า และเผยแพร่ผลงานของตน พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างการณ์พิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บังคับใช้ ให้เปลี่ยนโทษอาญาที่มีการปรับสถานเดียวเป็นความผิดตามพินัย ดังนั้นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จึงเป็นความผิดทางพินัย และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานอื่น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษความผิดอาญาแล้ว ความผิดทางพินัยจึงเป็นอันยุติ

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 สถานหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ และให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากคดีอื่น และให้จำหน่ายข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ สมพลถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างฎีกา

ต่อมาในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องส่วนข้อหาม.112 เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยได้พูด เขียน หรือแสดงอากัปกิริยาใด ๆ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 แต่ศาลเห็นว่าเป็นการทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ประกอบมาตรา 360 เท่านั้นจึงลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี เท่านั้น

ทั้งนี้ สมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และคดีที่ศาลอาญาอีก 1 คดี ในจำนวนนี้เป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในจุดต่างๆ จำนวน 5 คดี และพฤติการณ์เกี่ยวกับการพ่นสีสเปรย์ 1 คดี

ในคดีทั้งหมด ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมด 5 คดีแล้ว โดยในส่วนคดีเกี่ยวกับการปาสีนั้น ศาลชั้นต้นมีแนวทางยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาเกี่ยวกับการทำให้เสียทรัพย์ โดยมีทั้งคดีที่รอและไม่รอลงอาญา สมพลยังได้รับการประกันตัวในคดีทั้งหมด ขณะคดีที่ศาลอาญา มีกำหนดสืบพยานในช่วงเดือนกันยายน 2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net