Skip to main content
sharethis

 

‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ สองนักเคลื่อนไหวแดนอีสานเพิ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปีและ 2 ปีตามลำดับในวันนี้ (13 ก.ย.)  เหตุสืบเนื่องจากการการชุมนุมเมื่อต้นปี 2564 และต้องเข้าเรือนจำไปก่อนเพื่อรอลุ้นว่าศาลอุทธรณ์จะให้ประกันตัวหรือไม่ คาดว่าใช้เวลา 2-3 วันจะรู้ผล 

ช่วงเช้าก่อนที่ทั้งสองจะเข้าฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดภูเขียว ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ‘ประชาไท’ มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาสั้นๆ ถึงความคาดหวังต่อผลคำพิพากษา ซึ่งดูจากแนวโน้มการสู้คดีในทางเนื้อหาแล้วไม่มีโอกาสรอดมากนัก รวมถึงวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหว ความคิด ความฝันและการเตรียมตัว (ใจ) รับสถานการณ์ไร้อิสรภาพ 

‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์(ซ้าย) และ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ขวา)

ราคาจ่ายของเรื่อง ‘ปกติ’ ในสังคม ‘ไม่ปกติ’

จตุภัทร์ เท้าความถึงคดีนี้ว่า ช่วงนั้นเป็นช่วง ‘ราษฎรออนทัวร์’ ในพื้นที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นรูปแบบของการจัดค่ายพานักเรียนมัธยมไปเรียนรู้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย แต่ปรากฏว่าตำรวจในพื้นที่ไปกดดันที่บ้านนักเรียน ทั้งการสอบถาม-ถ่ายรูป ทำให้เกิดความหวาดกลัวของผู้ปกครองและตัวนักเรียน หลายคนจึงไม่ได้มาร่วมเข้าค่าย เมื่อทำค่ายเสร็จจึงตัดสินในมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่ สภ.ภูเขียว พอดีกับช่วงนั้นการเคลื่อนไหวภาพใหญ่มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ SAVE MYANMAR จึงนำประเด็นเหล่านี้ไปปราศรัยด้วย จนถูกดำเนินคดีนี้  

หากดูแนวโน้มการตัดสินคดี 112 ส่วนใหญ่ศาลมักพิพากษาลงโทษจำคุก และหลายคนก็ไม่ได้ประกัน จตุภัทร์ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า คดี 112 นั้นเป็นเรื่องทางการเมือง เอาไว้ใช้โจมตีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตัวเขาเคยติดคุกคดี 112 เมื่อปี 2559 (แชร์ข่าวบีบีซี) แต่หลังจากนั้นทิศทางการเมืองเปลี่ยน ทำให้ไม่มีการดำเนินคดีนี้อยู่พักหนึ่ง แต่ก็กลับมาใหม่หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศนำมาตรา 112 กลับมาใช้อย่างเคร่งครัดในปี 2563 ส่งผลให้เกิดการดำเนินคดีจำนวนมาก ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ดำเนินต่อ ปัจจุบันก็ยังมีการดำเนินการอยู่ แม้มีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาล ขั้นตอนที่ฟ้องไปแล้วก็ดำเนินคดีต่อไป

“ตอนโดน 112 ในปี 2559 ผมคิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว คิดว่าสังคมจะดีขึ้นแล้ว แต่มันก็นำกลับมาใช้อีก สังคมก็กลับไปวนหลูปเหมือนเดิม บรรยากาศกลับไปแบบเดิม สิ่งที่ชนชั้นนำต้องการสร้างความกลัวก็กลับมาเหมือนเดิม ขีดเส้นเสรีภาพไว้ ใครที่เกินเส้นนี้ใช้มาตรการรุนแรงในการคุมขัง” 

“การที่คนคนหนึ่ง คนหนุ่มสาวที่มีความคิดความฝันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตย รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ ออกมาด้วยความมุ่งหวังอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง แต่ผู้มีอำนาจไม่เปิดพื้นที่ กลับบีบ วันนี้เราอาจจะพ่ายแพ้ อาจติดคุก แต่ใช่ว่าการต่อสู้จะแพ้ มันไม่จบแค่นี้ ถ้าบรรยากาศทางสังคมยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ความขัดแย้งเรื่องนี้ก็ยังคงดำเนินต่อ”

การต่อต้านถือกำเนิดจากการกดขี่

เมื่อถามว่ารู้สึกผิดหวังหรือไม่ที่การต่อสู้อาจจบลงด้วยการสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง และหากย้อนกลับไปได้จะไม่ทำกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ได้คิดจะทำเพื่อติดคุก เพียงแสดงออกว่าอยากเห็นสังคมแบบไหน แต่เมื่อผลของการกระทำกลับเป็นการติดคุกก็ยอมรับว่าน่าผิดหวัง ทำไมมนุษย์ที่เกิดในประเทศนี้จึงใช้ชีวิตยากลำบาก ทำไมออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วจึงมีชีวิตที่ปกติไม่ได้ 

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เหตุการณ์เหล่านี้มันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี มันไม่ใช่พวกเรามาจากไหนก็ไม่รู้ การกดขี่ในสังคมไทยนั่นแหละที่สร้างนักต่อสู้ขึ้นมาหลายคน มีครั้งหนึ่งรังสิมันต์ โรม จะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ไม่ให้เขาไป มันก็สู้จนถึงวันนี้ หลายคนจะไปเรียน ไปทำนั่นนี่ก็ไม่ให้ไป หลายคนก็ต้องสู้ คุณก็สร้างนักต่อสู้เรื่อยๆ เอง”

“ลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นพลเมืองในประเทศอื่น สิ่งที่เราทำทั้งหมดก็ปกติ ไม่มีการดำเนินคดี มีการเลือกตั้งก็ไม่มี สว. ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาทำลายเสียงของประชาชน แต่พอมันเป็นประเทศนี้มันกลายเป็นเรื่องผิดแปลกไปหมดเลย”

“ทุกคนที่ติดคุกอยู่ ที่โดนดำเนินคดีอยู่จากการแสดงความคิดเห็น มันไม่มีใครผิด แต่เราแสดงความคิดเห็นปกติในสังคมที่บิดเบี้ยว การใช้กฎหมายบิดเบี้ยว โครงสร้างบิดเบี้ยว อำนาจที่ไม่สมดุล มีการกดทับไม่ให้ความคิดอื่นอยู่ได้ในสังคม”

เมื่อถามถึงความห่วงกังวล หรือภาระครอบครัวหากต้องสูญเสียอิสรภาพ จตุภัทร์กล่าวว่า อันที่จริงสถานการณ์การเมืองก่อนหน้านี้ก็ได้ประกันไปเรื่อยๆ แต่พอมันพลิกไปพลิกมา คดี 112 กลายเป็นพิจารณาจากเรื่องทางการเมือง มากกว่าจากหลักฐานต่างๆ จึงทำให้ประเมินยากว่าผลจะเป็นเช่นไร

“ก่อนหน้านี้เราก็วางแผนชีวิตกันปกติ มีงานแต่งน้อง มีโปรเจ็คต่างๆ แต่ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นไหม อนาคตบางเรื่องมันกำหนดเองไม่ได้เพราะว่าเขากำหนดให้เราหมด จะให้อยู่ข้างในหรือข้างนอก ช่วงที่เราต่อสู้เขาก็เอาเราเข้าไป ช่วงที่มีคนกดดันเยอะๆ เขาก็เอาเราออกมา ช่วงไม่มีการเรียกร้องกดดันของสังคมเขาก็เอาเราเข้าไปใหม่”

ไม่ลี้ภัย ขอใช้ตัวเองเป็นมาตรวัดสังคมไทย

เมื่อถามถึงมุมมองของการลี้ภัยไปต่างประเทศของนักเคลื่อนไหวบางส่วน จตุภัทร์ให้ความเห็นว่า เขาเคารพความคิดของเพื่อนๆ การต่อสู้ในประเทศนี้ยากลำบาก สมัยก่อนคือตาย แต่สมัยนี้ก็คือติดคุก เป็นราคาที่หนักสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง

“แต่ผมคิดว่าถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศนี้ เราก็ต้องอยู่ประเทศนี้ จะได้เข้าใจ จะได้เห็นว่ามันเป็นยังไง มันทำได้แค่ไหน เพดานมันอยู่ไหน ผมเลยเลือกที่จะอยู่ แม้รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เลือกอยู่ดีกว่า ให้มันเห็นว่าอยุติธรรมเป็นยังไง จะใช้กับผมก็ใช้ จะใช้กับผมกี่ปีก็จะได้เห็นความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้น นี่เป็นแนวทางหนึ่ง เราเคารพแนวทางของคนแต่ละคนอยู่แล้ว แต่เราเลือกวิธีการนี้ เผชิญหน้า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย (หัวเราะ)” 

เขาทิ้งท้ายว่า ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน การต่อสู้ในรัฐสภายังไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา เนื่องจากมีกติการัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว มีกลไกหลายอย่าง องค์กรอิสระ ที่ขัดขวางการทำงานของกลไกรัฐสภา 

“ผมก็ยังเชื่อในการต่อสู้บนท้องถนน ถึงแม้รู้ว่าวันนี้หลายคนเหนื่อยล้า บาดเจ็บ บอบช้ำจากการติดคุกหรืออะไรก็แล้วแต่จากการต่อสู้ปี 2563-2564 แต่ก็อยากให้เอาการต่อสู้ในครั้งนั้นมาเป็นบทเรียนที่จะพัฒนาการต่อสู้ ผมยังเชื่อว่ามันยังมีความจำเป็นที่ต้องต่อสู้บนท้องถนน เพื่อทำให้กติกามันแฟร์ มันดี และทำให้มันเป็น ‘ปกติ’ ปัญหาต่างๆ ควรจบที่รัฐสภา การถกเถียงและโหวตในรัฐสภาเป็นการต่อสู้เรียกร้องที่มีอารยะที่สุดแล้ว ก็ใช้กระบวนการตรงนั้นอย่างแท้จริง แต่ในเมื่อวันนี้ยังไม่เป็นอย่างนั้น ก็ทำให้พี่น้องประชาชนอาจต้องออกแรงมากกว่านี้ ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง ต้องขอแรงประชาชนทำให้กติกาและโครงสร้างมันดี เพื่อให้ผู้แทนของเรามีเสรีภาพ เป็นปากเป็นเสียงแทนเราได้จริงๆ ทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ”

ปัจจุบันจตุภัทร์มีคดีมาตรา 112 รวม 3 คดี หากรวมคดีในข้อหาอื่นด้วยก็เกือบ 20 คดี

จตุภัทร์ขณะถูกนำตัวไปเรือนจำ

มั่นใจเจตนาดี ปราศรัยด้วยเหตุผล

อรรถพลให้ความเห็นก่อนเข้าฟังคำพิพากษาในคดีนี้ว่า ตอนที่ตนปราศรัยก็ชัดเจนว่าพูดเรื่องกฎหมายและพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นตำแหน่งด้วยความบริสุทธิ์ใจและมั่นใจในคำพูดของตนเอง

“คนที่ปราศจากอคติ ไปดูเทปการปราศรัยย้อนหลัง หากไม่อ่อนไหวต่อคำว่า กษัตริย์ ที่ดูเหมือนเป็นคำที่พูดไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คำสรรเสริญเยินยอก็ต้องเท่ากับเป็นการด่าทอเท่านั้น ก็คงจะเข้าใจเจตนา เหตุและผลที่มันเป็นกลางอย่างสร้างสรรค์”

อรรถพลกล่าวว่า เขาเองได้เตรียมตัวไว้บ้างหากศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกแล้วอาจต้องเข้าไปในเรือนจำ แต่ก็ยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ หากต้องเข้าเรือนจำผลกระทบเบื้องต้นจะเป็นเรื่องการหาคนดูแลร้าน ค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ การผ่อนรถและบ้าน

ส่วนงานทางการเมือง อรรถพลเล่าว่า ก่อนหน้านี้ช่วยพรรคก้าวไกลในการทำงานมวลชน พบปะประชาชน แต่เมื่อพรรคถูกยุบกลายเป็นพรรคประชาชนในช่วงใกล้วันฟังคำพิพากษาพอดี เลยไม่ได้รับงานอะไรไว้

เมื่อถามถึงความหวังเรื่องนิรโทษกรรม ครูใหญ่บอกว่า มีความคาดหวังอยู่ เพราะว่าคดีทางการเมือง แม้ว่าจะใช้กฎหมายที่มีตัวบทกำหนดไว้ แต่การใช้ไม่ได้เป็นไปตามตัวบทที่เขียน หากแต่เป็นไปตามนโยบาย บางคดียกฟ้องแล้วในศาลชั้นต้นเช่นคดีมาตรา 112 ของทิวากร (คดีสวมเสื้อเราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์) ที่ดูตามตัวบทกฎหมายอย่างไรก็ต้องยกฟ้อง แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาลงโทษ

“อย่างเช่นคดีของผมที่ปารีณา (ไกรคุปต์) ไปแจ้งความไว้ ผ่านไป 3 ปีจนเรารู้สึกว่าคงไม่ดำเนินคดีแล้วเพราะตัวบริบทของคดีไม่น่าเข้าข่าย ณ ปัจจุบันคดียังอยู่ชั้นอัยการอยู่เลยแล้วเพิ่งส่งอัยการไปไม่กี่เดือนเอง ดังนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องของนโยบายมากกว่าตัวบทกฎหมาย”

อรรถพลกล่าวว่าคดีทั้งหมดตั้งแต่เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมีจำนวนมากจนเขาไม่ได้นับ รวมแล้วน่าราว 30 คดี ส่วนมากเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือคดีจราจร แต่มีคดีที่เป็นข้อกังวลก็คือคดีตามมาตรา 112 ที่อยู่ 3 คดี นั่นคือคดีที่มาศาลวันนี้ คดีที่หน้าสถานทูตเยอรมันและคดีที่ปารีณาไปแจ้งความไว้ที่ สภ.โพธาราม แล้วยังมีคดีมาตรา 116 จากการชุมนุมช่วง 19 ก.ย.2563 ด้วย

อรรถพล (ภาพเก่า)

เตรียมใจ เข้าคุกคือการบวช ‘ทัณฑนิกาย’

“ถ้าต้องเข้าไปอยู่(คุก) เรื่องร่างกายเราก็เตรียมไว้ แต่เรื่องใจก็คงปล่อยวาง ถ้าต้องเข้าไปอยู่จริงๆ ก็ถือเสียว่าญัติตินิกายใหม่ ไปบวช ฉันข้าวมื้อเดียว นอนเป็นเวลา สวดมนต์ทำวัตรเย็น ลงอุโบสถร่วมกัน แต่แค่เป็นคนละนิกาย ไม่ใช่มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย แต่เป็นทัณฑนิกาย นิกายจากผู้ถูกลงทัณฑ์ ต้องคิดแบบนี้ไว้ก่อนส่วนเข้าไปจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรก็คงเป็นอีกเรื่อง” 

อย่างไรก็ตาม อรรถพลบอกว่า ไม่ได้ปรารถนาให้คนในครอบครัวมาเยี่ยม เพราะการเจอกันบ่อยๆ ทำให้เกิดความคิดถึง ก็คงมีแต่ให้ทนายความหรือคนที่เกี่ยวกับคดีเข้าเยี่ยมเป็นหลัก

ส่วนประเด็นปฏิรูปสถาบัน สำหรับเขาแล้วยังมีจุดยืนเหมือนเดิม โดยเห็นว่าควรจะพยายามแก้ไขกฎหมายซึ่งเพิ่งจะเพิ่มเข้ามาในช่วงรัฐบาลประยุทธ์เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจในทางทหาร ทางทรัพย์สิน ทางสงฆ์ และอาจรวมไปถึงการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งยังตรวจสอบได้ยาก ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันฯ สภา รัฐบาล และกองทัพ ที่ควรจัดวางอย่างเหมาะสมในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net