Skip to main content
sharethis

12 ก.ย. นี้ ศาลนราธิวาสเตรียมนัดสอบคำให้การเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 7 คน จำเลย 'คดีอาญาตากใบ' มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ หากจำเลยไม่มาศาลอาจมีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการออกหมายจับ ทนายความโจทก์ตั้งข้อสังเกตจำเลยบางคนมีข้อพิรุธพยายามย้ายที่อยู่ ประวิงเวลาให้คดีหมดอายุความ

 

11 ก.ย. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน วันที่ 12 ก.ย. นี้  เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดสอบคำให้การ ‘คดีอาญาตากใบ’ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567  ที่ผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เป็นโจทก์ 48 คน ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยในนัดนี้เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 7 คน จำเลยในคดีจะต้องมารายงานตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสตามหมายเรียกเพื่อสอบคำให้การต่อไป และหากจำเลยไม่มาศาลอาจมีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการออกหมายจับ

ทีมทนายความฝ่ายโจทก์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีจำเลยบางคนที่มีข้อพิรุธพยายามประวิงเวลาให้คดีหมดอายุความ โดยพบว่ามีจำเลย 3 จาก 7 คน เปลี่ยนที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร หลังวันที่ 23 ส.ค. 2567 ที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีตากใบเป็นคดีอาญาที่มีโทษสูง การย้ายภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎรอาจส่งผลให้การส่งหมายเรียกมีความล่าช้ายิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามทีมทนายความได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกใหม่ตามที่อยู่ใหม่แล้ว  ในวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลนราธิวาสมีคำสั่งให้ส่งหมายหากไม่สามารถส่งได้ให้ปิดหมายและส่งหมายทางไปรษณีย์ด้วย ยังไม่ทราบผลหมายจากศาลทั้ง 7 ฉบับ ปัจจุบันจำเลยทั้ง 7 คนมีภูมิลำเนาที่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร 2 คน จังหวัดนนทุบรี 1 คน จังหวัดสมุทรสาคร 1 คน จังหวัดสุราษฐธานี  1คน และจังหวัดสงขลา 1 คน และจังหวัดนครศรีธรรมราช 1 คน

จำเลยทั้ง 7 คนที่ต้องมารายงานตัวต่อศาลในนัดนี้ ได้แก่ จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล.ร. 5 ในขณะนั้น จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าในขณะนั้น จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภอ. ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะเกิดเหตุ

จำเลยมีมูลความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสองประกอบมาตรา 290 ,83

ขณะที่ในวันนี้ (11 ก.ย. 2567) ในระหว่างการประชุมของรัฐสภา ได้มีการถกเถียงหารือเรื่องขั้นตอนของสภาฯ ในการส่งตัว พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คิรี จำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจุบันเป็นส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อรายงานตัวต่อศาลในนัดสอบคำให้การที่จะถึง โดยจากการรายงานข่าว ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบได้ทำหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ผ่านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย  การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่ออนุญาตให้พล.อ. พิศาล เดินทางไปศาลในนัดนี้

ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่มีหนังสือจากศาลส่งมาเพื่อขอตัว พล.อ. พิศาล ไปดำเนินคดี และยังไม่มีหนังสือจาก พล.อ. พิศาล ซึ่งเป็นส.ส. ขอไปรายงานตัวต่อศาล โดยนายวันมูหะมัดนอร์เห็นว่าเพื่อพิทักษ์เอกสิทธิของส.ส. ที่มาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญไทยรับรองไว้โดยมุ่งหมายเพื่อปกป้องส.ส. อย่างไรก็ตามหากมีการขอตัวบุคคลดังกล่าวไปดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศาล จะต้องเป็นสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุญาตก่อน

อย่างไรก็ตาม ในการถกเถียงนั้นมีหลายความเห็น บางความเห็นมองว่าการปกป้องเอกสิทธิของ สส. เป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นประเพณีว่าไม่ให้ส่งตัว สส. ไปดำเนินคดีตามคำขอของศาลเด็ดขาด ในอีกมุมหนึ่งมองว่า เนื่องจากคดีตากใบ เป็นคดีที่มีความสำคัญอย่างมากและเป็นโอกาสสำคัญที่จำเลยจะได้โอกาสในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล อีกทั้งคดีใกล้จะหมดอายุความครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค. 2567 นี้ การเดินทางไปศาลของจำเลยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและ ประชาชนที่สนใจร่วมติดตามนัดสอบคำให้การ ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส ต่อไปอย่างใกล้ชิด และร่วมจับตาว่าจำเลยทั้ง 7 คนจะมารายงานตัวต่อศาลในนัดนี้หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมจะได้ร่วมกันค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาอย่างครอบคลุมและเหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงเช่นนี้กับใครได้อีก

คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net