Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาพิพากษาลงโทษ “บังเอิญ” ศิลปิน Art Punk ให้จำคุก 1 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือ 8 เดือนไม่รอลงอาญา เหตุเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน การกระทำดังกล่าวทำให้โบราณสถานสกปรกและกระทบต่อจิตใจของประชาชน ศาลให้ประกันด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท

4 ก.ค. 2567 เวลา 9.30 น.  ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของศุทธวีร์ สร้อยคำ ศิลปินอายุ 26 ปี หรือบังเอิญ ศิลปิน Art Punk กรณีพ่นสีกำแพงวังเป็น เลข 112 ที่ถูกขีดฆ่า ตัวอักษร P และสัญลักษณ์ของอนาคิสม์ ที่อัยการฟ้องเขาในข้อหาร่วมกันทำให้โบราณสถานเสียหาย  ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 32 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลลงห้องพิจารณาคดีและก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำการใส่กุญแจมือศุทธวีร์ด้วย

จากนั้นศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า ศาลเห็นว่าคดีนี้จำเลยได้สารภาพในส่วนของความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ไว้ก่อนแล้วจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่ามีการกระทำความผิดตามมตรา 32 ของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ หรือไม่

ศาลระบุว่าในคดีนี้มีตำรวจสายตรวจที่เข้าร่วมจับกุม 2 นายเบิกความต่อศาลว่าระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนรักษาความสงบเมื่อถึงบริเวณถนนหน้าพระลานซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ พบศุทธวีร์กำลังพ่นสีสเปรย์ลงบนกำแพงของพระบรมมหาราชวัง จึงได้มีการถ่ายภาพเหตุการณ์และเข้าแสดงตัวกับศุทธวีร์แล้วทำการจับกุม จากนั้นได้มีการแจ้งไปยัง สน.พระราชวังซึ่งเป็นสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุตำรวจจากสน.พระราชวังจึงมีการเดินทางมาที่เกิดเหตุและพบตำรวจสายตรวจกำลังจับกุมและจำเลยในคดี

นอกจากนั้นยังมีพยานจากกรมศิลปากร พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ เบิกความว่าพระบรมหาราชวังสร้างตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นไปตามนิยามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีอายุหรือลักษณะในการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาฯ นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี ซึ่งความเป็นโบราณสถานนี้ครอบคลุมมาถึงบริเวณกำแพงวังด้วย

อย่างไรก็ตามพยานจากกรมศิลปากรนี้ก็ได้ตอบคำถามค้านฝ่ายทนายความจำเลยด้วยว่าถึงพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุจะเป็นโบราณสถานตามนิยามของกฎหมาย แต่ก็ยังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนไว้ตามเอกสารประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพฯ ที่ประกาศเมื่อมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นประกาศฉบับล่าสุด

ทั้งนี้ฝ่ายจำเลยสารภาพข้อหาพ.ร.บ.ความสะอาดฯ แล้ว และได้ให้การว่าตนลงมือกระทำเพียงคนเดียว แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีการเบิกความว่าในที่เกิดเหตุมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยคือสายน้ำ หยก และมีนักข่าวที่มาทำข่าว แต่ก็ได้ตอบคำถามทนายความจำเลยด้วยว่าขณะเกิดเหตุมีเพียงศุทธวีร์ที่ก่อเหตุเพียงคนเดียวโดยไม่ได้มีคนอื่นมาร่วมลงมือด้วย

ศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงแต่เป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน เนื่องจากการกระทำของจำเลยทำให้โบราณสถานสกปรกและกระทบต่อจิตใจของประชาชนเพราะสถานที่ดังกล่าวยังเป็นที่ประชาชนให้ความเคารพอีกด้วย จึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่มีโทษสูงสุดคือความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ให้จำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ให้ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน และให้ยึดของกลางในคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีนี้ข้อหาตามมาตรา 32 ของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ นั้นมีการแยกอัตราโทษต่อการกระทำต่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วกับไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ หากเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท แต่ในกรณีที่เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พิฆเนศ ประวัง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 ในทนายความของคดีนี้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในการต่อสู้คดีนี้ทางทนายความได้ต่อสู้ในประเด็นโบราณสถานที่เป็นจุดเกิดเหตุนั้นยังมีการจดทะเบียนไว้ด้วย ซึ่งศาลก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามศาลก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นที่ทางทนายความต่อสู้ด้วยว่าจุดเกิดเหตุดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นโบราณสถานเองด้วยโดยมีการพ่นสีทับข้อความดังกล่าวทันที ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.โบราสถานฯ พ.ศ.2504 ที่ห้ามทำการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลงโบราณสถานหรือขุดค้นใดๆ ภายในบริเวณโบราณสถาน ซึ่งก็จะมีการอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อไป

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเจ้าหน้าที่ได้นำตัวศุทธวีร์ไปขังที่ใต้ถุนศาลระหว่างรอผลยื่นประกันตัว ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งในวันนี้

ศูนย์ทนายความฯ เคยรายงานถึงเหตุผลที่ศุทธวีร์ก่อเหตุไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า เขาตั้งใจจะพ่นวลี ‘หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า’ แต่ยาวเกินไป จึงจะพ่นคำว่า PEOPLE และสัญลักษณ์ Anarchy แทนเพราะว่าสัญลักษณ์นี้เป็นการต่อต้าน Monarchy คนต่างประเทศเห็นสัญลักษณ์นี้ก็จะเข้าใจได้ง่าย และเขาก็เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ด้วย

นอกจากคดีนี้แล้วเขายังมีคดีอื่นๆ อยู่ด้วยรวมแล้ว 5 คดีและหนึ่งในนั้นก็มีคดีมาตรา 112 อยู่ด้วยจากผลงานภาพศิลปะ และการชูรองเท้าหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ โพสต์ลงโซเชียลในวันเกิดของ ร.10 ซึ่งเขาก็ได้ยืนยันเรื่องนี้ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวด้วยว่าเขาจะไม่สารภาพและ ไม่ยอมรับผิด และที่ต่อสู้เรื่องนี้เพราะเขาไม่ได้ผิดขนาดที่เป็นอาชญากรฆ่าคนตาย ไม่ใช่ก่อการร้าย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อเวลา 15.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวศุทธวีร์ในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางเงินประกัน 50,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net