Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘เชาว์ เกิดอารีย์’ คนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างและผู้นำชุมชนบุญร่มไทร หลังคลี่คลายปัญหาไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่พิพาทกับ รฟท. พร้อมย้ำสังคมให้เห็นความสำคัญของ ‘คนจนเมือง’

“บ้านสำหรับผมแค่ได้หลับนอนก็พอแล้ว ผมไม่ได้คิดเริ่ดหรู ไม่ได้อยากอยู่บ้านแพงๆ แค่อยากมีที่นอนก็พอแล้ว ที่ไหนก็ได้” 

ชายวัยกลางคนพร้อมเสื้อกั๊กสีส้มให้นิยามว่า ‘บ้านคือที่นอน’ การให้ความหมายที่สั้นและเรียบง่ายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน เพราะเขาก็เคยเป็นคนที่ฝันอยากมีบ้านหลังใหญ่มูลค่าหลายสิบล้าน แต่เนื่องจากสถานการณ์คับขันหวิดจะไม่มีที่ให้นอนในช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เขาจำเป็นต้องผลักตนเองจากการเป็นคนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างสู่การเป็นผู้นำชุมชนเพื่อต่อสู้กับการไล่รื้อพื้นที่บนที่ดินการรถไฟ เมื่อผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านั้นมาได้ ความหมายของ ‘บ้าน’ จึงเหลือเพียงพื้นที่สำหรับซุกหัวนอนและเป็นหนึ่งหลักประกันความมั่นคงทางชีวิตให้กับเขาและครอบครัว

ภาพ เชาว์ เกิดอารีย์ คนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างและผู้นำชุมชนบุญร่มไทร

เชาว์ เกิดอารีย์ คนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง วัย 46 ปี ผู้เผชิญปัญหาการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา) โดยมีคู่พิพาทหลัก คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 24 ต.ค. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนได้ลงนามสัญญาโครงการดังกล่าว ตัวโครงการจะอาศัยโครงสร้างและแนวเดินรถไฟเดิมของ รฟท. โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีมักกะสันพร้อมมีการออก พ.ร.ฎ. เวนคืนตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม บางชุมชนก็ได้รับหมายบังคับคดีบุกรุกและขับไล่ออกจากพื้นที่ทำให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อาศัยเดิมกับ รฟท. หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุมชนบุญร่มไทร’ ณ ริมทางรถไฟ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเชาว์และชาวบ้านอีกกว่า 150 ครัวเรือน

ด้วยสถานการณ์ที่กล่าวข้างต้นผลักให้เชาว์ต้องหยิบหมวกใบใหม่มาสวม คือ การเป็นประธานชุมชนบุญร่มไทรและผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) 

“ความจริงเราก็ไม่ได้อยากทำ เพราะทุกคนก็อยากทำมาหากินแต่เราก็ดันไปรับรู้ เราก็อยากไปบอกต่อให้กับชาวบ้านให้เขารู้เห็นกับเราแล้วก็จับพลัดจับผลูให้เรากลายเป็นผู้นำ กลายเป็นความท้าทายว่าถ้าเราทำได้มันก็เหมือนประสบความสำเร็จ” 

ในระยะแรกเชาว์เป็นเพียงหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทรและไม่ได้ตั้งใจเป็นผู้นำชุมชน แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจปัญหาและเข้าประชุมเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้งทำให้ตนมีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น เชาวน์จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านเข้าใจ ซึ่งระหว่างนั้นตนคิดเพียงว่า ถ้าชาวบ้านเข้าใจปัญหาและร่วมกันต่อสู้จนชนะ คนที่ไม่มีบ้านอยู่ก็จะได้มีบ้านให้อาศัยรวมถึงตัวเขาเองด้วย

แต่ความยากก็คือ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ดังนั้น ทุกวินาทีที่มีการประชุมหรือการชุมนุมปักหลักจะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องสูญเสียรายได้ในการทำมาหากิน จะหาช่วงพักงานตรงกันยังเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละคนทำงานไม่เป็นเวลา คือ บางคนตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งเพื่อทำกับข้าวไปขายในช่วงเช้ามืด หากใครเป็น รปภ. ก็ต้องทำงานเป็นกะ 12 ชม. บางคนเป็นแม่บ้านทำความสะอาดตั้งแต่เช้าจนค่ำ แม้แต่เชาวน์เองก็ต้องวิ่งรถตั้งแต่ตีสี่ถึงช่วงเย็น

“เราก็ไม่รู้จะจับเขามาประชุมกับเรายังไงดี ก็เลือกเอาวันที่ชาวบ้านว่างวันไหนก็ต้องลงประชุมกัน เหมือนประชุมแค่ไหนก็แค่นั้น แบบประชุมประจำเดือนก็เป็นวันอาทิตย์ต้องมาร์คเวลาหรือวันไว้ เพราะไม่อยากให้ทุกอย่างกระทบกับรายได้ของแต่ละคน เพราะทุกคนก็หาเช้ากินค่ำ”

ภาพป้ายผ้าดิบที่แขวนอยู่ในอาคารอเนกประสงค์ของชุมชนบุญร่มไทร

‘คนจน คนแบกเมือง ไม่มีเราใครเล่าจะแบกเมือง’

ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่บนป้ายผ้าดิบสีขาวที่แขวนอยู่บริเวณผนังอาคารอเนกประสงค์ซึ่งมักถูกใช้เป็นห้องประชุมของชุมชน หากมองขึ้นมาบริเวณคานของอาคารจะพบภาพถ่ายชาวบ้านที่กำลังทำอาหารหรือเย็บผ้าที่ถูกพิมพ์ลงบนแคนวาสพร้อมข้อความลักษณะเดียวกัน ‘คนแบกเมือง ไม่มีเรา ใครเล่าจะแบกเมือง’

เชาว์เล่าว่าข้อความดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ต้องการต่อสู้กับวาทกรรมที่การรถไฟฯ สร้างขึ้น คือ พวกเขามักถูกแปะป้ายให้เป็น ‘ผู้บุกรุก’ พื้นที่สาธารณะ ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาเป็น ‘ผู้บุกเบิก’ เพราะเดิมพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่รกร้าง เมื่อมีชาวบ้านมาตั้งที่อยู่อาศัยก็ทำให้ความเปลี่ยวและปัญหาอาชญากรรมของพื้นที่ลดลง

ถึงกระนั้น การบอกว่าตนเองเป็นผู้บุกเบิกก็ไม่ได้ทำให้สังคมเปิดรับพวกเขามากเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีการสร้างคำว่า ‘คนแบกเมือง’ ขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายตัวตนของพวกเขาซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเมือง

ภาพถ่ายคนในชุมชนบุญร่มไทร

ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเองที่มีต่อสังคมในฐานะคนแบกเมือง คือ ถ้าพวกเขาต้องไปอยู่นอกเมือง อาชีพเดิมของพวกเขาก็จะหายไป แน่นอนว่าอาหารและบริการที่คนชั้นกลางได้รับจากคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าและบริการราคาถูกที่สามารถช่วยลดค่าครองชีพของตนได้ เช่น ร้านขายอาหารรถเข็น มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เพื่อให้คนเมืองสามารถเอาเงินที่เหลือจากการกินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ‘คนแบกเมือง’ จึงเป็นสิ่งที่สามารถนิยามพวกเขาได้ดีที่สุด

เชาวน์มองว่าทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองร่วมกัน เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบุญร่มไทรนี้ต่างเป็นแรงงานและผู้ขายสินค้าราคาถูกให้คนในเมือง หากพวกเขาหายไปจากพื้นที่นี้ คนในเมืองย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางคนอาจมองประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวแต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น

“เรารู้สึกว่าเราเป็นคนจนที่โดนกดทับอยู่ คนที่ไม่มีการศึกษา… เราอยากให้สังคมเปิดกว้าง มีการยอมรับและเคารพในทุกอาชีพ ไม่อยากให้มีการดูถูกกัน ถ้าไม่มีอาชีพแบบนี้มาทำให้คุณแล้วคุณจะอยู่ยากกว่าเดิม คือ เราเชื่อว่าทุกคนจะอยู่ได้แต่มันแค่อาจจะอยู่ยากกว่าเดิม” เชาวน์กล่าว 

อนาคตของชุมชนบุญร่มไทรในวันที่ต้องโยกย้าย

ภาพเชาว์กับโครงการ 'ปันกันอิ่ม' ที่ชาวบุญร่มไทรร่วมทำครัวกลางแบ่งปันอาหารให้คนในชุมชน

เมื่อสถานการณ์การเจรจาเรื่องการไล่รื้อพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว เชาวน์มองว่าประเด็นถัดไปที่ตนเองอยากผลักดันคือ ‘คุณภาพชีวิต’ ของคนในหมู่บ้าน โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ช่วงสงกรานต์ การประชุมงานประจำเดือน ซึ่งเหล่านี้พึ่งถูกริเริ่มในปี 2563

“เพราะคนในเมืองปัจจุบันมัวแต่ทำงาน เราไม่ได้คิดถึงเรื่องรอบตัวหรือคนอื่นๆ เราคิดถึงแต่ตัวเอง… แต่เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นอีกแบบ คือ อยู่กันเหมือนพี่น้องกัน มีอะไรก็มาแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเรื่องทุกข์สุข เราอยากให้เป็นแบบนั้น”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net