Skip to main content
sharethis

“สมยศ” ย้ำว่า ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามคนเห็นต่างและถูกใช้เอามาใช้เยอะขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา “เอกชัย” สะท้อนการนิรโทษกรรมที่ไม่รวมมาตรา 112 แทบจะไม่มีผลอะไร

วานนี้(22 ก.ค.2567) เวลา 14.00 น. ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรมเสวนาวาระครบรอบ 4 ปี การชุมนุม 18 ก.ค.2563 ในชื่องาน “4 ปี 18 กรกฎา : เมื่อประชาชนมารวมตัว” โดยในงานมีการกล่าวถึงประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในหัวข้อ “ความผยองของอํานาจรัฐ” มีผู้ร่วมเสวนาเป็นอดีตผู้ต้องขังในคดี ม.112 และทนายความที่ช่วยเหลือทางคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะร่วมเสวนา สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เคยถูกดำเนินคดีในฐานะอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin จากการเผยแพร่บทความในนิตยสาร มาร่วมงานโดยแต่งชุดนักโทษออกศาลและใส่โซ่ตรวนมาร่วมเสวนาด้วย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ กล่าวว่า มีนักการเมืองหลายพรรค บอกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112  ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนคิดเช่นนี้ เพราะกฎหมาย 112 ไม่ได้โผล่ขึ้นมาจากอากาศ มันมีที่มาที่ไปและเกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 คือเป็นระยะเวลาที่เราอยู่ภายใต้การปกครองของ คณะรัฐประหารโดยอ้างเรื่องการปกป้องสถาบันกษัตริย์

ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงต้องออกมาต่อต้านรัฐบาลและเครื่องมือที่อย่างกฎหมายมาตรา 112 ที่คณะรัฐประหารใช้มาปราบปรามประชาชน คดี ม.112 จึงเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแน่นอนเพราะถูกเอามาใช้ปราบปรามประชาชนที่ไม่ชอบเผด็จการ

เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 กล่าวถึงคดีของตนว่า หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 มีกลุ่มเสื้อแดงหลายคนเช่น กลุ่มแดงสยาม ของสุรชัย แซ่ด่าน ตนจึงนำซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC และเอกสารจากวิกิลีกส์ไปแจกปรากฏว่าโดนล่อซื้อ ในสมัยนั้นคนที่โดนคดีนี้จะถูกจับแบบเงียบๆ ไม่เป็นข่าว

เอกชัย หงส์กังวาน

เอกชัยกล่าวถึงเนื้อหาการนิรโทษกรรมทางการเมือง ว่าแทบไม่มีผลอะไร เพราะสุดท้าย คดีอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลก็จะยกฟ้องอยู่แล้ว ตอนนี้เหมือนถอยหลังยิ่งกว่าสถานการณ์เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมช่วงปี 2556 เข้าไปอีก

“ส่วนตัวผมว่า ล้างให้หมด รวม ม.112 ด้วย แต่ถ้าบางข้อหาไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนให้เป็นรอลงอาญา หรือลดโทษเหลือไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องล้างหมดก็ได้ ขอให้ลดโทษลงมา นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากขอ” เอกชัยกล่าว

ด้าน ธนกร หรือเพชร ผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน กล่าวว่า ในการโดนคดีครั้งแรกมาจากการปราศรัยที่แยกวงเวียนใหญ่ไปพูดบนเวทีและก็กลายเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของไทยที่ไปขึ้นศาลเยาวชนฯ ศาลชั้นต้นก็ตัดสินไปว่าไม่รอลงอาญาก็ยื่นอุทธรณ์ไป หลังจากนั้นก็โดนคดีเพิ่มอีก 2 คดีจากการไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง

ธนกรบอกว่าผลกระทบหลังจากโดนมาตรา 112 ช่วงที่คดีอยู่ในชั้นศาลบางเดือนต้องไปขึ้นศาลกัน 12 วัน บางเดือนก็ 7-8 วัน ทำให้ไปทำงานไม่ได้ขาดรายได้แล้วก็ทำให้ไม่ได้ไปเรียนด้วยเพราะเป็นคดีโทษสูงก็ต้องไปฟังทุกนัด ฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ดี พอเราโตขึ้นการรับผิดชอบชีวิตก็ต้องเยอะขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำงานประจำได้อยู่แล้วจึงใช้ชีวิตไม่เหมือนคนปกติ แต่หลังจากสืบพยานกันไปหมดแล้วตอนนี้เหลือแค่รายงานตัวตามกระบวนการของศาลเด็กและเยาวชนทุก 2-3 เดือน ทำให้เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว การเป็นเยาวชนก็ทั้งมีสภาวะกดดันพ่อก็ต้องมาศาลด้วยทุกวัน ตำรวจตามถึงบ้านบ้าง ทำให้ต้องออกมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อความสบายใจของครอบครัว

ทั้งนี้ธนกรก็ยังมีความเห็นว่าเมื่อประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ควรแก้กฎหมายได้ทุกข้อ

ธนกร หรือเพชร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net