Skip to main content
sharethis

อดีตลูกจ้างโรงงานสิ่งทอ 3 บริษัท ได้แก่ บอดี้แฟชั่น, เอเอ็มซี สปินนิ่ง, และ แอลฟ่า สปินนิ่ง หารือ 'เพื่อไทย' หาทางช่วยเหลือคนงานถูกนายจ้างลอยแพค้างเงิน 279 ล้าน ด้าน 'พท.' รับช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เปรยเป็นแค่พรรคร่วม รบ.ทำอะไรมากไม่ได้

 

10 ก.ค. 2567 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รายงานบนสื่อโซเชียลมีเดียวานนี้ (9 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.09 น. พรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรี กรุงเทพฯ อดีตพนักงานจาก 3 บริษัทอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประกอบด้วย บริษัท บอดี้แฟชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเอ็มซี สปินนิ่ง จำกัด และ บริษัท แอลฟ่าสปินนิ่ง จำกัด ได้เดินทางมาเพื่อขอให้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ช่วยเหลือ และมีมาตรการชดเชยค่าเสียหายให้คนงาน  หลังคนงานถูกนายจ้างลอยแพไม่จ่ายค่าชดเชย และค้างค่าจ้าง รวมเป็นจำนวนเงิน 279 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2562 ผ่านมา 5 ปี ยังไม่ได้เงิน

ผู้ชุมนุมถือป้าย "กฎหมายแรงงานดูคล้ายศักดิ์สิทธิ์ แรงงานจะขิต ศักดิ์สิทธิ์เมื่อไร" หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ปีใหม่ รัฐวงษา ตัวแทนแกนนำแรงงาน บริษัทบอดี้แฟชั่น  จากบางพลี กล่าวปราศรัยหน้าพรรคเพื่อไทยว่า พนักงานบอดี้แฟชั่น ถูกเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2562 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์ 900 กว่าคน กลุ่มบางปลา จ.สมุทรปราการ 26 คน และกลุ่มบางเสาธง หรือบางพลี จ.สมุทรปราการ 9 คน ยังไม่ได้รับค่าชดเชยเลย

ปีใหม่ ระบุว่า เธออยากเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย มีมาตรการช่วยเหลือหรือต่อรองนายทุนที่มาลอยแพคนงาน ติดตาม ทวงถามค่าชดเชยที่โกงแรงงานไป

“เราอยากให้พรรคเพื่อไทยใช้อำนาจของท่านที่มีอยู่ ช่วยผลักดันเรียกร้องเงินค่าชดเชยมาเพื่อเยียวยาแรงงานอย่างพวกเรา” ปีใหม่ กล่าว

อดีตพนักงานบริษัท บอดี้แฟชั่น นครสวรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันผ่านมา 4 ปีแล้วเธอยังไม่ได้ค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด จึงมาที่พรรคเพื่อไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ พวกเธอเคยไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงานมาแล้ว เคยมาเดินเรื่องมานานมากแล้วยังไม่เคยได้รับเงินเลย วันนี้อยากจะขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทย หวังว่าจะช่วยพวกเราได้

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รายงานต่อว่า เวลา 14.00 น. เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และตัวแทนพรรคเพื่อไทย เดินทางมารับหนังสือเรียกร้องจากคนงานที่ถูกลอยแพ จากนั้น ได้เชิญตัวแทนคนงานบางส่วนขึ้นไปในอาคารพรรคเพื่อไทยในฐานะตัวแทนสะท้อนปัญหาและเจรจาหาทางออก

บรรยากาศการยื่นหนังสือหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย (คนที่ 2 จากซ้าย) ปีใหม่ รัฐวงษา ตัวแทนคนงานบอดี้แฟชั่น และ (คนที่ 2 จากขวา) เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ตัวแทนรับหนังสือจากแรงงาน  (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)

เพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รายงานว่า เวลา 15.10 น. สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในตัวแทนที่เดินทางไปเจรจากับพรรคเพื่อไทยภายในที่ทำการพรรค กล่าวขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่เปิดพื้นที่ให้พูดคุย และสรุปบรรยากาศการพูดคุยภายในห้องเจรจา ดังนี้

1.คนงานเสนอให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดยพรรคเพื่อไทยแจ้งว่าคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ค. ก่อนให้คำตอบ

2.จากที่คนงานเสนอให้กระทรวงแรงงานสำรองจ่ายงบกลางให้คนงานก่อนในระหว่างที่ยังติดตามเงินชดเชยจากนายจ้าง พรรคเพื่อไทยแจ้งว่าไม่เข้าข่ายที่จะใช้งบกลางได้ เพราะถือเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชน (คนงาน)-เอกชน (นายจ้าง) ซึ่งรัฐบาลเกรงว่าจะเป็นการจ่ายหนี้สูญแทนนายทุน คนงานจึงเสนอให้ฟ้องล้มละลายนายจ้าง เพื่อติดตามหาทรัพย์สินนายจ้างเพิ่มเติมมาขายทอดตลาดต่อไป

เครือข่ายแรงงานฯ ระบุด้วยว่า บรรยากาศการชุมนุมวานนี้ (9 ก.ค.) มีการตะโกนคำว่าโรเบิร์ต อึ้ง (Robert Ng) บริษัทบอดี้แฟชั่น และนายโกเมนทร์ ชาตรีรัตน์ บริษัทแอลฟ่าสปิ่นนิ่ง นายจ้างที่เลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย รวมถึงเอ่ยชื่อแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังที่เป็นผู้สั่งผลิตสินค้าจากบริษัทบอดี้แฟชั่น, แอลฟ่าสปินนิ่ง และเอเอ็มซี ให้ออกมาร่วมรับผิดชอบด้วย ได้แก่แบรนด์ดังต่อไปนี้ Victoria's Secret, Marks and Spencer, Sloggi, HOM, Valisere Lingerie, Triumph

นัดหารือหาทางออกที่ทำเนียบอีกครั้ง 23 ก.ค. 2567

ก่อนหน้านี้วันเดียวกัน เมื่อเวลา 9.00 น. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและตัวแทนอดีตลูกจ้างโรงงานที่ถูกลอยแพ 3 บริษัท ได้เดินทางที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก เพื่อหารือกับ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพื่อนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้งบประมาณรายจ่ายกลาง ชดเชยและเยียวยาลูกจ้างที่ถูกลอยแพก่อน และให้ทางรัฐบาลไปตามกับนายจ้างทีหลัง

บรรยากาศการชุมนุมหน้าทำเนียบ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ก.ค. 2567 (ถ่ายโดย สหภาพคนทำงาน)

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่รณรงค์ช่วยเหลือการติดตามเงินค่าชดเชยให้ทั้ง 3 บริษัทมาโดยตลอด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์หลังจบกิจกรรม กล่าวว่า การไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้นเนื่องจากมีการนัดหารือกับสมคิด เชื้อคง แต่ทางสมคิด กลับไม่มาเจอ และให้คนอื่นมารับหนังสือแทน และได้มีการนัดหมายหารืออีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 ก.ค. 2567 และก็ประเด็นที่คุยจะมีเรื่องการอนุมัติงบฯ กลาง และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อชดเชยเยียวยาให้กับแรงงานก่อน ทั้งค่าจ้างค้างจ่าย และชดเชยเลิกจ้างแรงงาน

ธนพร ระบุว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมจะประกอบด้วย ตัวแทนแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตำรวจที่ดำเนินคดีกับนายจ้างที่ลอยแพลูกจ้าง เพื่อสอบถามว่าตอนนี้คดีถึงไหนแล้ว และถ้าเรื่องถึงอัยการ จะมีการเชิญอัยการมาคุยด้วยว่า เรื่องถึงขั้นตอนไหนแล้ว และทำไมล่าช้าเพราะว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว ทำไมยังไม่มีการส่งฟ้องนายจ้าง

สำหรับประเด็นอนุมัติงบฯ กลาง สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ ระบุว่า การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลางของรัฐบาล มันมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะนำมาบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงาน เพราะว่าตอนนี้เบิกเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเขามีมติไม่ขยายวงเงิน โดยให้เหตุผลว่า กองทุนฯ ตอนนี้เงินเหลือ 149 ล้านบาทแล้ว ถ้าขยายวงเงินจะไม่พอช่วยเหลือคนงานอื่นๆ ที่ถูกนายจ้างละเมิดกฎหมาย

"เหมือนพี่น้องที่อิสราเอล รัฐอนุมัติไป 750 ล้านบาท เพื่อเยียวยาแรงงาน และที่นี่ของเรามัน 279 ล้านบาท ความเดือดร้อนมันไม่ต่างกัน เรื่องนี้มันเป็นความผิดพลาดของรัฐด้วยที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้าง ยังไงก็ต้องงบฯ กลาง มันมีโอกาส ถ้านายกฯ อาจจะเอามาช่วย" ธนพร กล่าว

ธนพร ระบุว่า ผลการหารือกับพรรคเพื่อไทยนั้น ทางพรรคฯ รับปากว่าจะช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไข และบอกกับทางฝั่งแรงงานว่าทำอะไรมากไม่ค่อยได้ เพราะว่าเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล ต้องหารือพรรคอื่นๆ อย่างพรรคภูมิใจไทยด้วย
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net