Skip to main content
sharethis

นายกฯ แจงเรื่องที่ดินทับลานเป็นไปตามมติ ครม.ยุคประยุทธ์ ที่ประวิตรเป็นคนกำกับดูแล แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทาง “พัชรวาท” ย้ำให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ชาวบ้านได้มีที่ทำกิน แต่ไม่ให้นายทุน มูลนิธิสืบฯ เสนอแนวทางจัดการกับ 3 กลุ่มที่ดินในเขตอุทยานทับลาน

9 ก.ค. 2567 เวลา 11.30 น. จากกระแสคัดค้านการถอนเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในจังหวัดนครราชสีมาขนาดพื้นที่ 265,000 ไร่ ให้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีการรณรงค์อยู่จนมีการโต้แย้งว่าการประกาศเขตอุทยานเดิมมีการประกาศทับที่ทำกินของประชาชนที่มีอยู่เดิม วันนี้ทางฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้

เศรษฐาบอกเรื่องทับลานเป็นมติ ครม.ชุดเก่า

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงาน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเรื่องอุทยานแห่งชาติทับลาน รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาหรือต้องบริหารจัดการอย่างไร ระหว่างเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับพื้นที่อนุรักษ์ว่า รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งตนเองไม่มีอะไรจะพูดนอกจากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยที่แล้ว โดยมีอดีตรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ที่จะต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสิ่งสำคัญคือต้องรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน ก่อนที่จะมีการเพิกถอน ซึ่งยังมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินตามกฎหมายก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องของนายทุนที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปครอบครอง รัฐบาลจะกำชับอย่างไร นายกฯ กล่าว ย้ำว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะจะทำเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งตนเองเข้าใจว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีประชาชนบางส่วนเข้าไปอยู่อาศัยก่อนอยู่แล้ว ส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 มี.ค. 2566 หรือไม่ นายกฯ ระบุว่า ยังไม่มีแนวคิด เพราะตอนนี้อยู่ในกระบวนการของการศึกษาอยู่

ผู้สื่อข่าวถามจะมีการทบทวนแผนที่วันแมป (one map) ด้วยหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องวันแมปก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย

“พัชรวาท” ให้กรมอุทยานฯ เร่งพิสูจน์สิทธิให้ชาวบ้าน ไม่ให้นายทุน

ทั้งนี้สำนักข่าวไทยรายงานว่า ทางด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีการระบุว่า ขณะนี้ให้นโยบายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชให้ ดำเนินการตามมาตรการ 3 ประเด็นคือ

  1. ให้พิจารณาสิทธิ์ชาวบ้านในการถือครองที่ดิน สปก.ที่ทำกิน ต้องเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจนไม่ให้มีนายทุนนักการเมืองถือครอง
  2. ให้ความเป็นธรรมชาวบ้าน ที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 20 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน คาดว่ามีประมาณ 5 หมื่นไร่
  3. การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน ต้องไม่ตัดผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ห้ามตัดพื้นที่ต้นน้ำ หรือที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไปเพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ อาจพิจารณาตัดแบ่งเฉพาะที่ประชาชนอาศัยและทำกินอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น

กรมอุทยานฯ แจง ตามมติ ครม. 66 สปก.ต้องเข้ามาตรวจสอบสิทธิ์

โพสต์ทูเดย์รายงานถึงการแถลงของ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงในประเด็นเรื่องนี้ว่าปัญหาพิพาทที่ดิน 265,000 ไร่ในอุทยานแห่งชาติทับลานเนื่องจากเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยาน และเคยเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(อดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เข้าไปทำกินได้ในพื้นที่ขนาด 58,000 ไร่ แต่หลังจากนั้นมีการประกาศเป็นที่อุทยานทับพื้นที่ ซึ่งเป็นความบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่าจากเหตุดังกล่าว จึงมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านและการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติหรือ สคทช. และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชนจำนวน 265,000 ไร่ให้เป็นของ ส.ป.ก.และ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 14 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีอยู่จะไม่ได้รับการยกเว้น

จากมติ ครม. ทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้นั้นต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ก่อนรวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาอีก 30 วัน เพื่อมีมติเสนอ ครม.ต่อไป แต่การพิจารณาจะดูเรื่องข้อเท็จจริงทั้งการอยู่อาศัยและการทำกินและการดูแลผืนป่า เนื่องจากในพื้นที่ 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยเดิม และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดี 12,000 ไร่ และ สปก. จะเข้ามาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ์ ส่วนกรมอุทยานฯ ต้องไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมการอุทยานว่าประชาชนจะได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าใดและใครได้สิทธิ์บ้าง เพราะแต่ละคนคุณสมบัติไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากกระแสคัดค้านการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งจะเป็นการนำแนวเส้นเขตอุทยานที่มีการทำสำรวจและกำหนดไว้ใหม่เมื่อปี 2543 แทนแนวเส้นเขตเดิมที่มีการประกาศไว้เมื่อปี 2524 ทางด้านมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรให้เหตุผลที่คัดค้านไว้ 6 ประเด็นคือ

  1. หากใช้ตามเขตที่กำหนดไว้เมื่อปี 2543 ตาม มติ ครม.ปี 66 จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ ซ฿งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
  2. กระทบกับคดีที่มีการฟ้องผู้ครอบครองรายใหม่และนายทุนจำนวน 470 ราย ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 รวมถึงผู้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์อีก 23 ราย รวมเป็นพื้นที่กว่า 11,083 ไร่
  3. เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มีการเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดินเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศ
  4. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
  5. ทำลายสภาพพืชพรรณในบริเวณนั้น ส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงฤดูฝน
  6. รบกวนที่อยู่อาศัยที่หากินหรือเส้นทางอพยพของสัตว์

มูลนิธิสืบฯ เสนอแนวทางจัดการเพิ่ม

ทั้งนี้หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการคงเส้นแนวเขตอุทยานเดิมไว้จะกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานเมื่อปี 2524 วันนี้ทางมูลนิธิสืบฯ ได้ออกข้อเสนอมาจัดการกับ 3 กลุ่มที่ดินที่มีการถือครองแตกต่างกันด้วย

กลุ่มแรก พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.) มีขนาดประมาณ 60,000 ไร่ ใน 3 อำเภอคือ อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีข้อเสนอให้ 3 แนวทาง

  • แนวทางที่ 1 : อุทยานฯ เสนอเพิกถอนพื้นที่ เพื่อให้ ส.ป.ก. มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดิน
  • แนวทางที่ 2 : ให้อุทยานฯ ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562
  • แนวทางที่ 3 : อุทยานฯ และ ส.ป.ก. ร่วมกันตรวจสอบ และจัดการพื้นที่ ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนด

กลุ่มที่สอง พื้นที่ของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) เนื้อที่ประมาณ 80,000 ไร่ ใน 2 จังหวัด คือ อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

กลุ่มที่สาม พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 2 มีเนื้อที่ประมาณ 125,000 ไร่ ใน 2 จังหวัดคือ อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งในกลุ่มนี้ ถูกระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่มีกลุ่มทุนเข้ามาครอบครองสร้างโรงแรมและรีสอร์ท ให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองกลุ่มนี้ ส่วนที่เป็นที่ดินที่มีประชาชนเข้ามาถือครองโดยทั่วไปให้ดำเนินการตาม มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ เช่นเดียวกับกลุ่มที่สอง

มูลนิธิสืบฯ ระบุว่าไม่ควรแก้ไขปัญหาแบบเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน รัฐควรแก้ไขปัญหาแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจนและให้ความเป็นธรรมทั้งมนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่า

มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ว่าอย่างไร?

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี 2562 ในมาตรา 64 ที่มูลนิธิสืบฯ เสนอนั้น ได้ให้อำนาจแก้กรมอุทยานฯ ทำการที่ดินที่มีประชาชนถือครองทั้งอาศัยและทำกินในที่อุทยานฯ ภายใน 240 วันหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกบังคับใช้ แต่ถ้าพ้นระยะเวลาตามกำหนดแล้ว และหากมีแผนงานหรือนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินออกมาก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ให้กรมอุทยานฯ เสนอ ครม.ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ฎ.ที่ออกมาตามมติ ครม.ต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในที่ดินอุทยาน ตามกรอบมติ ครม.เมื่อ 30 มิ.ย.2541 หรือ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 และให้ทำแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ. และ พ.ร.ฎ.ที่ออกมานี้จะมีอายุไม่เกิน 20 ปี รวมไปถึงการกำหนดกิจกรรมที่ประชาชนจะทำบนที่ดินที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหรือกระทบต่อระบบนิเวศ จะทำได้หากเป็นไปเพื่อการดำรงชีพตามปกติและเป็นไประเบียบที่อธิบดีกำหนดตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเห็นชอบ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net