Skip to main content
sharethis

สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ขอรัฐบาลเร่งดำเนินโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แก้เงื่อนไขจ่ายเงินก่อนรับปุ๋ย - พรรคไทยสร้างไทย รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนเกษตรกรชาวนาภาคอีสาน หลังโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอาจสร้างหนี้เพิ่ม

14 ก.ค. 2567 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวเสนอแนะไปยังรัฐบาล ขอให้พิจารณากรณีการดำเนินโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง โดยระบุว่าเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ซึ่งตนเองต้องการให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องระยะเวลาขอให้เร่งรัดจ่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรโดยเร็วเพื่อทันต่อฤดูกาลใช้ปุ๋ย และทำเกษตรของประชาชน พร้อมกับให้ลดขั้นตอนการลงทะเบียนให้กระชับและดำเนินการได้ง่าย รวมถึงลดเงื่อนไขที่เกษตรกรต้องจ่ายเงินก่อนรับปุ๋ย เนื่องจากมองว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สะดวกชำระเงินก่อน นอกจากนี้กล่าวด้วยว่าจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทของรัฐบาล และต้องการให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวต่อไป เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในการทำการเกษตร

พรรคไทยสร้างไทย รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนเกษตรกรชาวนาภาคอีสาน หลังโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอาจสร้างหนี้เพิ่ม

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยนายชัชวาล  แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดร้อยเอ็ด และในฐานะเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย รับหนังสือจากตัวแทนเกษตรกรชาวนาภาคอีสานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการมาตรการดูแลเกษตรกรชาวนาในฤดูการผลิตที่กำลังจะมาถึง

นายชัชวาล กล่าวภายหลังนำตัวแทนเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ข้อมูลและสะท้อนปัญหา ในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ และสร้างภาระหนี้สิน มากกว่าการสร้างผลิตผลในการทำนา นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผชิญปัญหาหนี้สินและขาดทุน ส่วนที่รัฐบาลให้ข้อมูลว่าราคาข้าวดี เพราะเป็นราคาข้าวนอกฤดูกาล แต่ข้อเท็จจริง คือ เกษตรกรชาวนาไม่มีข้าวไปขาย หากต้องการเห็นราคาข้าวที่เกษตรกรชาวนาได้รับจริง ต้องไปดูช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เมื่อเกษตรกรชาวนาทยอยขายข้าวออกไป และต้องรีบนำเงินมาหมุน จ่ายต้นทุนการผลิต ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาการที่รัฐบาลมีมาตรการเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาได้มาก ดังนั้น เกษตรกรชาวนายังคาดหวังว่ารัฐบาลจะยังนำโครงการเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

นายชัชวาล กล่าวด้วยว่า โครงการที่สามารถพยุงราคาข้าวได้ คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเคยเป็นโครงการที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวนามีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวโดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือก หรือโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรและโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งโครงเหล่านี้สามารถทำให้เกษตรกรชาวนาลืมตาอ้าปากได้ในฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา จึงรัฐบาลพิจารณาให้ชัดเจนว่าจะยังคงดำเนินการโครงการต่อไปอีกหรือไม่ ขณะที่โครงการปุ๋ยคนละครึ่งที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไป แต่กรณีที่เกษตรกรชาวนาไม่มีเงินสมทบซื้อปุ๋ยอีกครึ่ง จะเข้าร่วมโครงการอย่างไร ซึ่งตนทราบมาว่ามีข้อเสนอให้กู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สามารถซื้อปุ๋ยอีกครึ่งได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มให้กับเกษตรกรหรือไม่

 

ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net