Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” นั้นได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนชาวไทยอย่างล้นหลามนับตั้งแต่วันเข้าฉายครั้งแรกในเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน มิใช่เพียงแค่เสียงตอบรับในเชิงบวกภายในประเทศไทยเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ยังได้มีโอกาสไปสร้างกระแสบวกในแถบประเทศในกลุ่ม ASEAN อีกด้วย

นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว เราได้เห็นประเด็นและแนวคิดสำคัญอย่างแนวคิด “ความกตัญญู (xiào 孝 หรือ filial piety ในภาษาอังกฤษ)” ที่สะท้อนออกมาจากค่านิยมและความเชื่อในบริบทของวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถครองใจใครหลาย ๆ คนในประเทศแถบ ASEAN ใช่หรือไม่ เพราะในประเทศแถบนี้ที่ “หลานม่า” ได้ไปโกอินเตอร์นั้นมีประชาชนที่เติบโตในบริบทวัฒนธรรมจีนอาศัยอยู่มากมายนั่นเอง?

หรือการเติบโตมาในบริบทแบบวัฒนธรรมจีนไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับไปในทางที่ดีเพราะคนไทยที่โตมาแบบไทยพุทธก็ดูเหมือนจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน (อย่างตัวผู้เขียนเอง) ทั้ง ๆ ที่รายละเอียดของแนวคิด “ความกตัญญู” แบบวัฒนธรรมไทย ๆ นั้นจะแตกต่างจากรายละเอียดของแนวคิด “ความกตัญญู” แบบวัฒนธรรมจีนอยู่พอสมควร หรือแท้ที่จริงแล้วแนวคิด “ความกตัญญู” ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมหรือสังคมใดก็ตามนั้นได้บ่งชี้ถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในครอบครัวแบบอุดมคติ” ที่มนุษย์ทุกคนพึงมีในชีวิตเชิงจริยศาสตร์? (วิชาจริยศาสตร์ [ethics] เป็นสาขาหนึ่งในวิชาปรัชญา [philosophy] ที่มีคำถามพื้นฐานที่สำคัญว่า “เราควรมีการกระทำที่เหมาะสมต่อมนุษย์คนอื่นอย่างไรในสังคม [what ought I to do?]”)

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ชมเดินออกจากโรงภาพยนตร์มาแล้ว อีกครั้งหนึ่งที่คนไทยต่างได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับ “ความกตัญญู” ว่าคืออะไร มิหนำซ้ำบางคนถึงกับ “คาดหวัง” ให้ “ความกตัญญู” นี้เกิดขึ้นในครอบครัวตนเองบ้างเหมือนในตอนจบของภาพยนตร์ ประกอบกับวาทกรรม “ความกตัญญู” มากมายที่ดำรงอยู่แล้วแต่เดิมในสังคมไทย คำถามก็คือ “ความกตัญญู” ยัง “ควร” เกี่ยวข้องกับสังคมไทยในยุคนี้อยู่หรือไม่ ถ้าใช่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “ความกตัญญู” หรือไม่

เพื่อพิจารณาคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนเลือกที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “ความกตัญญู” ผ่านปรัชญาจีน ทำไมต้องปรัชญาจีน? เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความกตัญญู” ที่ถูกสื่อผ่านภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” นั้นเป็นค่านิยมและความเชื่อในบริบทวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจนและเป็นแนวคิดที่ดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาของนักปราชญ์จีนที่มีชื่อว่า “ขงจื่อ (Confucius/Kongzi)” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะชวนผู้อ่านคิดเกี่ยวกับ “ความกตัญญูแบบจีน” นี้นี่เอง

นอกจากนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายอย่างจากปรัชญาจีน ไม่ใช่เหตุที่ว่าสังคมไทยกำลังล่มสลายเราจึงต้องพึ่งแนวคิดจากวัฒนธรรมอื่น ไม่ใช่ หากแต่ผู้เขียนเห็นว่ายังมีทางเลือกอีกหลายทางที่ให้เราได้รับฟังและเลือกเดินเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทย ถึงแม้ว่าสังคมไทยกับสังคมจีนจะแตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่าสังคมไทยนั้นมีคนไทยเชื้อสายจีนที่เติบโตในบริบทวัฒนธรรมจีนหลายชั่วคน และที่สำคัญคือ ปรัชญาจีนไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เฉพาะ “คนจีน” เท่านั้น หากแต่โดยเนื้อแท้แล้วปรัชญาจีนนั้นได้นำเสนอถึง “วิถีทาง” ในการดำเนินชีวิตที่ดีแก่มนุษยชาติไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม

ขงจื่อเป็นใคร? ขงจื่อเกิดในยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศจีนที่มีชื่อว่า “ยุคชุนชิว” หรือ “วสันตสารท” ประมาณ 770 ปีก่อนคริสตกาล เป็นยุคแห่งความวุ่นวายของแผ่นดินจีนที่แต่ละรัฐนั้นได้ทำสงครามรบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงอำนาจหลังจากที่อำนาจในการปกครองนั้นไม่ชัดเจนหลังจากที่ราชวงศ์โจวตะวันออก (Eastern Zhou dynasty) ล่มสลาย เป็นยุคที่ศีลธรรมเสื่อมทราม ผู้ปกครองไม่ทำหน้าที่ของผู้ปกครองที่เหมาะสม ผลก็คือประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วทุกระแหง กล่าวโดยง่ายนี่คือ “กลียุค” นั่นเอง ขงจื่อเป็นหนึ่งในนักคิดหลายร้อยคนที่พยายามจะแก้ปัญหากลียุคที่ยืดเยื้อมานานหลายร้อยปีที่ว่านี้ เขาเห็นว่าความวุ่นวายแห่งยุคสมัยนั้นมีสาเหตุมาจาก “ความบกพร่องทางศีลธรรม” และเห็นว่าแผ่นดินจะสงบสุขได้นั้นเราจะต้องสร้าง “คนดีมีศีลธรรม” เมื่อมาถึงตรงนี้ผู้เขียนวอนผู้อ่านเปิดใจกว้างกับคำว่า “คนดีมีศีลธรรม” เนื่องจากแนวความคิดเกี่ยวกับ “คนดีมีศีลธรรม” ในปรัชญาของขงจื่อนั้นมีหลักการในเชิงปรัชญามากกว่าที่จะเป็นวาทกรรมเกี่ยวกับ “คนดีมีศีลธรรม” ที่พูดกันอย่างฟุ่มเฟือยในสังคมไทยในปัจจุบัน

สำหรับขงจื่อ “คนดีมีศีลธรรม” หรือ “จวินจื่อ (junzi 君子)/วิญญูชน” นั้นจะต้องผ่านการขัดเกลาทางจริยศาสตร์ที่ฝึกฝนให้ตัวของเขานั้นพัฒนาคุณธรรม “เหริน (ren 仁)” หรือ “มนุษยธรรม” และคุณธรรม “หลี่ (li 禮)” หรือ “จารีตประเพณี” ที่สมบูรณ์ในตัวเอง คุณธรรม “มนุษยธรรม” นั้นคือคุณธรรมภายในที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่เราสามารถเข้าใจคุณธรรมนี้ได้ในฐานะที่มันเป็นรูปแบบที่หลากหลายของอารมณ์ความรู้สึกที่เหมาะสมในเชิงศีลธรรม เช่น ความรัก ความเมตตา ความเคารพ และความจริงใจที่เราแสดงออกต่อมนุษย์คนอื่นในสังคม เป็นต้น ส่วนคุณธรรม “จารีตประเพณี” นั้นเป็นคุณธรรมหรือพฤติกรรมภายนอกที่เราสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า คุณธรรมนี้สามารถแสดงตัวมันออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมตลอดจนไปถึงพฤติกรรมหรือมารยาทในสังคมหนึ่งๆ ที่แสดงออกมาอย่างเหมาะสมต่อผู้อื่นในสังคม ทั้งสองคุณธรรมนี้ต้องมีลักษณะที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและกลมกลืนกันอย่างสำคัญภายในตัว “วิญญูชน” ผู้นี้ นอกจากนั้น สำหรับขงจื่อ “วิญญูชน” ผู้นี้จะต้องได้รับการสนับสนุนให้รับตำแหน่ง “ผู้ปกครอง” หรือรับราชการเพื่อทำให้แผ่นดินมีความกลมเกลียวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

แนวคิดเรื่อง “ความกตัญญู” ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางจริยศาสตร์ของขงจื่อ สังคมจีนโบราณในตอนนั้นเป็นสังคมแบบศักดินา (feudalism) และสังคมเกษตรกรรม (agricultural society) ขงจื่อพยายามเสาะหารัฐบาลที่มี “ระบบระเบียบ (order)” แต่กลับไม่เจอ เขากลับเจอ “ระบบระเบียบ” ที่ว่านี้ภายในสังคมครอบครัวจีนโบราณที่สมาชิกในครอบครัวต่างมีหน้าที่ของตัวเอง สถานภาพของบิดาสูงกว่ามารดา ผู้หญิงมีสถานภาพที่ด้อยมากกว่าผู้ชาย บุตรชายจึงมีสถานภาพที่สูงกว่าบุตรสาว เพราะว่าบุตรชายต้องช่วยบิดาทำนา สืบต่อสายสกุล และมีหน้าที่ดูแลบิดามารดาเมื่อยามแก่เฒ่า บิดามารดาเองก็มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรให้ดีที่สุดและในทางกลับกันบุตรก็ต้องช่วยเหลือบิดามารดาค้ำจุนครอบครัว จนไปถึงเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว นามของบิดามารดาก็ต้องเป็นที่จดจำหลังจากที่สิ้นชีพไปแล้วผ่านพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ และแน่นอนคนที่ทำหน้าที่เป็นประธานพิธีกรรมก็คือบุตรชายคนโต (จะเห็นได้ว่าความนิยม “บุตรชาย” มากกว่า “บุตรสาว” ในวัฒนธรรมจีนนั้นไม่ได้มาจากขงจื่อแต่มันเป็นค่านิยมที่มีมานานในสังคมจีนโบราณก่อนที่ขงจื่อจะเกิดเสียอีก!) ดังนั้น “ความกตัญญู” นี้ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่หรือถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยขงจื่อ แต่สิ่งที่ใหม่เกี่ยวกับ “ความกตัญญู” ในปรัชญาขงจื่อก็คือ “ความกตัญญู” นั้นควรมีลักษณะที่เป็น “ความรับผิดชอบในเชิงอารมณ์ความรู้สึก (emotional responsibility)” ซึ่งคือ ความรัก ความเคารพ และอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจที่มาจากภายในตัวคน ๆ หนึ่งอย่างแท้จริง และอารมณ์นี้ต้องพึ่งกระบวนการทางจริยศาสตร์ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะ

ทั้ง ๆ ที่ “ความกตัญญู” นี้เป็นแนวคิดในอดีตอันไกลโพ้นซึ่งไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป แต่แล้วเหตุใดคนหลายคนยังคงรู้สึกประทับใจในคุณค่าของ “ความกตัญญู” อยู่ ไม่ว่า “ความกตัญญู” นี้จะมาจากบริบทวัฒนธรรมใดก็ตาม? (หลักฐานที่เราเห็นได้ชัดก็คือ กระแสตอบรับจากสังคมที่ดีที่มีต่อภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า”)

ผู้เขียนเห็นว่า หนึ่งในสาเหตุหลักคือ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัวประกอบกับคนรุ่นใหม่เลือกที่จะครองโสดและไม่มีบุตรกันมากขึ้น อัตราการเกิดในแต่ละปีก็ต้องลดต่ำลง ผลก็คือ มีผู้สูงอายุกำลังล้นประเทศที่รอให้รัฐบาลดูแลในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งมีลูกหลาน ลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะ Gen y หรือ Gen Z เพียงลำพังก็เอาตัวเองแทบจะไม่รอดอยู่แล้วในเศรษฐกิจยุคนี้ ไม่ใช่แค่นั้น คนรุ่นใหม่ได้เติบโตมากับความคิดทางตะวันตกแบบ “ปัจเจกนิยม (individualism)” มากขึ้น คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะให้ความสำคัญแก่เป้าหมายของตนเองมากกว่าเป้าหมายของครอบครัว พวกเขาเลือกที่จะทำตามฝันของตัวเองมากขึ้นและเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามความคาดหวังของครอบครัวเหมือนในอดีตอีกต่อไป (เหมือนตัวละคร “เอ็ม” ในภาพยนตร์) ผลก็คือ ผู้สูงอายุบางคนถูกทอดทิ้งจากลูกหลานเป็นจำนวนมาก หรือบางคนถ้าไม่ได้ถูกทอดทิ้งก็เห็นว่าตนเองไม่ได้รับการตอบสนองอารมณ์ความเคารพรักที่เหมาะสมจากลูกหลานในครอบครัวเท่าที่ควร (เหมือนตัวละคร “อาม่า” ในภาพยนตร์)  ส่งผลให้เกิดความน้อยใจจนนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในครอบครัว นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นเก่าถึงได้การแสดงออกในรูปแบบ “ความกตัญญู” จากลูกหลานคนรุ่นใหม่ แต่ “ความกตัญญู” สามารถแก้ปัญหานี้ได้จริงๆ หรือ? เนื่องจากแรงกดดันจากสังคมและบุพการีในคราบของ “ความกตัญญู” ที่ว่านี้ได้สร้างความหนักใจให้แก่คนรุ่นใหม่หลายคนเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ไร้คนดูแลไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานเลยหรือผู้สูงอายุที่มีลูกหลานแต่โดนลูกหลานทอดทิ้ง หน้าที่นี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่หรือ?

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” เสนอเงินสูงสุดเดือนละ 3,000 บาทให้แก่ “ลูกหลาน” ที่ลาออกจากงานมาดูแลเครือญาติหรือคนในชุมชนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีใครดูแล เพื่อลดการเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาการและสวัสดิการสังคม จริงอยู่ที่เงินอุปถัมภ์นี้แสดงถึงความพยายามของรัฐที่จะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุไร้คนดูแลหรือทอดทิ้ง แต่เมื่อพิจารณากันตามความเป็นจริงเงินจำนวนเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้หรือจูงใจลูกหลานให้กลับไปดูแลญาติผู้ใหญ่ได้มากพอ นี่หมายความว่า “ความกตัญญู” ยัง “ควร” ที่จะเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอยู่เช่นนั้นหรอกหรือ? คำตอบคือ “ใช่” แต่ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า “ความกตัญญู” จะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุล้นเมืองในอนาคตได้อย่างร้อยเปอร์เซ็น เพราะในอนาคตข้างหน้าเราหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่ได้อยู่แล้วหากอัตราการเกิดยังคงลดต่ำลงต่อเนื่องทุกปีอยู่เช่นนี้ ยกเว้นเสียว่าในอนาคตเราจะใช้หุ่นยนต์แอนดรอยด์ดูแลผู้สูงอายุเหมือนในภาพยนตร์จอเงิน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนหมายความถึงปัญหาผู้สูงอายุที่มีลูกหลานแต่ลูกหลานไม่ดูแลต่างหากเล่า

ในความเห็นของผู้เขียน “ความกตัญญู” จะมีหรือไม่มีก็ได้ในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สังคมใดที่ไม่มีรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงวัยที่เพียบพร้อม อย่างประเทศไทย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะให้คนในสังคมได้คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคุณค่าของ “ความกตัญญู” เพื่อจูงใจลูกหลานกลับไปดูแลบุพการีของตนเอง แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความกตัญญู” ต้องเป็นความเข้าใจในเชิงปรัชญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่วาทกรรมเกี่ยวกับ “ความกตัญญู” ที่เราได้ยินอยู่ทุกวัน หรือแรงกดดันจากสังคมและรัฐบาลในคราบของ “ความกตัญญู”

สำหรับขงจื่อ ข้าวปลาอาหารและเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นมาได้ “ความกตัญญู” นั้นควรมีลักษณะที่เป็น “ความรับผิดชอบในเชิงอารมณ์ความรู้สึก” ไม่ใช่ “งานบ้าน” ที่ต้องทำให้เสร็จ ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้ง “ความกตัญญู” ไม่ได้มาจากนโยบายหรือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลหรือปัจจัยอื่น ๆ ภายนอกตัวบุคคลนั้นที่เรียกร้องหรือสั่งให้เขา “จงกตัญญูซิ!” ตรงนี้ขงจื่อถึงกับกล่าวถึง “ความกตัญญู” ปลอมๆ ที่ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจว่าแตกต่างอะไรจากการเลี้ยงดูม้าและสุนัข (คัมภีร์หลุนหวี่ย์ เล่ม 2 บทที่ 7)

เฉกเช่นเดียวกันกับ โครงการ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” การดูแลผู้สูงอายุด้วยเงินและความต้องการทางกายภาพอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในครอบครัวที่อบอุ่นได้ นอกจากนั้น ในยุคปัจจุบัน มิใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เพรียกหาความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับบุตรหลาน แต่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ก็โหยหาความสัมพันธ์ที่อบอุ่นที่ว่านี้จากผู้อาวุโสในครอบครัวเช่นเดียวกัน เราเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่คนรุ่นใหม่พยายามเสาะหาความรักจาก “พ่อแม่ดิจิตอล (digital parents)” บนสื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้นเพราะครอบครัวแท้ๆ ของตัวเองไม่สามารถตอบสนองอารมณ์ความรักที่เหมาะสมแก่พวกเขาได้ ทั้ง ๆ ที่คนรุ่นใหม่หลายคนให้ความสำคัญแก่เป้าหมายของตนเองมากกว่าเป้าหมายของครอบครัวตามแนวคิด “ปัจเจกนิยม” แต่ในทางเดียวกันพวกเขาก็ยิ่งโหยหาความรักและแรงสนับสนุนจากครอบครัวมากขึ้นในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ ตรงนี้ฟังดูแล้วมีความย้อนแย้งแต่มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์

ตรงนี้บางคนอาจจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวแบบอุดมคติเช่นนี้ไม่มีความจำเป็นหรอก เราแค่ต้องการรัฐบาลที่มีการบริหารจัดการปัญหาสังคมที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าขงจื่อเองนั้นก็เสาะหารัฐบาลที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเหมือนกันเพราะรัฐบาลต้องอุปถัมภ์เลี้ยงดูประชาชนให้กินดีอยู่ดีด้วย เพื่อให้ประชาชนนั้นมีเวลาขัดเกลาตนเองในทางศีลธรรมมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องนั่นเอง ขงจื่อเห็นว่าการอยู่รอดของสังคมมนุษย์นั้นต้องมีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงเป็นพื้นฐาน เมื่อความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นไปอย่างกลมกลืนเช่นนี้ คน ๆ หนึ่งก็จะเป็นพลเมืองที่ดีในรัฐด้วย สำหรับขงจื่อความจงรักภักดีต่อคนในครอบครัวและต่อรัฐคือสิ่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าคู่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรนั้น “ไม่มีความเท่าเทียม” เพราะบิดามารดาย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่าสถานภาพของบุตร ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่มีสถานภาพทางสังคมที่ไม่เท่ากันนั้นมักจะแฝงด้วย “อำนาจ” ในการกดขี่ข่มเหงให้ฝ่ายที่มีสถานภาพต่ำกว่านั้นต้องยอมจำนน ลูกต้องฟังพ่อ ทำตามพ่อนะ แต่สำหรับขงจื่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองนี้ไม่ได้ใช้ “อำนาจ” ที่ว่านี้ แต่ใช้ “พลัง” ของคุณธรรมที่มีความเคารพ ความเข้าใจ และอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจบวกกับพฤติกรรมเหมาะสมตอบสนองซึ่งกันและกันเพื่อยึดโยงให้คู่ความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้น แนวคิด “ความกตัญญู” ของขงจื่อ ไม่ใช่บุตรหรือผู้น้อยแต่เพียงฝ่ายเดียวที่เท่านั้นต้องแสดงความรับผิดชอบในเชิงอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจต่อบิดามารดาหรือผู้อาสุโส บิดามารดาหรือผู้อาสุโสเองก็ต้องมี “ความเมตตา” ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกของคุณธรรม “มนุษยธรรม” เพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกของบุตรอย่างเท่าเทียมกัน (mutual reciprocation) คู่ความสัมพันธ์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล-ประชาชน สามี-ภรรยา ผู้อาวุโส-ผู้ด้อยอาวุโส และเพื่อน-เพื่อน จะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบในเชิงศีลธรรมที่เหมาะสมซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อบอุ่นในปรัชญาของขงจื่อนี้นี่เองที่ผู้เขียนเห็นว่าจะสามารถลดทอนช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ลงได้ (ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนประสงค์ที่จะพูดคุยในโอกาสต่อไป)

 

อ้างอิง

ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net