Skip to main content
sharethis

‘ชัยธวัช’ แจงเพิ่มเติม ย้ำข้อเสนอของ กมธ.นิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันระหว่างประชาชนที่ถูกดำเนินคดีกับฝ่ายต่างๆ และเกิดข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ คาดว่าคณะกรรมการจะพิจารณาคดีทั้งหมดทันในกรอบเวลา ตอบข้อสงสัยทำไมไม่ระบุข้อหาที่จะนิรโทษกรรมให้ชัดเจน

25 ก.ค.2567 หลังการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม(กมธ.นิรโทษกรรม) ประชาไทได้ขอสัมภาษณ์ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและในฐานะสมาชิกกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของข้อเสนอในส่วนของการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข ที่ยังมีประเด็นข้อสงสัยทั้งในส่วนของกรอบเวลา อำนาจคณะกรรมการ กระบวนการสานเสวนาและมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ปัจจุบัน” คือแค่ไหน?

ชัยธวัชกล่าวว่า สำหรับประเด็นกรอบเวลาที่จะให้เริ่มพิจารณานิรโทษกรรมจาก 2548 - ปัจจุบันว่า สำหรับ “ปัจจุบัน” ในหลักการเขียนกฎหมายก็ควรจะต้องเป็นวันที่กฎหมายประกาศใช้หรือวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เนื่องจากยังไม่ใช่กระบวนการร่างกฎหมายจึงวางเป็นหลักการกว้างๆ ไว้ว่าให้กฎหมายมีผลถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าในที่ประชุม กมธ.มีความเห็นตรงกันเรื่องกรอบเวลาหรือไม่ ชัยธวัชตอบว่า กมธ.บางส่วนก็ไม่เห็นด้วยเพราะกังวลว่าถ้าไม่กำหนดกรอบวันการนิรโทษกรรมก็อาจจะทำให้มีคนใช้ช่วงเวลาก่อนที่กฎหมายจะประกาศให้มีผลบังคับใช้มาก่อเหตุเพิ่มขึ้นอีกเพราะรู้ว่าจะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งส่วนนี้ก็คงต้องให้แต่ละฝ่ายไปร่างกฎหมายของตัวเองมาเสนอเขาสู่สภาเพื่อพิจารณาต่อไป

ชัยธวัชก็ได้อธิบายต่อว่า เขาได้นำเสนอในที่ประชุมไปว่าให้ดูจากวันที่เกิดเหตุการณ์เนื่องจากว่าอาจมีกรณีที่มีการแจ้งความหรือฟ้องคดีขึ้นใหม่จากเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งเขาเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดในอดีตควรจะต้องถูกครอบคลุมอยู่ในการนิรโทษกรรมไปด้วย แต่เรื่องนี้ก็จะต้องไปดูที่รายละเอียดในตอนออกกฎหมายมาเช่นกัน

คณะกรรมการพิจารณาคดีทั้งหมดทัน? เหตุใดจึงไม่ระบุเป็นข้อหา?

ในประเด็นต่อมาเรื่องการให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะตั้งขึ้นมาตามกฎหมายเป็นผู้พิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดจะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการนิรโทษกรรมหรือไม่และจะเสร็จทันตามอายุของคณะกรรมการหรือไม่

ชัยธวัชตอบในประเด็นนี้ว่า คิดว่าการพิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดจะเสร็จทันตามอายุของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาซึ่งอาจจะมีกรอบเวลาอยู่ที่ 2 ปีซึ่งเขาเห็นว่าเป็นกรอบเวลาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการก็จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาได้ และกระบวนการเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมก็จะให้ทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือครอบครัวเสนอชื่อคนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมเข้ามาให้คณะกรรมการ และคณะกรรมการก็ต้องแสวงหาคดีที่จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมเองด้วย

ชัยธวัชบอกว่า ในความเห็นของเขาถ้าจะทำกันจริงๆ ใช้เวลาปีเดียวก็น่าจะพิจารณาได้หมดเพราะจำนวนคดีก็มีอยู่หลักพันเท่านั้นส่วนคดีที่ยังมีดำเนินการอยู่ในชั้นต่างๆ ก็ต้องถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ต้นๆ อยู่แล้ว คดีที่จะช้าคือคดีมาตรา 112 เท่านั้นที่มีกระบวนการมากกว่าคดีประเภทอื่น

เมื่อถามว่าการระบุข้อหาไปเลยจะทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมดำเนินไปได้เร็วกว่าหรือไม่ ประเด็นนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอบว่าทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าแม้กระทั่งคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะก็ยังมีการตั้งข้อหาไว้อีกหลายข้อหาแต่ก็ถือว่ายังเป็นข้อหาที่ดูจากฐานข้อมูลได้ง่ายคือไปดูที่ข้อกล่าวหาหลักว่าอันนี้เป็นเรื่องการเมืองแน่ แต่เมื่อเป็นข้อหาอื่นที่ไม่ได้ถูกใช้กับแค่เรื่องการเมืองอย่างเดียวอย่างข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกเอาไปใช้กับคดีหมิ่นประมาทบุคคล ซึ่งหากไปรวมข้อหาลักษณะนี้มาแล้วอาจมีถึง 2 ล้านคดี

ชัยธวัชอธิบายเพิ่มว่าในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติไปเลย อย่างในกรณี 6 ตุลาฯ ที่มีการนิรโทษกรรมในปี 2521 ก็ระบุชัดไปเลยตามหมายเลขคดีที่มีอยู่ และการนิรโทษกรรมทั้งหลัง 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภา 35 ก็ยังเป็นการเขียนระบุเหตุการณ์และยังเป็นการนิรโทษกรรมคดีที่ยังไม่เกิดการฟ้องร้องด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาฟ้องเจ้าหน้าที่ย้อนหลังมากกว่า หรือแม้กระทั่งการนิรโทษกรรมคดีกบฏในปี 2499 ก็ยังต้องอาศัยคณะกรรมการไปประสานหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สั่งยุติคดีหรือสั่งปล่อยตัวจากเรือนจำ

เงื่อนไขและมาตรการจะได้รับการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย?

ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อในประเด็นการวางเงื่อนไขและมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำซึ่งอาจจะไม่ถูกยอมรับจากผู้ที่ถูกกล่าวหาเนื่องจากมีมุมมองว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก ในขณะที่อีกฝ่ายก็อาจจะเห็นต่างกัน จนไม่เข้าสู่กระบวนการสานเสวนา ทาง กมธ.มองว่ามีกลไกอะไรที่จะทำให้เกิดการสานเสวนาขึ้นได้

ชัยธวัชกล่าวว่ากระบวนการสานเสวนานี้เป็นเสมือนการเอาสองฝ่ายมาเจอกันคนละครึ่งทาง เช่น การเอาผู้ถูกกล่าวหามาสานเสวนากับประชาชนอีกฝ่ายที่เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีไว้เป็นจำนวนมากหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองก็ด้วย เพื่อเป็นเงื่อนไขเพื่อให้คดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการซึ่งเมื่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเข้ามาแล้วก็ต้องมีกระบวนการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นอย่างการชะลอฟ้องหรือปล่อยตัวชั่วคราวหรือหยุดจำหน่ายคดีชั่วคราว

“ผมย้ำว่านี่ไม่ใช่กระบวนการสารภาพผิดนะ ผมใช้ว่ามันคือการ Testimony หรือก็คือการแถลงข้อเท็จจริง หรืออีกฝ่ายอยากมาให้ความจริงอีกด้านก็มา ต้องแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็ค่อยมาดูกันว่าคดีร้ายแรงแค่ไหนแล้วค่อยมากำหนดมาตรการ”

ชัยธวัชกล่าวว่าที่ต้องมาดูเนื้อหาคดีกันต่อเนื่องจากว่าถ้าเป็นกรณีไม่ร้ายแรงหรือมีการตั้งข้อหาเกินจริงเป็นการกลั่นแกล้งกันก็อาจจะไม่มีเงื่อนไขเลยก็ได้ หรือกรณีไหนถ้าร้ายแรงก็อาจจะมีการกำหนดมาตรการเข้มขึ้นมาตามลำดับ

ส่วนเรื่องมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีคนห่วงกังวลว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วเกิดการกระทำขึ้นอีกจะทำอย่างไร แม้ว่าก่อนหน้านี้ในที่ประชุมจะมี กมธ.บางคนเสนอขึ้นรูปแบบการนิรโทษกรรมในต่างประเทศขึ้นมาแต่เป็นรูปแบบที่ใช้กับกรณีอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ให้ผู้กระทำผิดออกมาแถลงและสัญญาว่าจะไม่ทำอีก แต่เขาเห็นว่าในบริบทไทยก็ยังต้องเอามาปรับเพราะการนำตัวแบบนี้มาใช้กับคดีอย่างเช่น คดีชุมนุมถ้าจะเอาตัวแบบนี้มาใช้ก็คือการบอกผู้ถูกกล่าวหาว่าไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ก็จะมีคำถามตามมาว่าจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

ทั้งนี้ชัยธวัชกล่าวว่าตัวอย่างรูปธรรมในรายละเอียดเหล่านี้จริงๆ แล้ว ในที่ประชุม กมธ.ก็ยังไม่ได้ตกผลึกทั้งหมด นอกจากในส่วนของหลักการที่คุยจนได้ข้อเสนอมาบ้างแล้ว ส่วนสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้มีข้อเสนออะไรมาเพราะเขาก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรม

“พอออกมาเป็นกฎหมายจริงก็ต้องไปดูในรายละเอียดอีกและรายละเอียดก็ไม่ควรไปอยู่ในกฎหมาย แต่ควรเป็นอำนาจของคณะกรรมการในการกำหนด ซึ่งก็อาจจะต้องแล้วแต่เคสเลย แต่ละเคสก็อาจจะมีเงื่อนไขหรือกระบวนการไม่เหมือนกัน แต่เราพยายามบอกว่าแทนที่จะให้เขามาสารภาพผิด ก็ให้เขามาแถลงข้อเท็จจริงสานเสวนาฟังจากอีกฝั่งหนึ่งด้วยที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ถ้ามันจะพอเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วว่าคิดแบบนี้ ฝ่ายการเมืองก็ฟังไปเผื่อว่าจะมีไอเดียอะไรในการแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีกก็ว่ากันไป” ชัยธวัชอธิบายแนวคิดของการออกข้อเสนอมาครั้งนี้ของ กมธ. ก็เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้แต่ละฝ่ายได้มาพูดสิ่งที่ตัวเองคิด

ชัยธวัชกล่าวว่า แม้ทางพรรคก้าวไกลจะยืนยันว่าต้องมีการนิรโทษกรรม แต่ในความเป็นจริงการไม่มีกระบวนการมารองรับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับได้ก็อาจจะถูกปิดประตูใส่ตั้งแต่ต้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net