Skip to main content
sharethis

“ชัยธวัช” แถลงหลังประชุม กมธ.นิรโทษกรรมฯ ที่ประชุมมีมติให้ คณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ พิจารณาทุกคดีตั้งแต่ 48-ปัจจุบัน ส่วนคดีม.112 เสนอให้สภาพิจารณา 3 ทางเลือก ไม่นิรโทษ-นิรโทษ-นิรโทษแบบมีเงื่อนไข เงื่อนไขเช่น แถลงข้อเท็จจริงเข้าสู่การสานเสวนากับคู่กรณีเพื่อหามาตรการป้องกันทำผิดซ้ำ แต่ระหว่างรอนิรโทษ ให้ชะลอฟ้อง ให้สิทธิประกันตัว

25 ก.ค.2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม(กมธ.นิรโทษกรรม) แถลงข่าวหลังการประชุมของ กมธ.นัดสุดท้าย โดยเริ่มจากกล่าวถึงขั้นตอนต่อจากนี้ว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการสรุปรายงานอย่างเป็นทางการและจะนำบรรจุเข้าที่ประชุมสภาให้เร็วที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น ชัยธวัช กล่าวถึงเนื้อหาการประชุมวันนี้ว่าในที่ประชุมเห็นเห็นว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่สามารถกำหนดฐานความผิดไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการเฉพาะหรือไม่สามารถนิรโทษกรรมให้คดีใดคดีหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเป็นการเฉพาะได้ เพราะช่วงเวลาของเหตุการณ์เกือบ 20 ปี มีพฤติการณ์หลากหลายแบบและหลากหลายฐานความผิดมาก

ที่ประชุมจึงเห็น่วา การตรากฎหมายที่จะสอดคล้องที่สุดคือการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่า คดีใดบ้างควรจะได้นิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ.นิรโทษกรรมฯ ก็ให้นิยามว่าเป็นคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่หมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง และกรอบเวลาที่จะนำมาพิจารณานิรโทษกรรมคือนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548- ปัจจุบัน

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวถึงประเด็นเรื่องควรจะมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ใน กมธ.มีความเห็นต่างกันพอสมควร ในส่วนนี้ กมธ. สัดส่วนของพรรคก้าวไกลและจากบุคคลภายนอกรวมถึงจากอัยการ ก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย แต่ในสังคมและใน กมธ.ก็ยังมีความเห็นต่างกันพอสมควรจึงมีการรวบรวมความคิดเห็นทุกแบบในรายงานเพื่อสเนอให้รัฐสภาพิจารณาอย่างรอบด้าน

ชัยธวัชกล่าวว่าตอนนี้ใน กมธ.มีข้อเสนอแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112  กลุ่มที่สองเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมือนความผิดอื่นๆ และกลุ่มที่สามเห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เมื่อใน กมธ.นิรโทษกรรมฯ เห็นว่ายังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลายท่านที่แม้จะเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพราะอยากเห็นการลดความขัดแย้ง แต่ก็ยังมีความกังวลหลายอย่างโดยเฉพาะว่าถ้านิรโทษกรรมไปแล้วจะเกิดปัญหาว่าจะมีการแสดงออกอีกแล้วมีการดำเนินคดีอีกหรือไม่ จึงควรจะมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาต่างจากฐานความผิดอื่นๆ

เงื่อนไขพิจารณานิรโทษฯ และมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำ

ชัยธวัชระบุว่าในที่ประชุมเห็นว่าเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อที่จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรม ก็คือผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ที่ถูกศาลพิพากษาแล้ว หากต้องการนิรโทษกรรมจะต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนเพื่อเข้าสู่กระบวนการ และองค์ประกอบที่สองก็มีข้อเสนอว่านอกจากมีเงื่อนไขแล้วก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ก็ควรมีมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ผู้ที่ถูกกล่าวหาบางคนก็ยังมีข้อต่อสู้ว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด แต่ว่าเราเรียกมาตรการรวมๆ ว่าเป็นมารกการป้องกันทำผิดซ้ำ

ชัยธวัชยกตัวอย่างในส่วนของเงื่อนไขก่อนได้รับการพิจารณาว่าจะได้นิรโทษกรรมหรือไม่ เช่น ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาทำผิดหรือผู้กระทำผิดมาแถลงข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นต้นเหตุหรือแรงจูงใจให้เกิดการกระทำแบบนั้น แล้วก็ให้มีการสานเสวนาโดยเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิดได้พูดคุยกับคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน กระบวนการนี้ก็จะนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการป้องกันการกระทำความผิดได้ในภายหลัง

ชัยธวัชอธิบายว่า กระบวนการนี้มีความสำคัญตรงที่ กมธ.มีความเห็นว่า การมีกระบวนการแบบนี้จะทำให้การกำหนดมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกันโดยขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ในคดีเพราะบางพฤติการณ์อาจจะถูกมองว่ามีความรุนแรงไม่เหมือนกันพฤติการณ์ในบางคดี หรือเป็นคดีที่มีความชัดเจนว่ามีการตั้งข้อหาแรงเกินจริงเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ควรถูกตั้งข้อหาแรงขนาดนี้ ดังนั้นการมีเงื่อนไขหรือมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำก็จะทำให้แต่กรณีมีไม่เหมือนกัน

ข้อดีของการสานเสวนาให้ผู้กระทำผิดได้แถลงข้อเท็จจริงและได้คุยกับคนเห็นต่างกันหรือคู่กรณีก็อาจจะทำให้เกิดการยอมรับกนัและลดช่องว่างในความเข้าใจซึ่งกันและกันของกลุ่มที่เห็นแตกต่างกัน อีกทั้งเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรเองจะ ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำความผิดเพื่อไปหากุศโลบายทางการเมืองที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีตขึ้นอีก และเป็นเงื่อนไขที่จะสร้างการยอมรับให้กับคนที่มีความกังวลไม่อยากให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย

ส่วนองค์ประกอบที่สอง เรื่องมาตรการป้องกันทำผิดซ้ำ เมื่อเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมผ่านแล้ว คณะกรรมการนิรโทษกรรมอาจเห็นว่าควรจะต้องมีการกำหนดมาตรการป้องกันทำซ้ำ เช่น ให้ยอมรับข้อตกลงที่จะห้าม หรืองดการกระทำบางอย่างในช่วงเวลาที่กำหนด  แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องมาตรการนี้ ก็คือในระหว่างที่คดีนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็มีข้อเสนอว่าควรจะมีมาตรการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นเช่น ชะลอการฟ้อง การให้สิทธิประกันตัวมาก่อนหรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เพราะคดีที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการอย่างมีเงื่อนไขแบบนี้ อาจจะใช้เวลามากกว่าคดีอื่นๆ

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันทำผิดซ้ำนี้ก็อาจมีมาตรการอื่นๆ หลังได้รับนิรโทษกรรมด้วย เช่น เกิดการละเมิดเงื่อนไขก็อาจจะเสียสิทธิ์ได้รับนิรโทษกรรม หรือให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมต้องมารายงานตัวเป็นระยะ หรือเข้ากระบวนการสร้างความปรองดองร่วมกันหลังได้นิรโทษกรรมแล้วเป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอของ กมธ. บางคน ที่เสนอคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันก็คือว่า ไม่ได้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ทันทีแต่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรมก่อน โดยให้มีการสานเสวนาหรือแถลงอะไรก่อน จนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ค่อยพิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ แต่ระหว่างกระบวนการก็ต้องมีการอำนวยความยุติธรรมเช่นการปล่อยตัว ชะลอการฟ้อง จำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการมีความเห็นว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่

ชัยธวัชกล่าวถึงอีกข้อหาหนึ่งที่ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรมคือ คดีที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะความผิดต่อชีวิตไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ กมธ.เห็นว่าเมื่อรายงานเข้าสู่สภาแล้ว ครม.ควรรีบพิจารณาทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลออกมาโดยเร็ว และในระหว่างที่ยังไม่มีการนิรโทษกรรมรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารต้องมีบทบาทสำคัญที่จะมีนโยบายประสานกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมก่อนด้วย เช่น ชะลอฟ้องจนกว่าจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ให้สิทธิประกันตัวหรือจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่ากฎหมายจะออกมา สุดท้ายเมื่อ กมธ.ทำรายงานเสร็จแล้วและส่งเข้าสภาแล้วก็จะส่งรายงานให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วขอให้มีการรายงานกลับมาที่รัฐสภาใน 60 วันว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้างตามข้อเสนอของ กมธ.

ช่วงเปิดให้นักข่าวถาม ชัยธวัชตอบเพิ่มเติมว่าข้อเสนอเรื่องเงื่อนไขหรือมาตรการที่พอจะยอมรับกันได้มากที่สุดอย่างการนิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไขก็เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากความพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน รายงานที่เข้าสู่สภาก็จะมีความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งข้อดีข้อเสียของการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แล้วสมาชิกสภาก็จะวิเคราะห์ว่าถ้าไม่นิรโทษกรรมแล้วข้อดีคืออะไรข้อเสียคืออะไรและถ้านิรโทษกรรมจะมีข้อดีข้อเสียคืออะไร เพื่อให้สมาชิกสภาได้พิจารณาอย่างรอบด้าน แล้วก็หวังว่าเมื่อรายงานเข้าสู่สภาก็จะไม่เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง แต่มีบรรยากาศรับฟังซึ่งกันและกันอย่างมีวุฒิภาวะ เพราะถ้าในสภาเองบรรยากาศยังไม่ปรองดองหรือเปิดใจรับฟังกัน การออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งก็คงไม่บรรลุ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net