Skip to main content
sharethis

หลังมีผลการประชุม กมธ.นิรโทษกรรมออกมาเมื่อวานนี้ “พูนสุข” จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสะท้อนข้อกังวลของทิศทางการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งประเด็นการตกหล่นของคดีที่เกิดจากปัญหาการใช้นโยบายเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และการสานเสวนาที่ผู้ถูกดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการโดยอำนาจไม่เท่าเทียมกันจนถึงมาตรการตามหลังที่เป็นการละเมิดสิทธิซ้ำ

26 ก.ค.2567 หลังจากมีผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม(กมธ.นิรโทษกรรม) และเริ่มเห็นทิศทางการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ที่ขณะนี้ทาง กมธ.มีข้อเสนอไว้ 3 ตัวเลือกที่จะต้องเข้าไปพูดคุยกันต่อในสภา คือ 1. ไม่นิรโทษกรรม 2.นิรโทษกรรมทั้งหมด และ 3.นิรโทษกรรมโดยมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงความเห็นในฐานะที่ทำงานผลักดันการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง แสดงความเห็นถึงทิศทางดังกล่าวที่ทาง กมธ.นิรโทษกรรมเสนอมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ให้คณะกรรมการพิจารณาหมดอาจตกหล่น

พูนสุขเริ่มจากกล่าวถึงประเด็นเรื่องคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายว่า ตัวคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ดุลยพินิจในการนิรโทษกรรมอยู่ทางของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเองก็มีข้อเสนอในส่วนนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เธอก็มองว่าในบางฐานความผิดเป็นคดีทางการเมืองโดยแท้อย่างเช่นคดีมาตรา 112 และสามารถให้นิรโทษกรรมไปได้เลยโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการมาพิจารณา แม้ว่าจะมีบางฐานความผิดที่ยังจำเป็นต้องให้คณะกรรมการมาพิจารณาว่าเป็นคดีการเมืองหรือเปล่า ซึ่งทางศูนย์ทนายความฯ ก็เสนอตามในร่างกฎหมายของเครือข่ายฯ ที่กำหนดไว้ 5 ฐานความผิด

เครือข่ายนิรโทษกรรมเสนอไว้อย่างไร?

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน กำหนด 5 ฐานความผิดหลักที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทันทีหากกฎหมายบังคับใช้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ประกอบด้วย

  1. ความผิดประกาศคำสั่งของ คสช.
  2. คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57
  3. คดี ม.112
  4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548
  5. คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
  6. คดีอื่นๆ ที่มีข้อหาตาม 1-5 ร่วมด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทนายความให้ความเห็นเรื่องการเอาคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการเป็นคนพิจารณาอาจจะเยอะไป และยังมีข้อกังวลถ้าดูจากแรงจูงใจอย่างเดียวอาจจะทำให้คนบางกลุ่มตกหล่นทั้งที่ได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารหรือกฎหมายแบบมาตรา 112

บางคนเข้าได้รับผลโดยที่เขาอาจจะไม่ได้มีเหตุจูงใจทางการเมืองเลย เช่น คดีของคนป่วยจิตเวชหรือคดีปืนโบราณ ที่เป็นข้อหาครอบครองอาวุธที่ขึ้นทะเบียนไม่ได้ก็เป็น 90% ของคดีพลเรือนในศาลทหารและส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวกับคดีการเมืองด้วยแม้กระทั่งคดีอาญาของทหารในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้การพิจารณาคดีเหลือแค่ในศาลชั้นต้นเพียงชั้นเดียวแล้วจบเป็นคดีเด็ดขาดสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่ได้ก็เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบในทางนโยบายก็จะไม่ถูกรวมเข้ามาถ้าแค่ดูจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างเดียว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สัดส่วนกรรมการอาจเป็นคนในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า

ทั้งนี้ในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมา แต่พูนสุขให้ข้อสังเกตจากการติดตามดูบันทึกประชุมของ กมธ.นิรโทษกรรมไว้ด้วยว่า ในที่ประชุมมีเพียงการเสนอให้องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะตั้งมาตามกฎหมายมีสัดส่วนเป็นคนจากองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทางเครือข่ายเคยเสนอให้องค์ประกอบของคณะกรรมการมาจาก สส.เป็นหลักเพราะเป็นตัวแทนของประชาชนเพราะเห็นว่าการนิรโทษกรรมนี้ไม่ได้มาตัดสินว่าใครถูกใครผิด เพียงแค่ให้มาพิจารณาว่าอะไรคือเหตุจูงใจทางการเมือง

แยกพิจารณาม.112 แต่คดีกบฏ-สลายชุมนุมกลับไม่ถูกแยก ยิ่งถูกตั้งคำถาม

ส่วนคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ในทางสากลหรือจากมุมสิทธิมนุษยชนมองมันไม่ควรถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำเพราะมันยังอยู่บนฐานของเสรีภาพการแสดงออก หรือถ้ามองจากมุมความรุนแรงทางกายภาพก็ไม่มีเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ในคดีที่มีความรุนแรงมากกว่าหรือคดีที่มีโทษหนักกว่ากลับไม่เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต้องจนแยกพิจารณาในลักษณะเดียวกันอย่างเช่นความผิดฐานกบฏมาตรา 113 หรือการสลายการชุมนุม

“ยิ่งขับเน้นความขัดแย้งของสังคมไทยในเรื่องตำแหน่งแห่งที่หรือสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่มันดำรงอยู่ในปัจจุบัน”

พูนสุขกล่าวว่า การที่คดีมาตรา 112 ถูกแยกมาแบบนี้ยังสะท้อนถึงอำนาจที่ยังไม่เท่ากันและการสานเสวนานี้ยังไม่ได้เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งจริงๆ แต่เป็นการกดคนบางกลุ่มไว้ ตัวกระบวนการและเงื่อนไขที่กำหนดก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย เช่นการกำหนดไว้ห้ามพูดหรือห้ามวิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไว้ 3-5 ปี ก็เป็นเรื่องที่มีข้อกังวลอยู่แต่เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังต้องรอดูไปก่อน

“การกำหนดเงื่อนไขลักษณะเช่นนี้ ทำเหมือนกับว่าฉันมีกระบวนการให้นะฉันเปิดประตูให้นะ เป็นเธอที่ไม่เดินเข้ามาเองเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการเอง นี่คือการผลักภาระให้คนที่ถูกดำเนินคดี”

พูนสุขสะท้อนว่าเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่ามันควรจะมีกระบวนการแบบนี้หรือเปล่า มันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า และมันนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เครื่องมือที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่ดี

การสานเสวนาต้องไม่ใช่การไต่สวนให้สารภาพ

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวถามว่ามองเรื่องความกังวลของทางฝั่ง กมธ.นิรโทษกรรมว่าการไม่มีกระบวนการสานเสวนาอยู่จะทำให้ฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้เจอพูดคุยกันเพื่อหาทางคลี่คลายความขัดแย้งว่าอย่างไร

พูนสุขกล่าวว่ามีกระบวนการสานเสวนาได้ แต่จะทำอย่างไรให้อำนาจของคนที่เข้าร่วมกระบวนการสานเสวนามันเท่ากันได้จริงๆ เพราะว่า ถ้าคนที่เข้าสู่กระบวนการสานเสวนาต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรมก็จะทำให้อำนาจของแต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน

ทนายความกล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่งว่า ในกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาเข้าสู่กระบวนการสานเสวนา เขาจะได้รับการคุ้มกันแค่ไหนที่จะได้พูดหรือได้อธิบายข้อเท็จจริงว่าทำไมเขาถึงต้องดำเนินคดีหรือมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังในการดำเนินคดีของเขาหรือไม่

“ทำยังไงไม่ให้มันเป็นกระบวนการไต่สวนเพื่อให้บางกลุ่มรับสารภาพ เราคิดว่าถ้ามี(สานเสวนา) มีได้แต่ทำยังไงให้อำนาจมันเท่ากันแล้วมันไม่ใช่เงื่อนไข” พูนสุขย้ำ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net