Skip to main content
sharethis

เพื่อนนักกิจกรรมของ "บุ้ง ทะลุวัง" จัดกิจกรรมและเสวนาครบ 112 วัน บุ้งเสียชีวิตระหว่างคุมขังในคดีม.112 มีข้อเรียกร้องให้คดีการเสียชีวิตของบุ้งจะได้รับการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมและจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2 ก.ย. 2567 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLAW) กลุ่มมวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “112 วัน บุ้งยังไม่ได้รับความยุติธรรม” เพื่อรำลึกถึง เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมือง ที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ภายในงานมีการเสวนา ในช่วงเวลา 18:00 น. มีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ “112 วัน ความยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับ และความอยุติธรรมที่ลืมไม่ลง”

วิทยากรที่มาร่วมเวทีได้แก่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ คปช.53, อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง สื่อมวลชนอาวุโส , พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักกิจกรรม กลุ่มทะลุวัง ดำเนินรายการโดย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลุ่มทะลุแก๊ซ

กิจกรรมเขียนโปสการ์ด เพื่อรำลึกถึงบุ้ง

พรรณิการ์ กล่าวว่า ความอยุติธรรมที่เธอต้องประสบในการทำงานการเมืองไม่อาจจะเปรียบเทียบกับกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมและกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในกรณีของเนติพรคือ ยิ่งประชาชนที่ไม่มีต้นทุนในการต่อสู้ยิ่งมีราคาที่ต้องจ่ายสูงและจ่ายแพงที่สุดในประเทศนี้แต่คนที่มีต้นทุนกลับไม่ต้องจ่ายอะไรเลยแถมได้รับอยู่เสมอในประเทศนี้

พรรณิการ์ กล่าวว่า การต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยนักการเมืองและพรรคการเมืองเพราะก็ต้องใช้ในการไปยกมือในสภาเพื่อผ่านกฎหมายในขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ต้องพึ่งประชาชนเป็นกำลังหนุนนอกสภา ถ้าขาดซึ่งกันและกันก็จะไม่บรรลุผล เป็นความแน่นแฟ้นที่ขาดกันไม่ได้ระหว่างนักการเมืองในสภาและประชาชนที่เคลื่อนไหวนอกสภาที่มีเป้าหมายเดียวกันแต่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ประเด็นจึงมีว่าจะทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวอย่างปลอดภัยและมีเสรีภาพได้อย่างไร  แม้รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้แต่ก็มีแค่ในกระดาษแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

กรรมการบริหารของก้าวหน้ากล่าวด้วยว่า กฎหมายที่ใช้ในการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนก็คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเหมือนกับปิดประตูการแก้ไขมาตรา 112 ไปแล้วแต่เธอมองว่ายังสามารถแก้ไขได้ในอนาคต แต่ก็ตอบแทนพรรคประชาชนไม่ได้ว่าจะยังทำเรื่องนี้หรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของการใช้มาตรา 112 ย่ำแย่ลงมากในระยะเวลา 5 ปีนี้ จึงเป็นเรื่องต้องผลักดันกันในอนาคต

พรรณิการ์ วานิช

อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์ก็เห็นว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุอย่างการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เธอเชื่อว่าการผลักดันโดยหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่แม้แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ต้องการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน ก็อาจจะทำให้เรื่องเกิดขึ้นได้สำเร็จ

นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่เขามีต่อกระทรวงยุติธรรมให้เปิดเผยรายละเอียดการเสียชีวิตของเนติพรเพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาถึงรายละเอียดการเสียชีวิตแม้ว่าสื่อต่างๆ จะมีการรายงานรายละเอียดการแพทย์มาบางส่วนแล้วในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลแพทองธารจะต้องรับผิดชอบแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาก็ตาม ส่วนเรื่องความยุติธรรมในประเทศนี้เขามองว่าถ้าจะเริ่มแก้ก็ต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญก่อนเพราะเรื่องสิทธิ์ที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และได้ประกันตัวที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ก็ควรจะถูกแก้ไขด้วยเช่นการให้สิทธิ์ในคดีความมั่นคงก็ตาม

ส่วนประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม นพ.เหวง มองต่างจากพรรณิการ์ในส่วนที่เป็นคดีมาตรา 112 ที่เขาเห็นว่ามีโอกาสที่จะได้รับการนิรโทษกรรมน้อยมากแม้ว่าจะเกิดการนิรโทษกรรมคดีการเมืองก็ตาม และเมื่อจะกลับมาพูดถึงเรื่องการคืนความยุติธรรมให้เนติพรก็คือการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจไปถึงศาล แต่สำหรับเขาความอยุติธรรมทางการเมืองเป็นปัญหาที่สุดจึงคิดว่าจะต้องหยุดการรัฐประหารด้วยการจับพวกนักรัฐประหารเข้าคุกให้ได้

อธึกกิต แสวงสุข

อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่แบบทะลุเพดานและมีความเป็นอิสระสูงแต่เมื่อมาถึงช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังเกิดขึ้นเป็นช่วงที่กำลังเกิดกระแสความเกลียดชังต่อการชุมนุมทางการเมืองและมาจับผิดกลุ่มทะลุวัง แต่เมื่อมองภาพสื่อไทยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสายคลิกเบทหรือเรียกยอดวิวที่พาดหัวหวือหวา หรือสิ่งที่เกิดกับทานตะวันเองในกรณีขบวนเสด็จสื่อก็ไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรจริงๆ ทำให้เห็นถึงสภาพสังคมปัจจุบันมีความต้องการระบายความเกลียดชังสูงและทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีและรู้สึกสะใจแต่ไม่มีความเอาใจเขามาใส่ใจเรา

อธึกกิตกล่าวต่อว่าอีกด้านก็คือการรายงานถึงนักกิจกรรมแบบทานตะวัน เนติพร หรือหยกเป็นเหยื่อ คือแทนที่จะสนใจประเด็นที่พวกเขาจะสื่อสารจากการแสดงออก แต่สื่อกลับไปดูว่าคนเหล่านี้เป็นคนนิสัยดีหรือเปล่า เขาจึงมองว่าสื่อมวลชนก็ควรที่จะมีความเที่ยงตรงต่อการรายงานประเด็นที่มีความอ่อนไหวตรงไปตรงมาในการนำเสนอข่าว ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นเหยื่อด้วย

ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงความคืบหน้าในคดีการเสียชีวิตของเนติพรว่ากระบวนการที่ผ่านมาแล้วมีการชันสูตรศพไปแล้วโดยทางตำรวจ สภ.คลองหลวงและได้ส่งสำนวนให้กับอัยการศาลจังหวัดธัญบุรีแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาก่อนส่งให้ศาลเริ่มกระบวนการไต่สวนการตาย ซึ่งเธอหวังว่าคดีการเสียชีวิตของเนติพรนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ทุกคนที่เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองรวมถึงผู้ต้องขังทุกคนมีมาตรฐานชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ เพื่อนนักกิจกรรมของเนติพรกล่าวว่า ที่เนติพรออกมาต่อสู้เพราะมองว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และข้อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ช่วยแค่นักโทษคดีทางการเมือง แต่ยังรวมถึงผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ และประชาชนที่รอคอยการเปลี่ยนแปลง ตนขอฝากให้ทุกคนช่วยติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุ้ง และเชื่อว่า จะต้องมีสักวันที่ความจริงจะปรากฏ และมีผู้มีอำนาจจะต้องได้รับรู้ในสิ่งที่ตัวเองนั้นทำ

ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net