Skip to main content
sharethis

การศึกษาใหม่ชี้หลังสงครามเย็นระบอบการปกครองทางการเมืองยังคงมีความสำคัญในการแข่งขันกีฬา ประเทศประชาธิปไตยประสบความสำเร็จด้านเหรียญรางวัลในโอลิมปิกฤดูร้อน แต่สำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวกลับมีความซับซ้อนมากขึ้น


เหรียญรางวัลโอลิมปิกซิดนีย์ปี 2000 | ที่มาภาพ: John/Flickr (CC BY-SA 2.0)

เว็บไซต์ Play the Game ของสถาบันศึกษากีฬาแห่งเดนมาร์ก (Idan) ที่มีเป้าหมายมุ่งยกระดับมาตรฐานจริยธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย ความโปร่งใส และเสรีภาพการแสดงออกในวงการกีฬาโลก รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2024 รายงานว่าตามการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร 'International Journal of Sport Policy and Politics' พบว่าประเทศประชาธิปไตยได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น - โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน

การศึกษานี้โดยราสมุส เค. สตอร์ม (Rasmus K. Storm) ผู้อำนวยการวิจัยที่ Idan และทอร์ จอร์จ จาคอปเซ่น (Tor Georg Jakobsen) จาก Norwegian University of Science and Technology ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครองทางการเมืองและความสำเร็จทางการกีฬาโดยใช้ข้อมูลจากการแข่งขันโอลิมปิก

ฐานข้อมูลนี้ครอบคลุมโอลิมปิกฤดูร้อนตั้งแต่ปี 1996 ที่แอตแลนตา ถึงโอลิมปิก 2020 (แต่แข่งขันจริงปี 2021) ที่โตเกียว และโอลิมปิกฤดูหนาวตั้งแต่ปี 1994 ที่ลีลแฮมเมอร์ ถึง 2022 ที่ปักกิ่ง โดยรวมข้อมูลจาก 149 ประเทศในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนและ 90 ประเทศในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ตลอดช่วงเวลาที่วิเคราะห์ และพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น GDP ต่อหัวประชากร การใช้จ่ายทางทหาร และความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ในช่วงสงครามเย็น เหรียญโอลิมปิกส่วนใหญ่ถูกครองโดยประเทศเผด็จการสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1989 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเปิดโอกาสให้ประเทศประชาธิปไตยตะวันตกขึ้นมาท้าทายในการแข่งขันโอลิมปิก

ประเทศต่าง ๆ มุ่งหวังความสำเร็จทางการกีฬา

ความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในกีฬาและระบอบการปกครองทางการเมือง เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมาก จากทั้งมุมมองทางวิชาการและการเมือง การศึกษานี้เน้นถึงความเชื่อมโยงที่ยังคงมีอยู่ระหว่างกีฬาและการเมืองระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น การแสวงหาความสำเร็จทางการกีฬาระหว่างประเทศยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ ชัยชนะของนักกีฬา และการจัดงานมหกรรมกีฬาสำคัญ ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศและแสดงถึงความเข้มแข็งของระบอบการปกครองและประเทศต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่ปักกิ่ง, ฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล, โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่โซชิ และฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์

มหกรรมกีฬาเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งสัญญาณถึงความทะเยอทะยานของประเทศเจ้าภาพ ที่ต้องการได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจ ไม่ว่าจะในกีฬา หรือในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะเดียวกัน ประเทศเจ้าภาพหลายแห่งก็มีเป้าหมายที่จะประสบความสำเร็จทางการกีฬาและเน้นย้ำถึงความสำคัญของตนบนเวทีโลก

ระบอบการปกครองยังคงมีความสำคัญ


ตารางแสดงประเภทระบอบการเมืองและสัดส่วนเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน | ที่มา: Play the Game

ผลการศึกษาที่สำคัญคือ ประเภทของระบอบการปกครองยังคงมีความสำคัญในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการปกครองแบบประชาธิปไตยและความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งประเทศประชาธิปไตยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านเหรียญรางวัล

สัดส่วนของเหรียญรางวัลในโอลิมปิกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แยกตามประเภทระบอบการปกครองของประเทศต่าง ๆ ตามที่กำหนดโดยคะแนน Polity5 ที่พัฒนาโดย Polity Project พบว่าประเทศประชาธิปไตยประสบความสำเร็จมากกว่า

Polity Project จัดประเภทคะแนนของประเทศจาก -10 ถึง +10 โดยมีช่วงคะแนนต่าง ๆ ที่แสดงถึงประเภทของระบอบการปกครองที่หลากหลาย คะแนนต่ำแสดงถึงระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เช่น จีน คะแนนสูงแสดงถึงระบอบการปกครองที่มีลักษณะประชาธิปไตยบางประการจนถึงประชาธิปไตยเต็มตัว อย่างสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนี

ความสำเร็จของประเทศประชาธิปไตยในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนมาจากหลายปัจจัย รวมถึงการล่มสลายของกลุ่มประเทศเผด็จการสังคมนิยม ทำให้นักกีฬาของประเทศเหล่านั้นขาดการสนับสนุนและทรัพยากรในการฝึกซ้อมและแข่งขัน นอกจากนี้ ประเทศประชาธิปไตยตะวันตกหลายประเทศเริ่มนำแบบอย่างการพัฒนากีฬา จากประเทศในกลุ่มประเทศเผด็จการสังคมนิยมมาใช้ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณและการสนับสนุนอย่างเป็นระบบแก่นักกีฬา

แนวทางใหม่นี้ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศประชาธิปไตย เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

แต่ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย กลับโดดเด่นในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

ตารางเหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวบอกเล่าเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น


ทัพนักกีฬารัสเซียในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่โซชีเมื่อปี 2014 | ที่มาภาพ: Wikimedia

การศึกษาชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า กลับโดดเด่นมากขึ้นในกีฬาฤดูหนาวเมื่อเทียบกับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน แม้ว่าโดยรวมแล้วประเทศประชาธิปไตยจะได้เหรียญรางวัลมากที่สุด ก็เพราะว่าจำนวนประเทศประชาธิปไตยที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวนั้นมีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการ เช่น จีนและเบลารุส ก็ได้เหรียญรางวัลมากเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและความสำเร็จจึงไม่ชัดเจนเหมือนในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

ข้อค้นพบเหล่านี้เน้นถึงพลวัตที่เกิดขึ้นในกีฬาฤดูหนาว ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกีฬาฤดูหนาวที่มีความเฉพาะเจาะจง (และมีค่าใช้จ่ายสูง) ก็มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์เช่นกัน บางประเทศเผด็จการที่โดดเด่นได้ลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานและนักกีฬา เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น รัสเซียที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวที่โซชิในปี 2014 และจีนในปักกิ่งในปี 2022

งานศึกษาชิ้นนี้ยังทำนายว่า ด้วยความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันกีฬาที่เหมือนสงครามเย็นอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ประเทศประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อรักษาตำแหน่งของตน

ความขัดแย้งในยูเครน รวมถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าการแข่งขันกีฬาระหว่างระบอบการปกครองทางการเมืองต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงในเร็ว ๆ นี้


ที่มา:
New study shows that democracies have outpaced autocracies in the Olympic race (Play the Game, 17/7/2024) 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net