Skip to main content
sharethis

บทความจากผู้บริหารสหภาพแรงงานนักกีฬาโลก (UNI World Players) ยกสถิติเม็ดเงินจากโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่สร้างรายได้ประมาณ 370,000 ดอลลาร์ฯ ต่อนักกีฬาผู้เข้าร่วมแข่งขัน 1 คน เรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มอบส่วนแบ่งที่ยุติธรรมให้กับนักกีฬา


ที่มาภาพ: Wikipedia

เว็บไซต์ Play the Game โดยสถาบันศึกษากีฬาแห่งเดนมาร์ก (Idan) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย ความโปร่งใส และเสรีภาพการแสดงออก ในวงการกีฬาโลก ได้เผยแพร่บทความ 
Olympic athletes deserve pay and prize money ที่เขียนโดยแมทธิว เกรแฮม (Matthew Graham) ผู้บริหารสหภาพแรงงานนักกีฬาโลก (UNI World Players) มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ...

ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2024 นี้ กรุงปารีสจะเปิดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 33 ซึ่งเป็นเวลา 100 ปี แล้วที่มีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งสุดท้ายในเมืองแห่งแสงสว่างนี้

โอลิมปิกทุกครั้งถูกโปรโมตว่าเป็นช่วงเวลาของสันติภาพ - เป็นโอเอซิสแห่งกีฬาที่หนีห่างจากความเป็นจริงอันโหดร้ายของโลกภายนอก นักกีฬา เจ้าหน้าที่ นักการเมือง ผู้ชม และตัวแทนภาคธุรกิจ ที่เข้าร่วมงานมหกรรมนี้จะได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลขนาดใหญ่ระดับโลก โอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสก็จะสร้างบรรยากาศพิเศษแบบเดียวกันนี้

แต่เบื้องหลังภาพลวงตา โอลิมปิกเปรียบเสมือนเครื่องจักรทำเงินขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2017-2021 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) สร้างรายได้ที่น่าตกใจถึง 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากการเป็นผู้สนับสนุน สิทธิ์การถ่ายทอดสด และค่าตั๋วจากผู้ชม

โอลิมปิกโตเกียว 2020 (แต่แข่งขันปี 2021) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สร้างรายได้ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับรายได้ประมาณ 370,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนักกีฬาผู้เข้าแข่งขัน 1 คน จากจำนวนผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 11,300 คน ที่เข้าร่วมเกม กระนั้นนักกีฬาเองแทบจะไม่ได้รับอะไรเลย

ประโยชน์โดยตรงเพียงอย่างเดียวที่นักกีฬาได้รับจาก IOC คือผ่านโครงการ 'ทุนโอลิมปิก' (‘Olympic Scholarship’) ซึ่งเสนอการสนับสนุนและความช่วยเหลือพิเศษให้กับผู้เข้าแข่งขันบางคนในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้มีข้อจำกัดอย่างมาก เท่ากับเพียง 0.6% ของรายได้ตลอดการแข่งขันโอลิมปิก

การหลอกลวงครั้งใหญ่ครั้งนี้ IOC ได้อาศัยภาพลักษณ์ของประเพณีของ 'กีฬาสมัครเล่น' ผ่านโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวแห่งโอลิมปิก' ที่ IOC อ้างว่าได้แจกจ่ายรายได้ 90% ให้กับสมาชิกของตน - คณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาติและสหพันธ์กีฬานานาชาติ

องค์กรเหล่านี้มักดำเนินงานด้วยความโปร่งใสน้อยมากและมีอิสระในการใช้เงินตามดุลยพินิจของตน โดยมีการควบคุมดูแลน้อยมาก ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจัดลำดับความสำคัญและจัดผลประโยชน์ให้นักกีฬาอย่างไร จึงไม่แปลกใจเลยที่นักกีฬาจะอยู่ในอันดับสุดท้าย เมื่อพูดถึงการแบ่งปันความมั่งคั่งมหาศาลที่พวกเขาสร้างขึ้น

ถึงแม้ว่าบางประเทศจะเสนอเงินช่วยเหลือและรางวัลทางการเงินให้กับผู้ได้รับเหรียญรางวัลโอลิมปิก - และสหพันธ์กีฬานานาชาติ เช่น สมาคมกรีฑาโลก (World Athletics) ก็เริ่มให้คำมั่นว่าจะมอบค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ทำผลงานได้ดี - แต่นี่ยังคงไม่เพียงพอ แก่นแท้ของโอลิมปิกคือความมุมานะของนักกีฬา ที่ต้องฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดและเสียสละส่วนตัวมานานหลายปี ไม่ใช่แค่ผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลเพียงไม่กี่คน

ผลกระทบที่ร้ายแรงจากความไม่มั่นคงทางการเงินนี้ต่อนักกีฬาเป็นเรื่องจริงและลึกซึ้ง การวิจัยล่าสุดโดยมูลนิธิกีฬาของออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่านักกีฬาหลายคนต้องต่อสู้เพื่อให้สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการแข่งขันในเวทีที่ใหญ่ที่สุดของโลกและต้องทำงานหลายงานเพื่อสนับสนุนความฝันโอลิมปิกของตนเอง

46% ของนักกีฬาชั้นนำ มีรายได้น้อยกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ที่มาภาพ: (CC BY-NC-ND 2.0)

มีนักกีฬาโอลิมปิกที่โดดเด่นที่สุดของโลกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สามารถสร้างกำไรจากอาชีพของพวกเขา สำหรับนักกีฬาส่วนใหญ่แล้วนี่คือความจริงที่ห่างไกล การวิจัยของมูลนิธิกีฬาของออสเตรเลีย (The Australian Sports Foundation) แสดงให้เห็นว่า 46% ของนักกีฬาชั้นนำมีรายได้น้อยกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่ 42% รายงานว่ามีสุขภาพจิตที่แย่เนื่องจากความยากลำบากทางการเงิน ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสำหรับผลกระทบที่เลวร้ายต่อนักกีฬาหญิง ที่งานของพวกเธอมีความไม่มั่นคงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มีทางเลือกอื่น นักคริกเก็ตในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ได้รับประโยชน์จากโมเดลทางการเงินที่รับประกันว่ารายได้จำนวนมากถูกนำไปลงทุนในการพัฒนารากฐานของกีฬา ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้มีการแบ่งปันรายได้โดยตรงกับนักกีฬา โมเดลนี้มาจากการเจรจาโดยนักกีฬาผ่านสมาคมหรือสหภาพแรงงานนักกีฬา มันจะรับรองทั้งการเติบโตของธุรกิจกีฬา และนักกีฬาที่ขับเคลื่อนวงการกีฬาจะได้รับการตอบแทนอย่างยุติธรรม – นักกีฬาโอลิมปิกที่สร้างภาคภูมิใจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ควรได้รับกับสิ่งเดียวกันนี้

โอลิมปิกปารีสนี้ต้องเป็นจุดเปลี่ยน คำขวัญของโอลิมปิกคือ “เร็วกว่า สูงกว่า แกร่งกว่า – ด้วยกัน” (“Faster, Higher, Stronger – Together”) – ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ IOC ต้องมอบค่าตอบแทนกับนักกีฬาอย่างยุติธรรมแก่พวกเขา


ที่มา:
Olympic athletes deserve pay and prize money (Matthew Graham, Play the Game, 24 July 2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net