Skip to main content
sharethis

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ยุติการใส่กุญแจข้อเท้า 'อี ควิน เบอดั้บ' ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ถูกตำรวจไทยจับกุมในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ผสานวัฒนธรรมระบุ การใส่กุญแจข้อเท้าถือเป็นการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

2 ก.ย. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญารัชดา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะบุคคลเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายตามวงเล็บ 6 มาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน อี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา จากการที่มีผู้พบเห็นว่าเบอดั้บถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าที่ขาทั้งสองข้าง เมื่อนัดไต่สวนในวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพฤติการณ์การใส่โซ่ที่ข้อเท้าและชุดเครื่องแบบนักโทษดังกล่าว เป็นมาตรการที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ภายในคำร้องได้ขอให้ศาลไต่สวนโดยพลันเพื่อให้วินิจฉัยว่า กรณีกุญแจเท้าและการใส่ชุดนักโทษเบอดั้บ เมื่อนำตัวออกไปนอกเรือนจำ การเดินทางตลอดระยะทางระหว่างการมาศาล การเดินขึ้นห้องพิจารณาในเขตศาล การใส่ระหว่างการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลนั้น ชอบด้วย พรบ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 (4) หรือไม่ และวินิจฉัยด้วยว่าเบอดั้บถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพรบ. ทรมาน-อุ้มหาย มาตรา 6 หรือไม่ และขอให้มีคำสั่งยุติกาใส่กุญแจเท้าและชุดนักโทษทันที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้นำคำร้องยังได้ยกถึงตัวอย่างกรณี คำวินิจฉัยศาลปกครอง ปีพ.ศ. 2552 ในคดีหมายเลขดำที่ 747/2550 หรือคดีหมายเลขแดงที่ 1438/2552 ผู้ฟ้องคดีคือ มาล์คอม เดนิส ลิม เซียว พิง ชาวมาเลเซียผู้ต้องโทษประหารชีวิตฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครังเพื่อจำหน่ายฟ้องกรมราชทัณฑ์ ขอให้ปลดตรวนที่ตนถูกบังคับให้ใส่

กรณีดังกล่าว ศาลปกครองมีความเห็นว่า การใส่ตรวนนักโทษเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีลักษณะเป็นการทรมาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญไทยปี 2550 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และคำพิพากษาศาลปกครองยังระบุด้วยว่าการใส่ตรวนนักโทษเป็นการทำให้เสียหายต่อร่างกายขัดต่อ มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 1 และ 5 ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7, 10 (1) และขัดต่อกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 33 ที่ห้ามใช้โซ่ตรวนและเสื้อในการลงโทษ และใช้โซ่ตรวนในการจองจำไม่ได้ ส่วนเครื่องพันธนาการอื่นจะนำมาใช้ได้ต่อเมื่อเพื่อป้องกันการหลบหนีในการขนย้ายนักโทษ แต่ต้องถอดเครื่องพันธนาการออกเมื่อนักโทษปรากฏตัวต่อศาล หรือหน่วยงานบริหาร หรือด้วยเหตุผลทางการแพทย์ตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

ภายในวันเดียวกัน ศาลอาญาได้มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์ตามคำร้องแล้ว เห็นว่าเบอดั้บถูกจับกุมและควบคุมควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีตามพรบ.คนเข้าเมืองพ.ศ. 2522  ของศาลแขวงพระนครเหนือและถูกควบคุมตัวตามพรบ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ของศาลนี้ ซึ่งตามพรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (4) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีหน้าที่ควบคุมจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เพื่อควบคุมตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำ”

“ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่เรือนจำควบคุมตัวซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวออกไปยังศาลนี้ เมื่อการไต่สวนโดยใช้เครื่องพันธนาการในศาลนี้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายแรงอื่น อันเป็นการใช้อำนาจตามพรบ. ราชทัณฑ์ดังกล่าวแล้ว และไม่เป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ. 2565 มาตรา 6 จึงให้ยกคำร้อง” อนึ่ง ในกรณีนี้ทางมูลนิธิฯ จะอุทธรณ์คำสั่งต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามประเด็นการกระทำที่โหดร้ายฯ ดังกล่าวต่อไป รวมถึงความคืบหน้าของคดีส่งผู้รายข้ามแดนเบอดั้บอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการใส่ชุดด้วยเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นจะยุติลงในที่สุด  เพื่อให้เป็นไปตามพรบ.ทรมาน-อุ้มหาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายในประเทศ รวมถึงให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net