Skip to main content
sharethis

ศาลอาญารัชดานัดฟังคำพิพากษาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน 'อี ควิน เบอดั้บ' ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เวลา 13.00 น. จะถูกผลักดันกลับหรือไม่ ทั้งนี้ เบอดั้บได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการไปประเทศที่สาม แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนเสียก่อน

 

6 ก.ย. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานเมื่อวันที่ 30 ส.ค. และวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญารัชดา ไต่สวนพยานผู้ถูกร้องครบทุกปากจนเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 13.00 น. ในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน อี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์

การไต่สวนพยานในนัดวันที่ 30 ส.ค. 2567 เวลา 13.00 น. มีเพียงทนายความถามพยานฝั่งผู้ถูกร้อง รวม 2 ปาก คือ อี ควิน เบอดั้บในฐานะพยาน และพยานผู้เชี่ยวชาญ เสร็จการไต่สวนเวลา 15.25 น. และให้เลื่อนการถามค้านพยานทั้งสองปากไปนัดวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ร้องมีเหตุขัดข้องไม่อาจถามค้านได้

ต่อมา สำหรับการไต่สวนพยานในนัดวันที่ 2 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 น. เริ่มจากการถามค้านของพนักงานอัยการถามค้านเบอดั้บและพยานผู้เชี่ยวชาญปากที่ 1 ก่อน แล้วต่อด้วยการไต่สวนพยานผู้ถูกร้องอีก 2 ปากซึ่งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน คดีเสร็จการไต่สวนในเวลา 17.45 น. 

ผู้ร้อง (พนักงานอัยการ) และทนายผู้ถูกร้อง (เบอดั้บ) แถลงขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 2 ก.ย. 2567 ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 30 ก.ย. 2567 โดยรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่าเหตุที่ “นัดนาน” เนื่องจากคดีมีความซับซ้อน และศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งต้องเรียงหลายเรื่อง

การไต่สวนพยานในวันที่ 30 ส.ค. และวันที่ 2 ก.ย. 2567 เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ 807 ศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเข้าห้องพิจารณาดังกล่าว ในส่วนผู้สังเกตการณ์คดีถูกจัดให้เข้าสังเกตการณ์คดีผ่านการถ่ายทอดสดผ่านภาพจอภาพในห้องพิจารณาคดีที่ 701 ในวันนัดทั้งสองวันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 30 - 40 คน จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากประเทศเวียดนามซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในห้องสังเกตการณ์

เบอดั้บลี้ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เบอดั้บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุม โดยอ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและศาลในประเทศเวียดนามมีคำพิพากษาลงโทษเบอดั้บฐานก่อการร้ายจากเหตุจลาจลเมื่อปี 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก ซึ่งเบอดั้บให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของตนตลอดมาโดยเฉพาะเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวมองตานญาด เป็นการกระทำโดยสงบและไม่ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

คำพิพากษาในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดีนี้ เป็นคดีสำคัญที่อาจวางบรรทัดฐานในการบังคับใช้มาตรา 13 ของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ) ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย  ซึ่งในกรณีนี้เบอดั้บมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และอยู่ในกระบวนการพิจารณาการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม อีกทั้งยังมีแถลงการณ์และข้อห่วงใยจากหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งจากกลไกสหประชาชาติถึงความกังวลในการที่ประเทศไทยจะส่งบุคคลนี้กลับประเทศเวียดนาม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ขอเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามผลคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีนี้ ในวันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 13:00 น. ณ ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา รัชดา (สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีภายในห้องพิจารณา 701) การเข้าสังเกตการณ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้รัฐบาลไทยตระหนักว่าคดีของเบอดั้บกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยภาคประชาสังคมในประเทศไทยและหน่วยงานระหว่างประเทศ หากเบอดั้บถูกส่งกลับ กรณีของเบอดั้บอาจเป็นกรณีตัวอย่างของการปราบปรามข้ามชาติ (Transnational Repression) และเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) ที่กฎหมายไทยได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 13 ของพ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหายฯ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net