Skip to main content
sharethis

'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' เรียกร้องไทยปกป้องหลักประชาธิปไตย คาดหวังศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้องให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” ของ กกต. ในวันพรุ่งนี้ ระบุความพยายามยุบพรรคก้าวไกลเป็นการโจมตีโดยตรงต่อหลักการประชาธิปไตย และบั่นทอนต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างรุนแรง

 

6 ส.ค. 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องทางการไทยควรปฏิเสธความพยายามของ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ที่จะให้ยุบพรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้ง และสั่งห้ามผู้บริหารพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ฟอร์ตี้ฟายไรต์คาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องให้ยุบพรรคในวันพรุ่งนี้

“ความพยายามยุบพรรคก้าวไกลเป็นการโจมตีโดยตรงต่อหลักการประชาธิปไตย และบั่นทอนพันธกิจของประเทศไทยที่มีต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการใช้กฎหมายโจมตีพรรคฝ่ายค้านทางการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญต่อบูรณภาพของระบบเลือกตั้ง และประกันว่าพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินงานได้โดยไม่ถูกแทรกแซงอย่างไม่เป็นธรรม”

ในวันที่ 3 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยุบพรรคก้าวไกล และห้ามไม่ให้ผู้บริหารพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี คำร้องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพรรคก้าวไกลได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์

ในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อ้าง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่เห็นว่าข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การสนับสนุนให้แก้กฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามเพื่อ “ล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งขัดต่อมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญของไทย

ในคำแก้ต่างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 พรรคก้าวไกลอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และกระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย พวกเขายืนยันว่าคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเสนอแก้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และพรรคไม่ได้มีเป้าหมายล้มล้างระบอบการปกครอง ประการสุดท้าย ในคำแก้ต่างยังย้ำว่า การสั่งยุบพรรคการเมืองควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ซึ่งคำสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรได้สัดส่วน และควรจำกัดให้มีผลเฉพาะกับกรรมการบริหารพรรคบางคนเท่านั้น อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามสมาชิกพรรคจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย

ข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เสนอให้ลดโทษจำคุกสูงสุด กรณีที่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์จาก 15 ปีเหลือหนึ่งปี และหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งยังเสนอในกรณีหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ที่สำคัญ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ กำหนดให้มีข้อยกเว้นบทลงโทษฐานหมิ่นประมาท กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจำคุกถือเป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เกินขอบเขต และไม่จำเป็นต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท และโทษจำคุกต่อการหมิ่นประมาท ยังมีผลในเชิงสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

ความพยายามที่จะยุบพรรคก้าวไกล สะท้อนถึงแบบแผนบางอย่างในการเมืองไทย ที่รัฐบาลพยายามตอบโต้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีคะแนนนิยมสูง ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเป็นพรรคก่อนที่จะกลายมาเป็นพรรคก้าวไกล และสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำพรรค ทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล ศาลเห็นว่าการให้เงินยืม 191.2 ล้านบาทของธนาธรต่อพรรคอนาคตใหม่ผิดกฎหมาย เพราะเกินจำนวนเงินรับบริจาคต่อบุคคลต่อปี นอกจากนี้ พรรคการเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เนื่องจาก “ละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง” ยังรวมไปถึงพรรคไทยรักษาชาติ (ถูกสั่งยุบเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562) พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน  (ยุบทั้งสามพรรคพร้อมกันในวันที่ 2 ธ.ค. 2551) และพรรคไทยรักไทย (ยุบเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550)

ในเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้ง คิดเป็น 37.99 % ของคะแนนทั้งหมด และได้ผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุดในรัฐสภา กล่าวคือ 151 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง

“คำวินิจฉัยของศาลในวันพรุ่งนี้ จะตัดสินอนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ผ่านมาพรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องเผชิญกับภัยคุกคามผ่านการใช้กฎหมาย ทั้งการสั่งยุบพรรคและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เอมี สมิธกล่าว “เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องแสดงให้เห็นพันธกิจที่มีต่อกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและไม่ลำเอียง และต้องคุ้มครองพรรคที่ได้รับเลือกจากพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย” 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net