Skip to main content
sharethis

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน เสนออาเซียนไม่ให้กองทัพพม่าเข้าร่วมทุกการประชุม กำหนดมาตรการการคุ้มครอง-ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ปชช.เมียนมา ยก NUG เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม

 

11 พ.ย. 2565 องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์ภาคประชาสังคมรณรงค์และทำรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน รายงานต่อสื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ฟอร์ตี้ฟายไรต์มีข้อเสนอแนะต่อผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ควรปฏิเสธข้อเสนอในเอกสารที่หลุดออกมาเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้กองทัพพม่าเข้าร่วมทุกการประชุมของอาเซียน ยกเว้นระดับผู้นำสูงสุด และระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยข้อเสนอดังกล่าว บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียนจะพิจารณาเอกสารดังกล่าว รวมถึงร่วมกันตัดสินใจเลือกข้อเสนอแนะที่จะนำเสนอต่อบรรดาผู้นำอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่าง 10-13 พ.ย. 2565 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของฟอร์ตี้ฟายไรต์เกิดขึ้นหลังทางองค์กรได้รับเอกสารที่หลุดออก โดยอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และใกล้ชิดกับการเจรจาระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองเมียนมา มีรายงานว่า ประธานอาเซียนปัจจุบัน หรือกัมพูชา มีการจัดเตรียมเอกสารไม่ลงวันที่ขึ้น หลังการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน ณ กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา 

เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาทั้งสิ้น 11 หัวข้อ ซึ่งในจำนวนนี้มีเนื้อหาการประเมินภาพรวมสถานการณ์การเมืองพม่าที่ยังคงคลุมเคลือ (เช่น ข้อความระบุว่า “ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายถือเป็นข้อกังวลสำคัญ”) รวมทั้งข้อสั่งการทั่วไปและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงเหตุรัฐประหารของรัฐบาลเมียนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มีนักโทษการเมืองกว่า 12,000 คน และไม่ได้ระบุถึงการโจมตีของรัฐบาลทหารต่อประชากรพลเรือนทั่วประเทศที่มีการบันทึกข้อมูลไว้แต่อย่างใด

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และเป็นผู้นำคณะรัฐประหารขณะนี้ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำสูงสุดอาเซียนตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ อาเซียนมีข้อตกลงที่จะไม่เชิญตัวแทนสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมระดับ รมต.ต่างประเทศอาเซียน โดยทางอาเซียนยอมรับให้มีผู้เข้าร่วมเฉพาะตัวแทน “ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เมียนมา ในประเด็นนี้ เอกสารที่หลุดระบุว่าอาเซียนยังคงใช้นโยบายนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี เอกสารนี้ระบุด้วยว่า “ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีอื่นๆ จะยังคงสภาพเดิมต่อไป” หรือหมายความว่าจะมีการยอมให้ตัวแทนกองทัพพม่าเข้าร่วมในการประชุมเหล่านี้เหมือนเดิม 

ในเอกสารระบุต่อว่า ข้อ 2 "จะยังคงยึดมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนต่อไป" และจะขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียน "ร่างแผนการดำเนินงาน"

ทั้งนี้ ฉันทามติเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่า 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ในโรดแมป 5 ข้อนำประเทศกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยของกองทัพพม่า ซึ่งมินอ่องหล่าย ประกาศหลังจากยึดกุมอำนาจบริหารประเทศ มีการกำหนดข้อหนึงว่า จะจัด "การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยในระบบหลายพรรคที่เสรีและเป็นธรรม" ภายหลังการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินของกองทัพพม่า

โรดแมป 5 ข้อของกองทัพพม่า ประกอบด้วย

1.จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพชุดใหม่ พร้อมทั้งกำหนดภาระหน้าที่ เพื่อเตรียมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะล้อตามกฎหมาย

2.จะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและบริหารจัดการโควิด-19

3.จะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4.จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งประเทศและให้สอดคล้องกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

5.เมื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2008 และจะถ่ายโอนหน้าที่การบริหารรัฐให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

อนึ่ง นับตั้งแต่กองทัพพม่าก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 กองทัพพม่าได้ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างเป็นระบบ โดยช่วง 6 เดือนแรกหลังทำรัฐประหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ เซลเซ็นเตอร์ (Schell Center) คณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ร่วมเผยแพร่บันทึกข้อมูลอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่กระทำโดยกองทัพและตำรวจทางการเมียนมา ซึ่งมีการสังหาร คุมขัง ทรมาร ประหัตประหาร และบังคับสูญหาย เพื่อรวบอำนาจการบริหารประเทศ ทั้งนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุด้วยว่ามีการออกจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพสูงถึง 16,000 รายอย่างเป็นระบบ 

ด้านข้อมูลจากรายงานสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา หรือ เอเอพีพี ระบุว่า นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึงเมื่อ 10 พ.ย. 2565 รวมระยะเวลามากกว่า 1 ปี ยังคงมีผู้ถูกคุมขังมากกว่า 12,000 คน นักโทษการเมืองเหล่านี้ประกอบด้วย ผู้นำด้านความคิด สมาชิกภาคประชาสังคม นักการเมืองที่สำคัญ ผู้ทำงานสาธารณสุข และข้าราชการ ซึ่งแทบทุกคนต่างเคยมีบทบาทในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา 


 
ด้านฟอร์ตี้ฟายไรต์ และเซลเซ็นเตอร์ ได้บันทึกข้อมูลการคุมขังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าว และแกนนำภาคประชาสังคม รวมถึงการคุมขังและการทำให้สูญหายของเจ้าหน้าที่ของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี หลายคน

ตามรายงานข่าวของสื่อนับแต่ทำรัฐประหารจนถึง ก.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าสังหารสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีไปเกือบ 50 คน ในจำนวนนี้ เป็น ส.ส.อย่างน้อย 3 คน และจับกุมสมาชิกพรรคอีกเกือบ 900 คน 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 กองทัพพม่ายุติข้อตกลงชั่วคราวที่จะระงับการใช้โทษประหาร ซึ่งบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และได้ประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน โดยในจำนวนนี้ มีเพียวเซยาต่อ อดีต ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี และจอมินยู นักกิจกรรมอาวุโสเพื่อประชาธิปไตยจากยุค 8888 หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อโกจิมมี

เพียวเซยาต่อ (ซ้าย) และ โกจิมมี (ขวา) แกนนำเรียกร้องทางการเมือง 2 ใน 4 ผู้ถูกประหารชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนในเมียนมาจำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และทรัพย์สินของพลเรือนกว่า 28,000 แห่งได้ถูกทำลายลง

"แผนของรัฐบาลทหารที่จะจัดเลือกตั้งปีหน้าถือเป็นเรื่องน่าตลกโดยสิ้นเชิง และประชาคมระหว่างประเทศก็ควรมองแผนดังกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าขบขันด้วยเช่นกัน" แพททริก พงศธร กล่าว และระบุด้วยว่า "ผู้นำอาเซียนต้องปฏิเสธแผนใดๆ ที่จะร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ซึ่งได้พุ่งโจมตีประชากรชาวเมียนมาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ"

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นสัญญาณความแตกแยกในอาเซียนอีกอย่างหนึ่งคือ ได้มีการนำแถลงการณ์ประธานความยาว 2 หน้า จากการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ฉบับเดิมออกจากเว็บไซต์ของอาเซียน และแทนที่ด้วย ข้อความ 3 ย่อหน้าที่สั้นกว่ามากแทน ถ้อยแถลงที่ถูกดัดแปลงดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง “ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีกรอบเวลาชัดเจน” เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามฉันทามติ 5 ข้ออีกต่อไป ซึ่งตรงนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาของแถลงการณ์ประธานฉบับเดิม นอกจากนี้ ข้อความใหม่ยังไม่มีระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอย่างการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องล้อรับไปกับนโยบายเอาอกเอาใจเช่นนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา อาเซียนได้แต่งตั้งให้กองทัพพม่าเป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยสื่อของทางการพม่าอย่าง "Global New Light of Myanmar" (โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา) และตามรายงานขององค์กร "Justice for Myanmar" (จัสดิสฟอร์เมียนมา) แม้ว่ากองทัพอากาศของกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศพลเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นการประชุมเพื่อประสานงานระหว่างกองทัพอากาศภายในภูมิภาค

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า อาเซียนควรยุติการมีส่วนร่วมของกองทัพเมียนมาในทุกๆ การประชุมของระบบอาเซียน ยกเลิก "ฉันทามติ 5 ข้อ" ต่อเมียนมาที่ประสบความล้มเหลว และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองประชากรพลเรือนในประเทศ 

โดยมาตรการฉุกเฉินดังกล่าวควรครอบคลุมถึงข้อตกลงในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในเมียนมา อนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน และข้อตกลงให้มีการประสานงานกับรัฐภาคีสหประชาชาติอื่นๆ เพื่อปิดกั้นไม่ให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงอาวุธ เทคโนโลยีสงครามที่ใช้งานได้ทั้งทางพลเรือนและทหาร เชื้อเพลิงอากาศยาน แหล่งเงินทุน และปฏิเสธไม่ให้กองทัพได้รับการยอมรับทางการเมือง ณ เวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องร่วมมืออย่างเปิดเผยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ

"รัฐบาลทหารเมียนมาได้รื้อทำลายความพยายามของอาเซียนในทุกขั้นตอนของวิกฤตครั้งนี้” แพททริก พงศธร กล่าว และระบุว่า "ประชาชนชาวเมียนมาไม่สามารถอดทนรอได้อีกต่อไป อาเซียนต้องดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างฉุกเฉินและเป็นรูปธรรมโดยทันที"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net