Skip to main content
sharethis

ไทยส่งคำชี้แจงต่อผู้รายงานพิเศษ UN กรณี กกต.ยื่นยุบพรรคก้าวไกล เหตุหาเสียงสัญญาแก้ไขมาตรา 112 เมื่อการเลือกตั้งปี 2566 ศาล รธน.เคยวินิจฉัยเป็นการใช้สิทธิล้มล้างการปกครองฯ พร้อมชี้แจงโทษ ม.112 รุนแรงเพราะปกป้องสถาบันกษัตริย์ และความสงบเรียบร้อยของชาติ ยืนยันมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดและรัดกุม

 

5 ส.ค. 2567 เว็บไซต์ iLaw รายงานวันนี้ (5 ส.ค.) แปลเอกสารภาษาอังกฤษจากกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567

ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลัก 2 ด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024 ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่าการยุบพรรคก้าวไกล และการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุด อาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย 

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกล มีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่าเราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาล เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก 

เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน

กกต.ยื่นยุบ 'ก้าวไกล' เหตุศาล รธน.เคยวินิจฉัย หาเสียงแก้ 112 ใช้สิทธิล้มล้างการปกครอง

ประเทศไทยตอบกลับรายงานการสื่อสารของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 ซึ่งชี้แจงออกมาเป็นคำตอบสำคัญได้ดังนี้

ในกรณีที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติขอให้ชี้แจงกรอบกฎหมายพื้นฐานที่อธิบายว่าทำไมการหาเสียงโดยสัญญาว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเรื่องนี้สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากลของประเทศไทยอย่างไร

ทางไทย ระบุว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่ระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้" อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19(3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่า สิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมาย และจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย 

แจง ม.112 โทษแรงเพื่อปกป้องสถาบันชาติ บังคับใช้อย่างรอบคอบเคร่งครัด

ในเอกสารชี้แจงดังกล่าวรัฐบาลไทยยังได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยอธิบายว่าหลังเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ หลังคณะกรรมการพิจารณาแล้ว ไม่ว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรอัยการก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกชั้นหนึ่งอยู่ดี ทำให้กระบวนการทั้งหมดมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดและรัดกุม

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมด้วยความสงบยังคงอยู่

ในประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบของประเทศไทย เนื่องจากหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลที่มีจำนวน สส.เยอะที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรถูกกีดกันจากการจัดตั้งเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยชี้แจงยืนยันว่า สิทธิเสรีภาพทั้ง 2 ประการยังคงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพนั้นไว้แล้ว ดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 มาตรา 42 และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างสงบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเอาไว้แล้วเช่นกันในมาตรา 45 อีกทั้งยังรับรองเอกสิทธิ์ความคุ้มครอง สส. และสมาชิกวุฒิสภาในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 สิทธินี้รับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้แทนของประชาชนไทยได้ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย

สุดท้าย ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ต้องการจะทราบว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของนักการเมืองฝ่ายค้าน บุคคลทั่วไปผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลไทยชี้แจงเพียงว่า "ใช้หลักการเดียวกันกับที่ได้ตอบไปข้างต้น" คือ การปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net