Skip to main content
sharethis

สภานิสิตจุฬาฯ เชิญ ‘จิรนิติ’ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ ซักถามกรณียุบพรรคก้าวไกล ว่าเป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่ วันที่ 14 ส.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป บุคคลทั่วไปสามารถรับชมการประชุม แลซักถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Facebook Live ที่เพจ: สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10 ส.ค. 2567 เพจสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่หนังสือซึ่งลงนามโดย สถาปัตย์ เพชรศิราสัณห์ ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเชิญ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ เข้าอธิบายแนวทางการจัดการเรียนการสอน

เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

สำหรับการเชิญในครั้งนี้ สภานิสิตฯ จะซักถาม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ในวาระ ‘การเสนอพิจารณาผลกระทบด้านมาตรฐานทางวิชาการของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตอันเนื่องมาจากการยุบพรรคก้าวไกล’

ในการประชุมสามัญสภานิสิตฯ วันที่ 14 ส.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถรับชมการประชุม แลซักถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Facebook Live ที่เพจ: สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่เนื้อหาในหนังสือยังระบุว่า สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีข้อกังวลต่อคำวินิจฉัยของท่านใน 2 ประเด็น ดังนี้

การละเลยความสำคัญของกระบวนการวิธีพิจารณาความในกรณีนี้ การเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 กำหนดไว้ การยื่นคำร้องคดีนี้จึงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยกระบวนการดังกล่าว

การใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโทษยุบพรรคการเมือง ด้วยพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งเพื่อผลักดันนโยบายและความต้องการของประชาชน การยุบพรรคการเมืองจึงเป็นมาตรการที่ทำลายตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน และโทษในการยุบพรรคการเมืองยิ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง อดทนอดกลั้น ได้สัดส่วน และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในกรณีนี้คำวินิจฉัยของท่านเป็นที่น่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักการนี้หรือไม่

เนื่องจากสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความถูกต้องเชิงวิชาการ ของการจัดการเรียนการสอนของท่านภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต อันเป็นเหตุมาจากการใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ส่อขัดต่อหลักการนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปัจจุบันและอนาคต
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net