Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันอังคารที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับจริยธรรมในการวิจัยที่มีปัญหากับศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และศีลธรรม ซึ่งเสนอโดยหน่วยงานด้านอุดมศึกษาและการวิจัย แต่เป็นร่างกฎหมายที่จะสร้างความเสียหายให้กับวงการวิจัยรวมถึงสังคมไทยอย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าจริยธรรมการวิจัยเกิดขึ้นเพราะมีการวิจัยที่สร้างปัญหา ดังกรณี Nuremberg Code ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมการวิจัยสากลแรกสุด เกิดขึ้นเพราะมีการทดลองในเชลยศึกอย่างไร้มนุษยธรรมโดยนาซี เช่นเดียวกับ Belmont Report ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการวิจัยโรคซิฟิลิสในชายผิวดำอย่างไร้จรรยาบรรณโดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ  

ทว่าในประเทศไทยไม่เคยมีงานวิจัยใดที่มีปัญหาหรือว่าสร้างความเสียหายให้กับศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี ในระดับรุนแรงจนถึงขนาดจะต้องมีการกำหนดให้มีกฎหมายและหน่วยงานจริยธรรมด้านนี้เป็นการเฉพาะ และไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่กำหนดให้มีกฎหมายจริยธรรมการวิจัยในศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณีในระดับประเทศ อย่างมากก็กำหนดเป็นแนวทาง (Guidelines) ให้สมาชิกในสมาคมใช้เป็นหลักยึดในการทำวิจัย เช่น American Academy of Religion ได้กำหนดแนวทางการทำวิจัยศาสนาให้กับสมาชิกและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น    

สาเหตุที่ไม่มีประเทศใดในโลกนี้กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และหน่วยงานจริยธรรมการวิจัยในศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีในระดับประเทศ เป็นเพราะประเด็นเหล่านี้มีลักษณะนามธรรมและกว้าง อีกทั้งหลายกรณีมีความต่างกันจนยากเกินกว่าจะหาฉันทามติร่วมกันอย่างง่ายได้ บางเรื่องศาสนาหนึ่งไม่ห้าม แต่ในอีกศาสนาเป็นบาป ขณะที่จารีตประเพณีของแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หลายสิ่งทำไม่ได้ในอดีต แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ฉะนั้น การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดลักษณะการวิจัย “ต้องห้าม” ว่าประกอบด้วยงานวิจัยที่ขัดหรือแย้งกับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และศีลธรรมในลักษณะต่างๆ จึงขัดกับสภาพการณ์ของสิ่งเหล่านี้ในระดับรากฐาน เป็นการใช้อำนาจกฎหมายในการผูกขาดความถูกต้อง ยุติการตั้งคำถามและอภิปราย ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้และการเติบโตของสังคมในกระแสการเปลี่ยนแปลง 

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับจริยธรรมการวิจัยจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและการวิจัยในสาขาวิชาชีพ และส่วนใหญ่ก็ครอบคลุมเรื่องศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งสามารถกลั่นกรองประเด็นเหล่านี้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีจริยธรรมการวิจัยว่าด้วยศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีเป็นการเฉพาะเพิ่มเข้ามาอีก 

และที่สำคัญก็คือว่าระบบพิจารณาการให้ทุนโครงการวิจัยโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในปัจจุบัน มีการใช้เกณฑ์จริยธรรมเหล่านี้อย่างเข้มข้นหรือหลายกรณีก็ล้นเกินอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติจึงแทบจะหาโครงการวิจัยโดยเฉพาะที่ได้รับทุนในระบบจะสร้างปัญหาให้กับศาสนา ศีลธรรม หรือจารีตประเพณีไม่ได้เลย ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงยิ่งเพิ่มอำนาจให้กับ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” เหล่านี้ซึ่งหลายกรณีก็วินิจฉัยอย่าง “ไร้ศีลธรรม” เข้าไปอีก    

ฉะนั้น แทนที่จะออกกฎหมายให้มีคณะกรรมการกำหนดนิยามและวินิจฉัยในสิ่งที่ขัดกับสภาพการณ์และให้อำนาจอย่างล้นเหลือในการควบคุมและแทรกแซงสถาบันและหน่วยงานด้านการวิจัยซึ่งจะสร้างปัญหาและมีความยุ่งยากในการดำเนินการตามมาอีกมาก ก็ควรกำหนดเป็นหลักการและแนวทางจริยธรรมการวิจัยอย่างกว้างให้แต่ละหน่วยงานนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่างที่แวดวงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว  

และจะว่าไป ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของเครือข่ายอำนาจเก่าที่เข้ายึดกุมทุกโฉมหน้าของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ หรือว่าองค์การมหาชน ผ่านทางบุคคลโดยเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยความร่วมมือกับนักกฎหมาย ที่ใช้โวหารศีลธรรมในการควบคุมรวมถึงแทรกแซงกิจการสาธารณะของประเทศเรื่อยมา ทั้ง "ตามกฎหมาย" "นอกกฎหมาย" และ “เหนือกฎหมาย” ร่างกฎหมายจริยธรรมการวิจัยฉบับนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญการวิจัย” ที่ใช้ข้ออ้างเรื่องศีลธรรมในการควบคุมและขจัดคนหรือกลุ่มที่เห็นต่างในสังคม    
 

 

หมายเหตุ: อ่านข่าวเกี่ยวกับมติ ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.ฎ. นี้ได้ที่ https://www.amarintv.com/news/detail/230142

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net