Skip to main content
sharethis

'เกศกมล' อภิปรายข้อหารือประชุม สว. เสนอให้มีองค์กรหลัก ในการตรวจสอบสื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาอันตราย หลังมองว่าสื่อโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เนื้อหาไม่สร้างสรรค์ เข้าข่ายหมิ่นประมาท เป็นภัยความมั่นคง

 

5 ก.ย. 2567 แพลตฟอร์ม ยูทูบ ช่อง 'Senate Channel' เผยแพร่วิดีโอ เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภา แยกเกียกกาย ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 7 วาระ 'ขอปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ตามข้อบังคับ ข้อ 18’ โดย เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 19 จ.เพชรบุรี อภิปรายข้อหารือเสนอตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ควบคุมดูแลเนื้อหาสื่อออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ และมีอำนาจสามารถดำเนินคดี

เกศกมล กล่าวว่า เหตุผลคือปัจจุบันยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อที่ครบวงจรอย่างจริงจัง เพราะว่ามีการแยกหน้าที่ในการทำงานออกจากกัน ได้แก่ กสทช. ซึ่งดูแลสื่อมาตรฐาน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม แต่ไม่สามารถเข้ามาดูแลสื่อออนไลน์ ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสื่อออนไลน์ แต่ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาหรือคอนเทนต์ได้

สว.เพชรบุรี ระบุว่า สื่อแบ่งเป็น 2 ประเภทที่เป็น 'above the line' มีผู้เข้าไปควบคุมอยู่แล้ว แต่สื่อ 'below the line' หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ เอ็กซ์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และอื่นๆ ทั้งหมดถูกปล่อยออกมาโดยไม่มีการควบคุมด้านเนื้อหา ทำให้มีเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ และเข้าข่ายหมิ่นประมาทมีผลต่อความมั่นคงของชาติ

เกศกมล จึงขอเสนอ 1. สร้างองค์กรที่มีสมรรถนะสูงเพื่อคอยตรวจสอบสื่อที่อันตราย และดำเนินการทางกฎหมายได้ 2. ส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ 3. เฝ้าระวังสื่อแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป และมีช่องทางร้องเรียนหรือรายงานสื่อที่ไม่ปลอดภัย เพื่อมีช่องทางการดำเนินการ และ 4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเครือข่ายพัฒนาเพื่อการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม

อนึ่ง เนื่องจากสื่อที่สร้างปัญหาส่วนมาก เป็น below the line และสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศทั้งหมด เมื่อเราตรวจสอบพบแล้ว กระบวนการการยับยั้งทำได้ยาก แต่ต้องมีหน่วยงานรายงานไปยังต้นทางเจ้าของแอปพลิเคชัน และต้องตกลงกันว่าเมื่อมีการรายงานจากหน่วยงานนี้แล้วต้องถอดถอนออก ห้ามเผยแพร่ทันที หากมีข้อโต้แย้ง ต้องมีการพิสูจน์จนได้ข้อยุติ จึงจะกลับมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งได้

เกศกมล กล่าวขอเสนอแนะว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพคือ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่กำกับการประกอบการวิทยุ กระจายเสียงโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคม ดังนั้น ควรจะมีการขยายบทบาทเข้ามาดูแลสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้

"ความคืบหน้าของเรื่องนี้เป็นเพียงการเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แม้ว่าจะมีการศึกษาในวุฒิสภาแล้ว แต่ควรเร่งให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง และประสานงานกับบริษัทแอปพลิเคชันโดยตรง ในการหยุดยั้งสื่อที่มีปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติ" เกศกมล กล่าว 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net