Skip to main content
sharethis

เช้ามืดวันนี้ (24 ก.ย.) รัฐบาลทหารพม่าสั่งประหารชีวิตนักกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ 2 ราย และจ่อประหารเพิ่มอีก 5 ราย ด้านกลไกสืบสวนของสหประชาชาติ รัฐบาลฝ่ายต่อต้าน และสมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ รุมประณาม ส่วนนักกิจกรรมไทยผุดแคมเปญบนโลกออนไลน์ #StopSAC #SayNotoDeathSentence คัดค้านการประหารนักโทษการเมือง

หม่องกองเต็ดและชานเมย์ธู คู่สามีภรรยา ถูกประหารชีวิตเช้ามืดวันนี้ จากข้อหาส่งระเบิดทางพัสดุถล่มเรือนจำอินเส่งเมื่อตุลาคม 2565 (ที่มา: APHR)

ภาพนักโทษการเมือง 5 รายที่ถูกศาลพม่าตัดสินประหารชีวิต คดียิงตำรวจ 4 รายเสียชีวิตบนรถไฟ (ที่มา: The Irrawaddy)

24 ก.ย. 2567 สื่อต่างชาติรายงานวันนี้ (24 ก.ย.) รัฐบาลทหารพม่า (State Administration Council - SAC) ประหารชีวิตนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหาร 2 รายเช้ามืดวันนี้ คือ หม่องกองเต็ด และชานเมย์ธู คู่สามีภรรยา จากข้อกล่าวหาส่งพัสดุวางระเบิดเรือนจำอินเส่งเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวรัฐบาลทหารพม่าวางแผนประหารชีวิตนักกิจกรรมเพิ่มอีก 5 ราย เรื่องนี้ทำให้นานาชาติรวมทั้งกลไกสอบสวนอิสระของสหประชาชาติออกแถลงการณ์ประณามแผนประหารชีวิตระลอกล่าสุดของรัฐบาลทหารพม่า

เว็บไซต์อิรวดี เปิดเผยรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับรัฐบาลทหารพม่าเตรียมแขวนคอประหารชีวิตนักโทษอย่างน้อย 5 คน รวมถึงผู้หญิง 1 คน ในเรือนจำอินเส่ง ทางตอนเหนือของนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า จากข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการยิงตำรวจ 4 นาย เสียชีวิตบนรถไฟ และถูกจับกุมในย่างกุ้งเมื่อเดือนกันยายน 2564

ข่าวลือดังกล่าวแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วในสัปดาห์นี้ผ่านช่องทางเทเลแกรม ของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่โพสต์ว่า หลักประหารในเรือนจำอินเส่ง กำลังถูกจัดเตรียม โดยบางแหล่งข้อมูลอ้างว่าการประหารชีวิตจะเกิดขึ้นในวันอังคารนี้ (24 ก.ย.) อีกโพสต์หนึ่งกล่าวว่ามีการวางแผนประหาร 7 คน

ทั้งนี้ นักกิจกรรมชาย 4 ราย ได้แก่ ซายาเพียว อายุ 32 ปี ซานมินอ่อง อายุ 24 ปี จ่อวินโซ อายุ 33 ปี กองปเยซนอู อายุ 27 ปี และนักกิจกรรมหญิง มะเมียตเพียวพวินท์ ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว (2566) ในการพิจารณาคดีลับ ข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุกลุ่มติดอาวุธยิงตำรวจบนรถไฟในนครย่างกุ้ง เมื่อปี 2564

แหล่งข่าวจากเรือนจำกล่าวเมื่อวันจันทร์ (23 ก.ย.) ว่ายังไม่ได้รับแจ้งให้ดำเนินการประหารชีวิต แต่คาดหมายได้ว่ารัฐบาลทหารจะลงมือประหารแน่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ก.ย.) เจ้าหน้าที่สืบสวนของสหประชาชาติ ระบุว่ากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยแถลงการณ์ของกลไกการสอบสวนอิสระของสหประชาชาติกรณีพม่า (IIMM) ระบุว่า “การตัดสินโทษประหารชีวิต หรือแม้แต่การควบคุมตัว โดยที่กระบวนการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นพื้นฐานของการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรืออาชญากรรมสงคราม”

หลังกระแสข่าวดังกล่าว กระทรวงสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ออกแถลงการณ์ประณามวันนี้ (24 ก.ย.) และเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียน คณะทูต และสหประชาชาติในพม่ากดดันให้รัฐบาลทหารหยุดการประหารชีวิตทั้งหมด และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรมทันที

“เรายังขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมเปิดรับฟังปัญหาของพม่าอย่างเร่งด่วน” ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้แทนถาวรของรัฐบาล NUG เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้เพิ่มข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ UNSCR 2669 (2565) โดยข้อมติใหม่จะต้องกำหนดให้หยุดการส่งอาวุธ กระสุน และเชื้อเพลิงให้กับรัฐบาลทหาร สนับสนุนให้มีการส่งเรื่องไปยังศาลอาชญากรระหว่างประเทศ ICC

ส่วนกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ระบุว่ามีความ "วิตกกังวลอย่างยิ่ง" ต่อรายงานนี้และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารไม่ดำเนินการประหารชีวิตอีกต่อไป โดยหว่อง เฉิน สส.มาเลเซีย กล่าวว่า “การใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่างไม่อาจยอมรับได้ และต้องประณามอย่างรุนแรงที่สุด”

อาร์ลีน บรอซาส สส.ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “การประหารชีวิตเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการถดถอยครั้งใหญ่ และชี้ว่า รัฐบาลทหารพม่า SAC ขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะทำตามข้อตกลง 5 ข้อของอาเซียนอย่างแท้จริง

“APHR เรียกร้องให้ SAC ยุติการใช้ความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และคืนกระบวนการประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศโดยทันที” บรอซาส กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการประหารชีวิตครั้งแรกในปี 2564 แม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากนานาชาติให้ยับยั้ง ก่อนที่ต่อมา เมื่อ ก.ค. 2565 รัฐบาลทหารพม่าแขวนคอนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือ โกจิมมี่ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจากยุค 8888 เพียวเซยาต่อ อดีต สส.พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยพม่า (NLD) หล้าเมียวอ่อง และอ่องธุระซอ นักกิจกรรม

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) รายงานว่ามีนักโทษมากกว่า 123 รายที่ถูกคุมขังตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ที่รอการประหารชีวิต และศาลรัฐบาลทหารพม่าได้ตัดสินลับหลัง ลงโทษประหารชีวิตอีก 42 คน

ขณะที่โลกออนไลน์ นักกิจกรรมพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย ประกาศคัดค้านการประหารชีวิตนักโทษทั้ง 5 ราย และรณรงค์ให้โลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #StopSAC และ #SayNotoDeathSentence เพื่อคัดค้านแผนประหารชีวิตของรัฐบาลทหารพม่า

 

แปลและเรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net