Skip to main content
sharethis


ในวาระ 20 ปีตั้งประชาไท ชวน “วีระยุทธ-เกรียงศักดิ์-ปองขวัญ” คุยถึงเศรษฐกิจไทยที่กำลังเสียดุลการค้ากับจีน แต่อุตสาหกรรมไทยจะโตได้อย่างไรเมื่อต้องเผชิญสินค้าราคาถูกจากจีนและจะแสวง หาประโยชน์ได้แค่ไหนท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

28 ก.ย.2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประชาไทจัดเสวนา “ทิชชู่ 1 บาท หมาล่า และรถอีวี : ปัญหาเศรษฐกิจไทยใต้อำนาจทุนจีน” ส่วนหนึ่งของซีรีส์เสวนา “ประเทศไทยในรอบ 20 ปี” โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 20 ปี ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ

งานเสวนาครั้งแรกนี้กล่าวถึงสภาพของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาและในปัจจุบันยังเผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ต่างก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยจนเกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตขนานใหญ่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และหลายประเทศที่พร้อมรับปรับตัวโอกาสต่างก็ได้รับผลดีของปรากฏการณ์นี้ แต่มีคำถามว่าไทยที่ยังเหลือความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกแค่ไหน

หาจุดสมดุล คุมสินค้าจีน 

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) และยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ นำเสนอย้อนไปว่าไทยเริ่มเสียดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศช่วงเดียวกับที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยจนมาถึงปัจจุบันที่ไทยเสียดุลการค้ากับจีน ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อิเล็กโทรนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ จนไทยเสียดุลการค้ากับจีนมากถึง 6-7% ต่อจีดีพี จนไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้แล้วเหลือเพียงอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังเกินดุล เช่น ทุเรียน

ไทยยังมีแนวโน้มที่ไทยจะเสียดุลการค้ากับจีนในอุตสาหกรรมประเภทอื่นตามมาอีกในอนาคต แม้ว่าในตอนนี้ไทยจะยังมีสินค้าส่งออกที่เกินดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ มากกว่าการเสียดุลการค้ากับจีน แต่ในสภาพที่ SMEs กำลังเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นก็อาจทำให้ส่วนที่เกินดุลการค้ากับประเทศอื่นลดลงเรื่อยๆ จนการเสียดุลการค้ากับจีนแซงขึ้นมาได้

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วีระยุทธได้นำเสนอถึงแนวทาง 6 แนวทางในการแก้ไขปัญหาเสียดุลการค้ากับจีนโดยแต่ละแนวทางมีระดับความเข้มข้นต่างกันและบางแนวทางก็ยังต้องชั่งน้ำหนักว่าเมื่อทำแล้วจะกระทบความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าอย่างจีนด้วยหรือไม่ โดยทั้งหกแนวทางไล่ไปตามระดับความเข้มข้นจากน้อยไปมากมีดังนี้

  1. การใช้มาตรการแบบที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้ ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบ การเก็บภาษาสินค้าสั่งออนไลน์ ส่งเสริม SMEs
  2. บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้นขึ้น
  3. ตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าด้วยมาตรฐานเดียวกับสินค้าของไทย
  4. สร้างระบบกำกับดูแลและรับเรื่องร้องเรียนเป็นแบบ One Stop Service
  5. ทำตามแบบจีนคือใช้ระบบ AI ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและตัวตนของผู้ค้าใน E-commerce
  6. นำอินโดนีเซียโมเดลมาใช้ ซึ่งมีทั้งการปกป้องสินค้าและบริการภายในประเทศไม่ให้สินค้าจีนเข้ามาแข่งกับสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศพัฒนาขึ้นมาแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการที่แรงที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดว่าที่อินโดนีเซียสามารถทำได้เพราะเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุนิกเกิลที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่ที่จีนเองก็ต้องการได้อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามในความเห็นของวีระยุทธยังคงมองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับผู้ประกอบการจากจีนสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมก่อนจึงจะสามารถสร้างผู้ประกอบการที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดได้

เร่งยกระดับ! ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยยังปรับตัวไม่ได้ 

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงสถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของรถสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นหลักทั้งห่วงโซ่อุปทาน แต่จีนซึ่งรู้ตัวว่าไม่สามารถแข่งขันในตลาดรถยนต์ใช้น้ำมันกับชาติอื่นๆ ได้แต่เนื่องจากเป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่โลกต้องการลดการปล่อยคาร์บอนทำให้รถอีวีจากจีนแทรกเข้ามาในตลาดได้และจีนยังขยายการผลิตรถไฮบริดจ์ที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าขึ้นมาด้วย

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์

ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็เปิดให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในไทยอย่างน้อย 7 บริษัทและอาจจะมีมาเพิ่มอีก แต่มีปัญหาอยู่ว่าผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่มีอยู่ 2,000 กว่ารายจำนวนมากยังไม่สามารถเปลี่ยนมาผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถอีวีได้ ทำให้สุดท้ายแล้วบริษัทจีนยังต้องนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบในไทย แต่การจะเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการมาผลิตชิ้นส่วนรถอีวีก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าสัดส่วนการผลิตรถยนต์อีวีในไทยยังน้อยกว่ารถใช้น้ำมันอยู่

แต่เกรียงศักดิ์ยังชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ส่วนบุคคลเริ่มใช้ชิ้นส่วนชิปควบคุมรถยนต์และติดตามข้อมูลการใช้งานรถได้ ในสภาวะที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อยู่นี้ประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจกลายเป็นประเด็นที่ใช้กีดกันสินค้าที่มีการติดชิปเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานรถตามมาด้วย

สุดท้ายเกรียงศักดิ์มองว่าการเข้ามาของรถอีวีไม่ใช่เพียงแค่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต แต่ยังเปลี่ยนไปถึงระบบนิเวศของการใช้รถยนต์ด้วยเพราะมีทั้งเรื่องการประกันภัย สถานีเติมพลังงานสำหรับรถอีวี การซ่อมบำรุงรถ และอื่นๆ ด้วย

พรรคไหนชนะ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ก็ยังดำเนินต่อ 

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าตัวแบบที่ประเทศต่างๆ ใช้ในต่อรองกันเท่าที่มีอยู่ตอนนี้เป็นลักษณะที่รัฐขนาดใหญ่ใช้ต่อรองกัน แต่ยังไม่ค่อยมีรูปแบบที่รัฐขนาดเล็กจะต่อรองกับรัฐใหญ่อยู่มากนัก โดยเฉพาะแบบกรณีไทยที่เป็นรัฐเล็กและอยู่ใกล้กับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและมีลักษณะต้องพึ่งพาจีนมาก การจะถอนตัวจากการพึ่งพาแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน การตั้งกำแพงภาษีแบบที่รัฐใหญ่ใช้กับอีกรัฐจะทำได้จริงหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ของจีนที่การเติบโตของจีดีพีลดลงแต่สินค้าที่ผลิตในจีนมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมากทำให้ต้องหาที่ระบายสินค้าออกจากประเทศ ในขณะที่รัฐบาลจีนก็ต้องการเพิ่มรายได้ของคนในประเทศภายใน 10 ปีนี้จึงตั้งเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 5 % ต่อปี แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือคาดการณ์ว่าจีนจะทำได้เพียงแค่ 4.6% เท่านั้นและที่เป็นไปตามเป้าหมายได้ยากก็เพราะว่ารัฐบาลมีลักษณะเป็นทุนนิยมโดยวางแผนจากส่วนกลางไม่สามารถทำตามแผนตัวเองได้

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็เกิดการถดถอยในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลจีนเปลี่ยนการสนับสนุนมาที่การผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่และผลิตพลังงานลมแลแสงอาทิตย์แทน แต่การสนับสนุนของรัฐบาลจะทำให้ภาคการผลิตนี้เติบโตขึ้นมาได้แต่ความต้องการสินค้าภายในประเทศกลับลดลงเพราะผู้คนเผชิญกับหนี้สินจากภาคอสังหาฯ จนไม่มีกำลังซื้อทำให้สินค้าเหล่านี้ไหลออกนอกประเทศแทน และมาตรการลดดอกเบี้ยของจีนเพื่อกระตุ้นการบริโภคกลับไปทำให้เกิดการผลิตมากขึ้นก็ยังอาจทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมาไหลออกนอกประเทศอยู่ดี

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์

ปองขวัญได้กล่าวถึงในประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ต่อว่าสหรัฐฯ มองจีนเป็นคู่แข่งนับตั้งแต่รัฐบาลโอบามาแล้วและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ว่ากมลา แฮริส หรือ โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการกีดกันการค้าจากจีนก็อาจจะยังคงมีเหมือนเดิมแค่ต่างกันในระดับกำแพงภาษีสินค้าเท่านั้นและสภาวะแบบนี้อาจดำรงอยู่ไปจนกว่าสหรัฐฯ จะเห็นจีนไม่สามารถขึ้นมาแข่งขันได้ทั้งในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่จะใช้นำไปผลิตอาวุธสงคราม

อย่างไรก็ตาม สภาวะการกีดกันทางการค้าที่มีต่อกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในทางปฏิบัติกลับไม่ทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงได้ไม่มากนักและเมื่อลดไปแล้วก็ยังกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ด้วย แต่สภาวะนี้ก็ยังทำให้บริษัทจีนกำไรลดลงอยู่และในที่สุดทางฝั่งจีนก็ไม่สามารถลดราคาได้อีกเพราะกำไรลดลงมาจนใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตสินค้าแล้ว แต่การจะส่งสินค้าไปที่อื่นก็ต้องเผชิญกับข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้าในยุโรปทำให้สินค้าจากจีนกระจายไปยังประเทศที่ข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้าไม่เข้มแข็งนัก

นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไบเดนยังออกข้อกำหนดห้ามประเทศอื่นใช้เครื่องมือของสหรัฐฯ ในการผลิตชิปจนเกิดสภาวะชิปขาดตลาดอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็ยังห้ามนักลงทุนของสหรัฐฯ ไปลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนด้วยจะทำให้เกิดการลงทุนย้อนกลับไปที่สหรัฐฯ แทน และถ้ากระแสยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปก็อาจทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าครั้งนี้

ปองขวัญยังมีคำถามด้วยว่าสุดท้ายแล้วสินค้าที่ประเทศส่งออกไปมีส่วนที่เป็นของบริษัทไทยอยู่แค่ไหน หรือเราจะเป็นเพียงฐานการผลิตสินค้าให้กับบริษัทจากประเทศอื่นๆ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net