Skip to main content
sharethis

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่าหนังสือเรื่อง กอ.รมน.ของพวงทองทำให้วิธีที่กองทัพเข้ามาแทรกซึมสังคมด้วย กอ.รมน.อย่างไร และตีความขยาย “ความมั่นคง” เพื่อเข้ามาในงานของพลเรือนแต่ยังมองความมั่นคงแบบตกยุค ไม่เข้ากับแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมแทนการขยายตัวของอำนาจรัฐ

27 ก.ย.2567 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนา “ความมั่นคงภายใน : อำนาจของทหารภารกิจของประชาชน” เปิดตัวหนังสือของพวงทอง ภวัครพันธุ์ ในชื่อ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการขยายบทบาทของกองทัพไทยในการเข้ามาแทรกซึมควบคุมสังคมผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  หรือ กอ.รมน.

กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอถึงประเด็นในหนังสือของพวงทองชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาแทรกซึมสังคมของกองทัพไทยผ่าน กอ.รมน.ด้วยการขยายการตีความคำว่า “ความมั่นคง” เข้ามาในงานที่ควรจะเป็นกิจการหน่วยงานผลเรือนแต่ยังคงมองเรื่องความมั่นคงในแบบดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับรัฐมากกว่าซึ่งไม่เข้ากับแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนและการกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมจัดการปัญหาแทนการขยายตัวของอำนาจรัฐ

กรพินธุ์เริ่มจากกล่าวว่าประเด็นหลักในหนังสือมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ

  • นำเสนอถึงกองทัพไทยในฐานะกลไกรัฐที่ใช้แทรกซึมสังคม
  • ตีความเรื่องการพัฒนากับความมั่นคงของมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโลก
  • นำเสนอพลวัตรทางอำนาจและความขัดแย้งในทางการเมืองของไทยกับกองทัพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

กรพินธุ์นำเสนอประเด็นแรกว่า แนวทางการศึกษากองทัพไทยของพวงทองไม่ได้มองไปในมุมความรุนแรงหรือกฎหมาย แต่เป็นเข้าไปศึกษากองทัพในการสถาปนาอำนาจนำทางสังคมและการแผ่ขยายอิทธิพลในเชิงอุดมการณ์ที่มากไปกว่าทางกฎหมายหรือแผนงานที่เขียนเป็นตัวหนังสือ เริ่มจากการศึกษาประวัติความเป็นมาและภารกิจของกองทัพในการเข้าไปในชุมชนต่างๆ ของไทยเห็นถึงการแทรกซึมเข้ามาในสังคมโดยใช้กลไกของ กอ.รมน.

อ.รัฐศาสตร์กล่าวว่า งานของพวงทองยังทำให้เห็นถึงเป็นบทบาทและปฏิบัติการของกองทัพที่ครอบคลุม “ความมั่นคง” ไปมากกว่าบริบทความมั่นคงแบบเดิมที่หมายถึงการป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศ แต่เข้าไปดูถึงโครงการจำนวนมากที่เหมือนไม่เกี่ยวกับการเมืองอย่างงานด้านสาธารณสุข การพัฒนาเพื่อความมั่นคง แก้ปัญหายาเสพติด ให้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถูกรวมเข้ามาเป็นความมั่นคงภายใน และทำให้กลายเป็นภารกิจของกองทัพโดยรวมและเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 20 ปีที่ผ่านมา

กรพินธุ์ยกตัวอย่างในหนังสือขึ้นมาเช่น โครงการอบรมตามโรงเรียนต่างๆ เข้าไปทำธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการอย่างอาร์มีแลนด์ที่เอาพื้นที่ของหน่วยทหารมาทำสถานที่ท่องเที่ยว ภารกิจทวงคืนผืนป่า เข้าไปสร้างเครือข่ายกับกลุ่มทางสังคมต่างๆ ด้วยการจัดอบรมร่วมกันกับนักธุรกิจไปจนถึงกลุ่มคนขี่บิ๊กไบค์ เป็นต้น

อ.รัฐศาสตร์กล่าวว่าหนังสือต้องการตอบคำถามว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มาถึงจุดนี้อย่างไร มีนัยยะทางการเมืองอย่างไร และจะเข้าใจเรื่องพวกนี้อย่างไร โดยย้อนไปถึงตั้งแต่กองบัญชาการปราบปรามการกระทำที่เป็นคอมมิวนิสต์ในบริบทคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวในช่วงปี 2500 ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่การปะทะกันด้วยอาวุธแต่ยังเข้าไปทำโครงการพัฒนาต่างๆ และจัดตั้งมวลชนในชนบท ก่อนที่หน่วยงานดังกล่าวจะกลายมาเป็น กอ.รมน.ในปัจจุบัน และยังเพิ่มภารกิจความมั่นคงไซเบอร์เข้ามาอีก

กรพินธุ์มองว่าที่ฝ่ายรัฐหรือกองทัพเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นปัญหาอาจเป็นเพราะคำว่า “แทรกซึม” ในชื่อ เพราะคำว่าแทรกซึมเป็นศัพท์ที่กองทัพใช้เรียกปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามอย่างเช่นคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาล้างสมองชาวบ้าน ชักจูงมวลชน แต่รัฐมองว่าการแทรกซึมไม่ใช่กิจกรรมของรัฐและเป็นฝ่ายกองทัพต่างหากที่ต้องป้องกันการแทรกซึม แต่ในงานศึกษาต่างๆ ก็ยืนยันว่าฝ่ายรัฐก็ทำการแทรกซึมได้เช่นเดียวกัน

อ.รัฐศาสตร์กล่าวถึงประเด็นที่สองว่า การพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ของกองทัพที่งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าการตีความของกองทัพไทยอย่างผิดฝาผิดตัว และการพัฒนาเพื่อความมั่นคงก็ถูกผลักดันมาตั้งแต่พ.ศ. 2518 และถูกพัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อค้ำประกันและให้ความชอบธรรมที่จะให้กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพ จารีต และความเป็นไทย ที่มีมโนทัศน์แบบเอารัฐเป็นศูนย์กลางและชาตินิยมสวนทางกับแนวทางการพัฒนาทำให้ประเทศเป็นสมัยใหม่เพื่อให้สังคมได้ปลดแอกจากจารีต ระบบอุปถัมภ์ ความไม่เป็นมืออาชีพ ไม่โปร่งใส เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ (Modernization)

แม้ว่าในมุมมองนักพัฒนาเองจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นเรื่องรองเพราะความมั่นคงในแบบเดิมได้กักขังปัจเจกไม่ให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่รัฐไทยนำมาผสมกับแนวคิดการพัฒนาและอุดมการณ์แบบจารีต ชาตินิยมแบบไทย รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ โดยงานของพวงทองก็บอกว่ากองทัพได้หยิบฉวยเอาเรื่องนี้มาใช้เป็นแนวคิดในการให้ความชอบธรรมและสุดท้ายยังกลายเป็นขยายอำนาจและขอบเขตของทหารในการรับมือปัญหาสังคมสมัยใหม่ด้วย

ในเชิงรัฐศาสตร์แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์แบบใหม่เป็นข้อท้าทายสังคมโลกเพราะไม่ใช่เรื่องดินแดนหรือสะสมอาวุธ ไม่ใช่การขยายอำนาจของกองทัพ นับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมาได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ อย่างเช่นความยากจน ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางศาสนา ความเท่าเทียมทางเพศ หรือแม้กระทั่งเรื่องของผู้ลี้ภัยหรือปัญหาค้ามนุษย์ที่ผู้ถูกกระทำเป็นเหยื่อแต่ในความมั่นคงแบบดั้งเดิมอาจมองว่าพวกเขาเหล่านี้คือผู้กระทำความผิด

“ความมั่นคงของมนุษย์ทำให้เราเห็นใบหน้า ทำให้เราให้พื้นที่กับคนเปราะบาง คนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง” กรพินธุ์กล่าวถึงขอบเขตความมั่นคงในโลกสมัยใหม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานรัฐ แต่ต้องให้ความสำคัญจากล่างขึ้นบนก็คือภาคประชาสังคม การกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมเข้าไปจัดการกับปัญหาแทนการขยายตัวของหน่วยงานรัฐ

อ.รัฐศาสตร์อธิบายว่า แม้แนวคิดความมั่นคงมนุษย์มันอาจจะถูกวิจารณ์บ้าง แต่ที่เรามองเห็นร่วมกันก็คือโลกาภิวัฒน์ รัฐไม่ใช่ตัวแสดงหลักแต่รัฐต้องปรับมุมมองการแก้ไขปัญหาและลดขนาดรัฐให้เล็กลงไปจนถึงทำให้เป็นประชาธิปไตย ให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น แต่หนังสือของพวงทองกลับชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยรับแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์มาใช้โดยถูกครอบงำจากความมั่นคงของรัฐแบบดั้งเดิมแทนที่จะปล่อยให้หน่วยงานพลเรือนดูแล แต่กองทัพกลับมานำพลเรือนเสียเอง

กรพินธุ์ทิ้งท้ายว่าสโลแกนหลักของความมั่นคงของมนุษย์คือ การมีอิสรภาพจากความหวาดกลัวและมีอิสรภาพจากความต้องการปัจจัยพื้นฐานในชีวิต ซึ่งความมั่นคงของมนุษย์ครอบคลุมไปความเป็นอิสรภาพจากความหวาดกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐ หรือเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองจะถูกสอดส่องตรวจตราจากรัฐและกังวลว่าจะถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายความมั่นคง

“ถ้าเราอยู่ในสังคมที่พลเมืองยังไม่มีอิสรภาพทั้งจากเรื่องปากท้องคือความเปราะบางในทางเศรษฐกิจและจากความหวาดกลัวคุกคามปิดปาก ก็อาจจะถือได้ว่าเรายังอยู่ในสังคมที่เราถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์ความมั่นคงแบบเดิม และเป็นความล้มเหลวในการบูรณาการมโนทัศน์แบบใหม่ว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net