Skip to main content
sharethis

กลุ่มสิทธิมนุษยชนรัฐกะเหรี่ยง (KHRG) เผยประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนีเดือดร้อนหนักจากสงครามและน้ำท่วม วอนส่งความช่วยเหลือผ่านชายแดนไทยแทนผ่านรัฐบาลทหารพม่า หวั่นความช่วยเหลือไม่ถึงมือผู้เดือดร้อน


แม่น้ำสาละวิน | แฟ้มภาพ: องอาจ เดชา

20 ต.ค. 2567 คณะทำงานให้ความช่วยเหลือในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนีของพม่าเปิดเผยว่า ถึงแม้จะมีความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปสู่พม่า แต่ก็มักจะเป็นการส่งความช่วยเหลือโดยฝากให้ฝ่ายเผด็จการทหารเป็นผู้จัดการแจกจ่าย ซึ่งทำให้ความช่วยเหลือตกมาถึงรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนีได้น้อยมาก เพราะเผด็จการทหารมีมาตรการปิดกั้นความช่วยเหลือเหล่านี้

กลุ่มสิทธิมนุษยชนรัฐกะเหรี่ยง (KHRG) ซึ่งเป็นกลุ่มให้ความช่วยเหลือประชาชนในสองรัฐนี้ ระบุว่า การใช้วิธีส่งความช่วยเหลือจากประเทศไทยข้ามพรมแดนไปสู่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนีนั้นจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และทำให้ความช่วยเหลือตกถึงมือของผู้คนที่กำลังขาดแคลนได้มากกว่าด้วย

ภาวะน้ำท่วม ซ้ำเติมปัญหาผู้พลัดถิ่นเพราะสงคราม

เดิมทีแล้วประชาชนในรัฐกะเรนนีต้องเผชิญกับสงครามการสู้รบ จนมีผู้พลัดถิ่นมาก 4 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นราว 350,000-420,000 ราย จากสถิติตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ส่วนในรัฐกะเหรี่ยงมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 750,000 รายจากตัวเลขปลายปี 2566

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวก็ประสบปัญหาซ้ำซ้อน อย่างปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งกับผู้อาศัยในพื้นที่และกับคนพลัดถิ่น อีกทั้งยังเพิ่งจะมีอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ซ้ำเติมผู้พลัดถิ่นจากสงครามด้วย

ทีมกู้ภัยเปิดเผยว่า มีประชาชนผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2,500 รายต้องอพยพหนีจากค่ายผู้พลัดถิ่นที่พรมแดนระหว่างรัฐกะเรนนีกับตอนใต้ของรัฐฉาน หลังจากที่น้ำท่วมค่ายสูงราว 1 เมตร จากผลพวงของพายุไต้ฝุ่นยางิช่วงกลางเดือน กันยายน-ต้นเดือน ตุลาคม ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมือง ลอยก่อ, ดีมอโซ พรูโซ และ เปกอน เพิ่มสูงขึ้นและท่วมอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งหลังจากพายุผ่านพ้นไปแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนในเปกอนกำลังประสบความยากลำบากจากน้ำท่วมฝ่ายเผด็จการทหารพม่ายังอาศัยช่วงน้ำท่วมในการรุกคืบยึดพื้นที่ไปเป็นของตัวเอง องค์กรริเริ่มการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกะเรนนี (KHAI) ระบุว่า การรุกคืบของฝ่ายเผด็จการทหารกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คน

นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาที่ผู้พลัดถิ่นจำเป็นต้องหนีน้ำท่วมไปยังเขตพื้นที่ๆ มีกลุ่มเผด็จการทหารทำการสู้รบอยู่ เช่น ในหมู่บ้านโมบายของเมืองเปกอน ที่มีผู้พลัดถิ่นหนีน้ำท่วมมากกว่า 1,500 ราย ทำให้ผู้ประสบภัยเหล่านี้เสียงอันตรายทั้งจากทหารฝ่ายเผด็จการและจากกับดักระเบิด

Saw Nanda Hsu โฆษกของ KHRG กล่าวว่า ประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงกำลังเผชิญกับปัญหาหลังเกิดอุทกภัยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของผู้คนที่ต้องเผชิญสงครามอยู่ก่อนแล้ว พอผู้คนเผชิญกับความยากลำบากซ้ำซ้อนเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผ่านวิกฤตไปได้โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากนอกประเทศ หรือจากองค์กรต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้คนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อที่จะอยู่รอดได้

คนจำนวนมากในรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนีถูกบีบให้ต้องหนีออกจากบ้านของตัวเองเพราะการสู้รบ รวมถึงการที่ฝ่ายกองทัพพม่าระดมทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชนและอาคารฝ่ายพลเรือน เป็นเหตุให้สิ่งก่อสร้างพลเมืองมากกว่า 2,300 หลัง พังเสียหาย

Saw Nanda Hsu กล่าวย้ำว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขององค์กรติดอาวุธฝ่ายต่อต้านต้องอาศัยพึ่งพิงความช่วยเหลือจากต่างชาติมากกว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเผด็จการ เพราะก่อนที่ความช่วยเหลือจะเข้าไปถึง มันจะต้องผ่านมือของกองทัพเผด็จการก่อน แล้วกองทัพเผด็จการจะเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะแจกจ่ายความช่วยเหลือเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ทำให้ความช่วยเหลือไปไม่ถึงพื้นที่ๆ ฝ่ายต่อต้านควบคุมอยู่ เพราะกองทัพเผด็จการได้ฉวยโอกาสใช้วิกฤตและอำนาจในการแจกจ่ายความช่วยเหลือเป็นเครื่องมือการทหารของตัวเอง

ขอใช้วิธีส่งความช่วยเหลือข้ามแดนจากไทย จะดีกว่าฝากให้ฝ่ายเผด็จการทหารส่งให้

ในขณะที่วิธีการส่งความช่วยเหลือข้ามชาติโดยทั่วไปแล้วจะเป็นระบบแบบ "G to G" หรือก็คือระบบแบบ รัฐบาลหนึ่งส่งต่อให้กับกับอีกรัฐบาลหนึ่ง แต่กระนั้นก็ตาม Saw Nanda Hsu ก็ชี้ว่า ในบริบทของพม่าตอนนี้ การใช้ระบบแบบนี้จะทำให้ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงคนที่ต้องการมันจริงๆ การที่ความช่วยเหลือตกไปอยู่ในมือของเผด็จการทหาร ทำให้ฝ่ายเผด็จการทหารสามารถใช้ประโยชน์จากวิกฤตได้ ยิ่งเกิดวิกฤตมากเท่าไหร่พวกเขาก็ฉวยโอกาสได้มากขึ้นเท่านั้น

Mu Se ผู้อำนวยการกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม Kyay Latt Myay ที่ช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ชายแดนกะเหรี่ยงและกะเรนนีกล่าวว่า ผู้ให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติควรจะต้องติดต่อและประสานงานกับภาคประชาสังคมในพม่าโดยตรงเพราะมันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือจะเข้าถึงคนที่ต้องการมันจริงๆ

Mu Se ยกตัวอย่าง เช่นว่า ถ้าหากองค์กร "เวิร์ลด์ฟูดโปรแกรม" (WFP) อยากช่วยเหลือก็ควรหันมาใช้วิธีการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนจากไทย แทนการเอาไปฝากเผด็จการทหารพม่าให้เป็นคนแจกจ่าย ซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้น้อยหรือบางทีก็เข้าไม่ถึงเลย

ตัวอย่างของปัญหานี้ คือการที่ทหารฝ่ายกองทัพเผด็จการและกองกำลังติดอาวุธฝ่ายเดียวกับเผด็จการพม่า ได้วางกำลังอยู่ที่ด่านชายแดนระหว่างรัฐฉานกับกะเรนนีแล้วทำการสกัดกั้น ยับยั้ง และขัดขวาง ไม่ให้ความช่วยเหลือลำเลียงจากทางตอนใต้ของรัฐฉานไปสู่รัฐกะเรนนีได้ รวมถึงทำการข่มขู่คุกคามคนที่ขนส่งลำเลียงความช่วยเหลือด้วย

ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่ฝ่ายเผด็จการทหารฉวยโอกาสโจมตีใส่กลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย Khun Bedu ประธานกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี (KNDF) เปิดเผยว่า ฝ่ายเผด็จการทหารไม่ยอมส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์อย่างอาหารและยาให้กับรัฐกะเรนนี นอกจากนี้แล้วยังเพิ่มกำลังปฏิบัติการทหารโจมตีเป้าหมายพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย ทำให้เกิดปัญหาทั้งการสัญจรลำบากเพราะน้ำท่วมยังไม่พอ ยังต้องมาเผชิญกับการทิ้งระเบิดจากฝ่ายเผด็จการทหารอีก

Khun Bedu จึงขอให้มีการเน้นส่งความช่วยเหลือผ่านทางชายแดนไทย และขอให้ทางการไทยผ่อนปรนข้อบังคับเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือข้ามแดนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูง

นอกจากเรื่องน้ำท่วมกับการถูกสกัดกั้นความช่วยเหลือแล้ว คนในพื้นที่รัฐกะเรนนียังประสบปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงด้วย ซึ่งสร้างความยากลำบากทั้งกับคนในไนที่และกับผู้พลัดถิ่น น้ำท่วมและดินสไลด์ได้ปิดเส้นทางลำเลียงสินค้าจนเป็นเหตุให้สินค้าเข้าถึงพื้นที่ได้น้อยลง ช้าวของต่างๆ ราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น สินค้าที่ราคา 3,000 จ๊าด เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5,000-6,000 จ๊าด ส่วนข้าวสาร 1 กระสอบที่ราคาประมาณ 70,000 จ๊าด ก็เพิ่มสูงขึ้นเกิน 100,000 จ๊าด (จากราว 1,100 บาท กลายเป็น 1,600 บาท) แล้ว

องค์กรเครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) ระบุว่าราคาข้าวสารที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ในพม่าต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อจัดหาข้าวสารให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศด้วย


เรียบเรียงจาก
Karen and Karenni States Need Cross-Border Aid From Thailand, BNI Online, 10-10-2024
Camps Flood on Kayah Border, Forcing 2,500 War Victims Into Myanmar Battlezone, The Irrawaddy, 26-09-2024
More Than 80% of The Population of Myanmar’s Karenni State Has Been Displaced by War, Irrawaddy, 17-01-2024
Massive displacement and soaring rice prices deepen humanitarian crisis in Kawthoolei, KPSN, 01-02-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net