Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่งแก้ด่วน ปมไทยติดบัญชีดำ สินค้าไทยใช้แรงงานเด็ก

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้แก้ไขปัญหากรณีสินค้าไทยถูกระบุอยู่ในบัญชีรายการที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ (TVPRA List) และบัญชีรายการสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กบังคับหรือขัดหนี้ (EO List)

ภายหลัง กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บัญชี TVPRA List และ EO List ประจำปี 2567 และมีรายการสินค้าปลายน้ำของไทย 3 รายการ คือ ปลาป่น อาหารสัตว์ และน้ำมันปลา ที่ใช้วัตถุดิบหลักคือปลา ติดอยู่ในบัญชี TVPRA List ด้วย

ทั้งนี้รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานเร่งหารือและตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางถอดถอนสินค้ากลุ่มประมงและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำออกจากบัญชีดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่สินค้าไทยติดอยู่ในบัญชีของสหรัฐฯ และเข้าใจถึงปัญหาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มประมงและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษารายงานการวิจัยที่สหรัฐฯ นำไปอ้างอิงเพื่อระบุรายการสินค้าของไทยในบัญชี TVPRA List นั้น หน่วยงานของไทยพบว่ายังมีความคลาดเคลื่อน โดยการปลดรายการสินค้าปลายน้ำออกจาก TVPRA List ไม่จำเป็นต้องปลดสินค้าต้นน้ำคือปลาออกจากบัญชีก่อน เพราะหากประเทศไทยตรวจสอบยืนยันได้ว่าตลอดสายโซ่การผลิตไม่มีประเด็นแรงงานบังคับก็จะสามารถจัดทำรายงานชี้แจงเพื่อขอปลดสินค้าแยกเป็นรายการได้ทันที

ปัจจุบันมีรายการสินค้าของไทยที่ติด TVPRA List 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก และติด EO List 1 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ตรวจสอบและแก้ไขทุกเรื่องด้วย

นายภูมิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในการผลิตสินค้าทุกรูปแบบ จนทำให้สินค้ากุ้งได้รับการปลดออกจาก EO List และหมวดสินค้าที่ผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กของ TVPRA List ส่วนสินค้าอ้อยปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทน จึงไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และอยู่ระหว่างการพิจารณาปลดจาก TVPRA List

ที่มา: ไทยโพสต์, 20/10/2567

แรงงานตบเท้าพบไทยออยล์-รองผู้ว่าฯ จี้เจรจา UJV รับเหมาต่างชาติจ่ายเงินค่าจ้าง ลั่นหากไม่คืบพร้อมยกระดับ

18 ต.ค. 2567 กลุ่มแรงงานและนายจ้างกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นตัวแทน 30 บริษัทรับเหมาช่วงไทยรวมตัวกันเดินเท้าแสดงพลัง ยื่นหนังสือร้องขอความเห็นใจต่อเจ้าของโครงการพลังงานสะอาดใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อจี้ผู้รับเหมาใหญ่ต่างชาติ ให้จ่ายเงินค้างค่างวดพร้อมบูม PAY PAY PAY กระหึ่ม ด้านหน้าโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ พร้อมยื่นหนังสือต่อ นายชัยพร แพอภิรมย์​รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด​ชลบุรี และตัวแทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)​

โดยตัวแทนบริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน)​ ได้เปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยบริษัทผู้รับเหมาช่วงไทยที่ได้รับความเดือดร้อนว่า บริษัทฯ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กรณี คือการแก้ไขปัญหาระหว่าง UJV กับบริษัทผู้รับเหมาช่วง ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้พยายามทำหนังสือทวงถามไปยังบริษัทแม่ UJV เพื่อให้รับผิดชอบต่อผู้รับเหมาช่วงแล้ว ส่วนกรณีแรงงานที่ผู้รับเหมาช่วงต้องดูแลนั้น บริษัทผู้รับเหมา จะต้องดำเนินการดูแลเองเนื่อง ไทยออยล์ ไม่อาจก้าวล่วงหรือบังคับสิทธิตามสัญญาได้

“ในกรณีนี้จะเป็นสัญญาการจ้างทำระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับ UJV ที่ต้องดูว่าเป็นสัญญาแบบไหนไม่ว่าเป็นจะตัวผู้รับเหมาที่มาจากต่างประเทศหรือผู้รับเหมาที่อยู่ประเทศไทย” ตัวแทนบริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน)​กล่าว

ขณะที่ นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดมีความห่วงใยมาโดยตลอด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด​ชลบุรี ได้สั่งการให้ตนเดินทางมารับหนังสือความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ และหลังจากนี้จะได้เรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ภายใต้การพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นจะได้มอบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวให้ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อดำเนินการต่อ

“เรื่องนี้เราติดตามมาตั้งแต่การชุมนุมครั้งก่อนที่ได้มีการเยียวยาบางส่วนไปแล้ว ซึ่งผลกระทบนี้เกิดจากบริษัทต่างชาติบางบริษัท ซึ่งทางจังหวัดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัด รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งทางจังหวัดฯจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่เนื่องเป็นสัญญาทางแพ่ง ดังนั้นรายละเอียดในการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฏหมายแรงงาน และกฎหมายแพ่งที่ส่วนของ ไทยออยล์ ก็จะต้องให้ทีมกฎหมาย ของไทยออยล์ มาดูรายละเอียดด้วย”

นายสมพงษ์ ชอัมพงษ์ ผู้จัดการ โครงการ CFP พลังงานสะอาด กล่าวว่า การรวมตัวชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ชุมนุมจาก 30 บริษัท รวมจำนวนกว่า 3,500 คน เพื่อกดดันให้ผู้รับเหมาหลัก จ่ายเงินค่างวดที่ค้างจ่ายประมาณ 6-7 เดือน เพื่อให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงสามารถนำไปจ่ายให้พนักงานได้

“วันนี้หากไม่มีอะไรคืบหน้าเราคงต้องยกระดับการชุมนุม และทำหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครอบครัวได้รับการเยียวยา พร้อมขอฝากถึงรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ให้ลงมาดูแลและช่วยเหลือเราด้วย เนื่องจากกระทบแรงงานไทยหลายหมื่นคน”นายสมพงษ์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/10/2567

ปลัดแรงงานเผยเตรียมประชุม ถกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ย้ำดำเนินการเร็วที่สุด

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กล่าวถึงการประชุมไตรภาคีคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อหารือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุมอย่างเป็นทางการ โดยต้องรอให้มัการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ครบทุกตำแหน่งและจะกำหนดวันประชุมอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายบุญส่ง กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวจะเร่งรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งจะต้องดูข้อมูลและความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองอยากให้กระบวนการเสร็จสิ้นในปีนี้ นายบุญส่ง กล่าวย้ำอีกครั้งว่า จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ทุกอย่างขอให้มาคุยกัน ตนไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/10/2567

ชาวโรฮิงญาถูกขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติทิ้งป่าละเมาะหลังถูกอัดแน่นรถกระบะตู้ทึบกว่า 70 คน เสียชีวิต 2 ราย สาหัส 10 คน

17 ต.ค. 2567 พ.ต.ท.ภักดี ตันอนุกูล สว.(สอบสวน) สภ.หลังสวน ได้รับแจ้งจากพระสงฆ์วัดเสกธาราม หมู่ 4 ตำบลวังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ว่าพบศพชาวโรฮิงญาถูกนำมาทิ้งและมีแรงงานบางส่วนหายใจรวยรินอยู่นับ 10 คน

ที่เกิดเหตุห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นป่าละเมาะริมถนนแหลมทรายติดกับเชิงเขาเสก หมู่ 4 ตำบลวังตะกอ อ.หลังสวน พบมีชาวโรฮิงญา จำนวน 12 คน นอนกองรวมอยู่

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพ เป็นเพศชายอายุประมาณ 25-30 ปี ส่วนอีก 10 ราย แยกเป็นเพศหญิง 2 คน ชาย 8 คน อายุประมาณ 15-50 ปี มีสภาพเหนื่อยอ่อนเพลียนอนหายในรวยริน บางคนมีอาการน้ำลายฟูมปาก ดิ้นชักทุรนทุราย หน่วยกู้ชีพกู้ภัยได้ช่วยกันลำเลียงแยกส่งไปที่โรงพยาบาลหลังสวน โรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน และโรงพยาบาลทุ่งตะโกที่อยู่ใกล้เคียง โดยทั้งหมดมีอาการโคม่า

พระปลัดศีลวุฒิ ปสันโน รักษาการวัดนาบุญ ที่มาประสบเหตุกล่าวว่า ขณะที่คนขับรถยนต์กระบะพาอาตมาขึ้นเนินเขาเพื่อไปรับ พระอธิการธาดา กิตติธโร เจ้าอาวาสวัดเสกขาราม ได้มีเด็กชายชาวโรฮิงญา อายุประมาณ 15 ปี วิ่งออกมาจากในป่าละเมาะข้างทาง ด้วยอาการอ่อนเพลียพร้อมกับโบกมือตะโกนส่งเสียงเอะอะโวยวายเป็นภาษาต่างประเทศ ตอนแรกก็คิดว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่มารับจ้างกรีดยางพาราทะเลาะกัน มาจึงไม่ได้สนใจอะไรมาก จากนั้นก็นั่งรถขึ้นไปรับเจ้าอาวาสบนวัดเสกขาราม เพื่อไปปาฏิโมกข์ปฏิบัติธรรมนอกพื้นที่

พระปลัดศีลวุฒิ กล่าวต่อว่า หลังขึ้นไปรับเจ้าอาวาสแล้วได้นั่งรถกระบะลงมาจากวัด เห็นเด็กชาวคนดังกล่าวยังอยู่ อาตมาและเจ้าอาวาสวัดเสกขาราม จึงจอดรถลงไปดูในป่าละเมาะปรากฎว่าพบมีชาวต่างชาติจำนวนกว่า 10 คน นอนชักดิ้นชักงอ บางคนหายใจรวยริน จากนั้นได้โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบและช่วยเหลือดังกล่าว

ด้านนายฮูเซ็น โมฮัมหมัด อายุ 28 ปี เป็นล่ามที่มาจุดเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ที่รอดชีวิตบอกว่า ได้เดินทางมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา โดยมีนายหน้าพาเดินเท้าและขึ้นรถยนต์ถึง 3 ช่วง เพื่อมาอยู่ที่จุดพักซึ่งเป็นโกดัง อยู่บริเวณ ชายแดนตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.เชียงราย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากนับร้อยคน จากนั้นก็จะทยอยลำเลียงชาวโรฮิงญา ที่ได้จ่ายเงินค่าหัวแล้ว พาข้ามแดนมารอที่จุดพักฝั่ง อ.แม่สอด จ.เชียงราย โดยจะมีรถยนต์กระบะมารับเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมาย

นายฮูเซ็น กล่าวต่อว่า จากการสอบถามชาวโรฮิงญา บอกด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ร่วมชะตากรรมที่มาด้วยกันประมาณกว่า 70 คน ถูกแก๊งค้าแรงงานข้ามชาติพามากับรถยนต์กระบะตู้ทึบสูง โดยออกมาจากจุดพักที่ อ.แม่สอด จ.เชียงราย ตั้งเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจะเดินทางไปส่งยังชายแดนภาคใต้ และจะเดินทางต่อไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย ระหว่างทางซึ่งทุกคนมีอาการอ่อนเพลียจากการเดินทาง อาหาร น้ำ ก็ไม่ค่อยได้รับประทาน เพราะต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ และขณะเดินทางมาถึงเขตพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ปรากกฎว่าชาวโรฮิงญาที่อัดแน่นกันมาในกระบะตูทึบมากถึง 70 คน เกิดขาดอากาศหายใจ มีอาการอ่อนเพลีย บางคนชักดิ้นชักงอ บางคนหมดสติ บางคนส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ทำให้คนขับตกใจจึงเลี้ยวรถเข้ามายังที่เกิดเหตุ แล้วให้ชาวโรฮิงญา ที่ยังแข็งแรงช่วยกันลากคนที่หมดสติ คนที่อ่อนแรง และคนที่มีลักษณะอิดโรย ลงไปโยนทิ้งกองรวมกันในป่าละเมาะใกล้ทางขึ้นวัดดังกล่าว จากนั้นพากันเดินทางต่อไป

พ.ต.อ.นิรันทร์ กันจู รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร ได้สั่งการให้ตำรวจชุดสืบสวน ภ.จว.ชุมพร ร่วมกับตำรวจชุดสืบสวนภาค 8 และตำรวจท้องที่ ออกตรวจสอบเก็บภาพหลักฐานจากกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง ๆ เพื่อติดตามจับกุมแก๊งค้าแรงงานมนุษย์ข้ามาติมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 17/10/2567

กรมสวัสดิการฯแรงงานจับตา 16 บริษัทรับเหมาช่วง จ่อเชิญนายจ้างลูกจ้างหารือ-ยื่นคำร้อง

จากกรณีผู้บริหาร 16 บริษัทรับเหมาช่วงต่อจากการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด และแรงงานกว่า 2,000 คน รวมตัวยื่นหนังสือต่อผู้บริหารของผู้รับเหมาต่างชาติ ให้เร่งจ่ายเงินค่าแรงที่ค้างนาน 6 เดือน รวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท ซึ่งทำให้คนงานในไซต์งานไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินชดเชยมากถึง 20,000 คน กระทบถึงคนในครอบครัวกว่า 60,000 คน โดยหากบริษัทผู้รับเหมาช่วงต่อไม่มีทางออก อาจถึงขั้นต้องเลิกจ้างคนงาน นั้น

น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีลักษณะนี้เคยเกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นผู้รับเหมาค่าแรงที่ค้างจ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้รับเหมารายอื่นที่จ้างมาทำงานอีกที ซึ่งทาง กสร.ได้ดำเนินการทางข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว คือ ออกคำสั่งให้บริษัทรับเหมาดำเนินการจ่ายเงิน

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ส่วนที่เป็นข่าวในขณะนี้ เป็นกรณีบริษัทรับเหมาช่วงงาน ซึ่งแตกต่างกับเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ทาง กสร.และกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เบื้องต้น สิ่งที่ทาง กสร.ทำได้คือ กรณีระหว่างนายจ้าง (บริษัทรับเหมาช่วง) และลูกจ้าง (คนงานในไซต์งาน) โดยตรง ทาง กสร.สามารถออกคำสั่งให้จ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกดำเนินตามกฎหมายอาญา และสามารถให้ลูกจ้างมายื่นคำร้องได้

“แต่จากข่าวดังกล่าว กรณีนี้เป็นการเรียกร้องระหว่างบริษัทรับเหมาช่วงงานกับบริษัทรับเหมาหลักจากต่างประเทศที่เป็นเจ้าของโครงการ ตรงนี้ ทาง กสร.ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดำเนินการได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้แรงกดดันทางสังคม แต่ส่วนที่เราทำได้ก็จะดำเนินการอย่างเร่งรัด” น.ส.กาญจนา กล่าว

รองอธิบดี กสร.กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ จนถึงวันที่ 15 ต.ค. 2567 มีจำนวนลูกจ้างในกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้รับเหมาช่วงงานกว่า 900 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการแรงงานจังหวัด และได้ดำเนินการออกคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินไปแล้วประมาณ 8 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งที่ออกคำสั่ง แต่ยังไม่ครบระยะเวลาเหลืออีกประมาณ 33 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่อไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด โดยเป็นกระบวนการที่ กสร. ดำเนินการมาตลอด

ผู้สื่อข่าวถามถึงการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างเร่งด่วน น.ส.กาญจนา กล่าวว่า อาจจะเป็นการเชิญฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างมาเจรจา ว่ามีส่วนไหนที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนต่อตัวลูกจ้างได้บ้าง ประกอบกับทางกระทรวงแรงงานมีหน่วยงานในสังกัด กสร. กระจายทุกจังหวัด จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมดำเนินการเรื่องนี้อยู่ เช่น กรมการจัดหางาน (กกจ.) หากมีเหตุตกงาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่จะดูแลทักษะของแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อดูว่ามีเรื่องไหนที่สามารถดำเนินการในส่วนที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างโดยตรงได้บ้าง

เมื่อถามว่า หากมีเหตุการณ์แบบนี้อีก จะมีแนวทางการดำเนินงานต่อไปอย่างไร น.ส.กาญจนา กล่าวว่า กสร. มีการติดตามสถานประกอบกิจการเชิงรุก เพื่อประเมินสถานประกอบการแห่งไหนที่จะมีแนวโน้มหยุดกิจการ ดูเรื่องการส่งออกหรือจำนวนการสั่งซื้อสินค้าลดน้อยลง ตลอดจนหากมีคำร้องในกิจการประเภทนี้ก็จะดำเนินการเชิงรุกคือ เข้าไปตรวจสอบ หรือหากมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก แต่ไม่ได้ปรากฎเป็นข่าว ทางฝ่ายลูกจ้างก็สามารถยื่นคำร้องเข้ามาที่ กสร.ได้ และทาง กสร.จะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/10/2567

ลดเงินสมทบประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 เหลือ 3% - ม.39 เหลือ 283 บาท นาน 6 เดือน

กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ประกาศ “ลดเงินสมทบประกันสังคม” สำหรับผู้ประกันตน ม.33 เหลือ 3% - ม.39 เหลือ 283 บาท นาน 6 เดือน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 41 จังหวัด เริ่ม ต.ค. 2567 – มี.ค. 2568 พร้อมขยายเวลายื่นแบบ

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 41 จังหวัด โดย ลดเงินสมทบประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 ม.39, ผู้ประกันตน มาตรา 33 และนายจ้าง จาก 5% เหลือ 3% และผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 432 บาท เหลือ 283 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือน ต.ค. 2567 – มี.ค. 2568 สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 41 จังหวัด

ขยายเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39 งวดเดือน ก.ย. 2567 ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2568 งวดเดือน ต.ค. 2567 ภายในวันที่ 15 ก.พ. 2568 งวดเดือน พ.ย. 2567 ภายในวันที่ 15 มี.ค. 2568 งวดเดือน ธ.ค. 2567 ภายในวันที่ 15 เม.ย. 2568 ทั้งนี้ จะเร่งรัดนำร่างประกาศกระทรวงแรงงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตนสามารถได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/10/2567

หนุนจ่ายเงินสงเคราะบุตรเพิ่ม 3,000 บาทจูงใจแรงงาน

14 ต.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงแนวคิดการให้เงินสงเคราะห์บุตรว่า การสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้ให้ 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 ให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนตัวต้องการจะเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงาน ตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก

รมว.แรงงาน ระบุว่า มีแนวความคิดจะเพิ่มประชากรให้กับประเทศ โดยคนไทย เพราะผู้ใช้แรงงานมีความกังวลว่า เมื่อคลอดบุตรแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร ทั้งการเรียนในสังคมเมือง มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

"ฝากใปลัดแรงงาน หารือกับบอร์ดประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 เมื่อมีบุตรเพิ่มขึ้นไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัดจะให้ค่าสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปี"

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ยอมรับว่าประกันสังคมต้องควักเงินอีกก้อนใหญ่ใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความถาวร ให้กับแรงงานของประเทศไทยโดยการเพิ่มประชากรคนไทย ปัจจุบันนี้มีผู้ที่เกิดใหม่ กับผู้ที่เสียชีวิตไปไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่

ดังนั้นคิดว่าประกันสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกันตนว่าถ้าสามารถกําเนิดบุตรเพิ่มขึ้นหนึ่ง คนค่าเลี้ยงดูบุตรจะให้เพิ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า มาตรการนี้ คือแนวความคิดที่ตกผลึกว่าการที่จะสร้างให้ประเทศไทยเรามีการสร้างประชากรเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนที่สําคัญที่สุดและอยากจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานของประเทศไทย

ส่วนจะมีการกำหนดจำนวนบุตรหรือไม่นั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประมาณการไม่ได้แล้วแต่ผู้ประกันตน ถ้าใครอยู่ในมาตรา 33 เราให้เลย 1 คน 2 คน 3 คน แล้วแต่

เหตุผลที่มาตรการนี้ ต้องส่งบุตรไปเลี้ยงในชนบทว่า สังคมชนบทจะได้เปรียบ เพราะต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในชนบทถูกกว่า ดังนั้นต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง จะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก

พยายามรณรงค์ให้สังคมชนบทเข้ามาสู่เมือง ผ่านผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทํางานในเมือง แต่ขอให้มีบุตร และนําบุตรไปให้กับปู่ย่า หรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท คุณจะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที

นายพิพัฒ์ กล่าวว่า การเสนอนี้เป็นเพียงแนวความคิด ขายความคิดผ่านทางสื่อมวลชนบื้องต้น และเพื่อจะนําเข้าสู่บอร์ดประกันสังคมต่อไป

ส่วนตัวไม่มีอํานาจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปประชุมในบอร์ดประกันสังคม เป็นหน้าที่ประธานบอร์ด โดยปลัดกระทรวงแรงงาน จึงทําได้อย่างเดียวคือเอานโยบายฝากให้ท่านปลัดกระทรวง ไปหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่

ที่มา: Thai PBS, 14/10/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net