Skip to main content
sharethis

สเตฟานี่ โฮล์มส์ สำนักข่าวบีบีซี


26 กันยายน 2007


 


บล็อกเกอร์ในพม่าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฝ่าการเซ็นเซอร์และบอกโลกว่า เกิดอะไรขึ้นภายใต้การปิดกั้นของรัฐทหาร


ภาพของพระจีวรสีส้มเดินนำฝูงชนไปบนถนนในเมืองย่างกุ้งถูกเผยแพร่ออกจากประเทศซึ่งได้ชื่อว่า ปกครองด้วยระบอบเผด็จการและเข้มงวดในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร


แม้ภาพถ่ายบางภาพจะมัวและภาพจากวิดีโอจะสั่น เพราะถูกถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง ทว่าแต่ละภาพกลับเป็นการถ่ายทอดพลังของผู้เห็นต่างทางการเมือง


"น่าอัศจรรย์ที่ชาวพม่าสามารถเข้าถึงเครือข่ายใต้ดินเพื่อรับส่งข้อมูลจากในและนอกประเทศ" วินเซนต์ บรัสเซลส์ ผู้อำนวยการผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนสาขาเอเชีย บอก


ก่อนหน้านี้ พวกเขาเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ แต่ตอนนี้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์พร็อกซี่ กูเกิ้ล และยูทิวบ์


จากในประเทศ
หนึ่งในความต่างระหว่างการประท้วงครั้งล่าสุดกับการลุกฮือในเหตุการณ์ 1988 ซึ่งถูกปราบอย่างเหี้ยมโหด คือ การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือทางการเมือง


ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณบรรดาบล็อกเกอร์ เวลานี้โลกภายนอกได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบนถนนในย่างกุ้ง มันฑะเลย์ และปากอกกู รวมทั้งกระหายข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น


โก ไถ่ (Ko Htike) บล็อกเกอร์ชาวพม่า ซึ่งอยู่ที่ลอนดอน ได้เปลี่ยนบล็อกให้กลายเป็นสำนักข่าวเสมือนจริง และมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า


เขาเผยแพร่ภาพถ่าย วิดีโอและข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากเครือข่ายใต้ดินในพม่า


"ผมมีเครือข่าย 10 คนในพม่า พวกเขาอยู่กันคนละที่ และส่งวัตถุดิบเหล่านี้มาจากอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ผ่านฟรีโฮสติ้ง หรือบางครั้งทางอีเมล" เขาบอกกับเว็บไซต์ข่าวบีบีซี


"พวกเขาอยู่ท่ามกลางชาวพุทธ โดยเดินร่วมไปกับขบวนและทันทีที่พวกเขาถ่ายรูปได้หรือได้ข่าว เขาก็จะไปที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่และส่งข้อมูลมาให้ผม" เขากล่าว


โก ไถ่ (Ko Htike) เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมพม่าออนไลน์ ซึ่งส่วนมากไม่ได้อยู่ในพม่า


ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน อธิบายสาเหตุที่คู่มือสำหรับนักต่อต้านในโลกไซเบอร์ ถูกนำไปใช้ คัดลอก และแพร่กระจายไปในกลุ่มหนุ่มสาว นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อย่างรวดเร็ว


บรรดาบล็อกเกอร์กำลังสอนให้คนอื่นๆ ใช้เว็บไซต์พร็อกซี่ที่มีโฮสต์อยู่ที่ต่างประเทศ เช่น your-freedom.net และ glite.sayni.net  เพื่อเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคและซ่อนแอบในโลกไซเบอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกลวิธีและลิ้งค์บนเว็บไซต์ของพวกเขา


โลกเสมือน
อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นพื้นที่โลกเสมือนสำหรับกลุ่มการเมืองที่ไม่สามารถแสดงความเห็นของตัวเองอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะด้วย


โก ไถ่ ได้พบเครือข่ายนักข่าวพลเมืองของเขาในพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งถูกยุบอย่างรวดเร็วหลังจากเริ่มมีการติดต่อกัน


เช่นกัน พื้นที่แสดงความเห็นพวกนี้ถูกใช้เป็นที่แจ้งเตือนบล็อกเกอร์เมื่อมีเนื้อหาใหม่ๆ ทั้งภาพนิ่งหรือวิดีโอเข้ามา


"ปกติแล้ว เราจะใช้โปรแกรมสนทนา ยาฮูแมสเซนเจอร์" โก ไถ่ กล่าว "ถ้าพวกเขาพบปัญหา พวกเขาจะมาถามผม พวกเขาไม่ได้บอกหรือกล่าวอะไรเกี่ยวกับมัน แต่จะส่งลิ้งค์หรือโค้ดมาให้" 


นักวิจัยเห็นว่า ถึงแม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะต่ำกว่า 1% ของประชากรทั้งหมด แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก


รัฐบาลเลิกควบคุมพื้นที่ในโลกเสมือนหลังจากการต่อสู้ซึ่งจบลงที่การขับไล่ ขิ่น ยุ่นท์ (Khin Nyunt) นายกรัฐมนตรีคนก่อน ออกไป เมื่อเดือนตุลาคม 2547 บรัสเซลส์บอก


"ขิ่น ยุ่นท์ เป็นทหารที่ฉลาด เขามีเครือข่ายใหญ่ทำหน้าที่สอดแนม ประชาชนค่อนข้างรู้ทันการควบคุมประเภทนี้ หลังจากขิ่น ยุ่นท์ออกไปแล้ว พวกทหารไม่มีทักษะที่มากพอสำหรับการควบคุมพื้นที่ในโลกเสมือนนี้


นี่เป็นโอกาสที่ประชาชนจะใช้ทักษะของพวกเขา คนเหล่านี้เป็นหนุ่มสาวนักวารสารศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ที่รู้ว่าจะหลบหลีกการปิดกั้นและการเซ็นเซอร์อย่างไร


แม้ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งสองเจ้าจะถูกรัฐควบคุมไว้และอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตค่อนข้างจำกัด แต่หากมีผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนคอมพิวเตอร์กับรัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะถูกลงโทษจำคุก 15 ปี  โก ไถ่ บอกว่า วิกฤตครั้งล่าสุดนี้ ทำให้บล็อกเกอร์ตระหนักในความเป็นผู้นำของตัวเองอย่างแรงกล้า


ข้อมูลที่ผิดๆ
เขาเล่าว่า เขาได้รับอีเมล เช่นเดียวกับที่ผู้ประท้วงในพม่าได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่นเรื่องการปราบปรามผู้ประท้วงของทหาร


เขาเชื่อว่า การปล่อยข่าวนี้เป็นความพยายามของทางการพม่า เพื่อชักจูงผู้ประท้วงและบีบให้เว็บไซต์ของเขาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล


"คนจำนวนมากอ่านบล็อกของผม ดังนั้นหากผมใส่ข่าวผิดๆ ลงไปในเว็บ มันจะมีผลต่อประชาชน พวกเขา [รัฐบาล] สามารถทราบสถิติ พวกเขารู้ว่า ประชาชนกำลังดูเว็บของผม ... นั่นหมายความว่า พวกเขากลัว จึงพยายามจะใช้ผมเป็นเครื่องมือในการจัดการกับพลังประชาชน" โก ไถ่ บอก


เมื่อเทียบกับการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนของจีน ระบบของพม่าค่อนข้างตรงไปตรงมากว่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าว


รัฐบาลพม่ามีระบบการกรองที่เข้มงวด ... แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ หนึ่งในผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อคแค่เว็บไซต์ต่างประเทศ ขณะที่ผู้ให้บริการอีกรายบล็อคเฉพาะเว็บไซต์ในประเทศ เอียน บราวน์ (Ian Brown) นักวิจัยเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต วิทยาลัยอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว


บล็อกเกอร์ของพม่าเชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ทางกฎหมาย


"มันสำคัญมาก เพราะประชาชนต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า" โก ไถ่ กล่าว


ท่ามกลางเครือข่ายในโลกไซเบอร์ เขาหวังว่า จะปกป้องใครก็ตามที่เสี่ยงชีวิตเพื่อส่งข้อมูลป้อนให้บล็อกของเขา ซึ่งถูกแบนในพม่าในขณะนี้


"ผมมอนิเตอร์ข่าวพม่า และยังอัพเดตเว็บของผม ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ผมก็จะเตือนพวกเขา สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการทำให้พวกเขาตระหนักรู้


..........................................
ที่มา
: Burma cyber-dissidents crack censorship, Stephanie Holmes, BBC News
26 September 2007

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net