Skip to main content
sharethis

 



 พ.อ.อัคร ทิพโรจน์  โฆษกกองทัพบก และรองผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)


 


วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2005 12:21น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


หากให้ทหาร ตำรวจ ประเมินสถานการณ์ไฟใต้ในปี 2549 แน่นอนว่าคำตอบสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้น "ความสำเร็จจากการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง" ฉะนั้นประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคำตอบสุดท้ายดังกล่าว ก็คือเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในมุมมองของฝ่ายรัฐ


 


พ.อ.อัคร ทิพโรจน์  โฆษกกองทัพบก และรองผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กอ.สสส.จชต.กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ 3 ประการในพื้นที่ คือ


 


1.ทำสงครามทางทหารกับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของประชากร 1.7 ล้านคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 


 


2.ทำงานมวลชนกับประชาชน 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 99% ของประชากรใน 3 จังหวัด


 


และ 3.ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีเป้าหมายคือคน 99% ในพื้นที่ 3 จังหวัด และประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ รวมทั้งประชาคมโลก


 


ทั้งนี้ หากแปรยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ประการ เป็นยุทธวิธีที่ใช้ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมีลักษณะเป็นสงครามกองโจรนั้น จะพบว่ายุทธวิธีที่นำมาใช้ในการต่อสู้มีอยู่หลายรูปแบบ ประกอบด้วย 


 


1.ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งหมายถึงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อจำกัดเสรีภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่การใช้อำนาจจะต้องโปร่งใสและอธิบายได้ทุกกรณี


 


2.สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ หมายถึงการทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะได้รับความคุ้มครอง


 


3.ทำสงครามมวลชน ได้แก่ "การช่วยเหลือ" คือทำให้ประชาชนชอบเจ้าหน้าที่, "การพัฒนา" เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อใจเจ้าหน้าที่ และ "จัดตั้งกองกำลังประชาชน" เพื่อให้ประชาชนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่


 


4.ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ในส่วนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิด จะต้องได้รับผลทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน


 


ระดับต่อมา คือก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องให้บริการประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค และประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากเจ้าหน้าที่เสมอกัน


 


และสุดท้ายต้องบอกให้มุสลิมทั่วโลกได้เข้าใจว่า รัฐบาลไทยกำลังทำอะไรกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ดูแลพี่น้องมุสลิมในพื้นที่อย่างไรบ้าง


 


"ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทั้งหมดนี้ จะต้องเดินไปพร้อมกัน เพราะปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภัยคุกคามทางสังคม ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคง ไม่ใช่ภัยคุกคามทางการทหาร ที่จะใช้กำลังทหาร ตำรวจ จัดการเพียงด้านเดียวได้" พ.อ.อัคร ระบุ


 


อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า จากการที่ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภัยคุกคามทางสังคมนี่เอง ที่ทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างยากลำบาก และค่อนข้างยืดเยื้อยาวนาน


 


 


"โจรมันหลบอยู่ข้างหลังประชาชนได้ ซ้ำยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ฉะนั้นภารกิจหลักของ กอ.สสส.จชต. ก็คือต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน ให้ประชาชนหันมาเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการทุกคนต้องปรับบทบาท เลิกพฤติกรรมยกตนข่มท่าน เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกลยุทธ์ทั้งหมด"


 


หากพิจารณายุทธศาสตร์ของ กอ.สสส.จชต. ผ่านการบอกเล่าของ พ.อ.อัคร จะพบว่าสิ่งสำคัญที่เขาให้น้ำหนักมากที่สุด คือสงครามมวลชน และสงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ นำไปสู่การดำเนินกลยุทธ์ในพื้นที่ เพื่อจำกัดวงของปัญหา และคลี่คลายให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยกลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย


 


 


1.ใช้ปากเป็นปืนเล็ก ด้วยการพูดและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากๆ โดยจะใช้ปืนจริงๆ กับประชาชนในกรณีเดียว คือเมื่อประชาชนผู้นั้นแปลงร่างเป็นโจร เพราะถ้าใช้ปืนก่อน แล้วเกิดความผิดพลาด จะสร้างความไม่พอใจสูงมาก


 


"ว่ากันว่าถ้าเรายิงผิดตัว 1 คน จะสร้างความไม่พอใจเพิ่มขึ้นอีก 50 คน เพราะประชาชนในพื้นที่มีเชื้อของความไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว" พ.อ.อัคร ระบุ


 


2.ใช้สถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์เป็นปืนวิถีโค้ง เพื่อยิงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด


 


3.ใช้ทีวีเป็นเครื่องบินโจมตี เพื่อขยายขอบเขตการยิงข้อมูลข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น


 


และ 4.ใช้รัฐบาลเป็นดั่งพันธมิตร เพื่อกำหนดนโยบายให้สอดรับและเกื้อหนุนกับการดำเนินยุทธศาสตร์ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ชี้แจงกับสังคมโลก ให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย


 


"ทั้งหมดนี้ เมื่อนำมาผนวกเข้ากับยุทธศาสตร์ที่ท่าน ผบ.ทบ. (พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก) เคยประกาศไว้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีของเหมาเจ๋อตุง ได้แก่การเกาะติดพื้นที่ เกาะติดประชาชน และเกาะติดข้าศึก รวมทั้งทฤษฎีปลาแยกน้ำ จึงสามารถนำไปสู่การถอดถอนแกนของกลุ่มก่อความไม่สงบ พร้อมๆ กับการอบรมจัดตั้งประชาชน เพื่อให้กลับมาเป็นแนวร่วมของฝ่ายรัฐ" พ.อ.อัคร สรุป


 


และเมื่อทุกหน่วยงานภายใต้ กอ.สสส.จชต. ดำเนินทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดังกล่าวไปพร้อมกันอย่างเป็นเอกภาพและบูรณาการ จึงทำให้ พ.อ.อัคร มั่นใจว่า สถานการณ์ในปีหน้าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน


 


"ปัญหาที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจากการทำงานที่ไม่มียุทธศาสตร์ในตอนต้น  ซึ่งหากดำเนินการเหมือนที่ผ่านมาต่อไป ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี เราลองผิดลองถูกมา 2 ปีแล้ว เปลี่ยนแม่ทัพไป 3-4 คน แต่ขณะนี้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว และถือว่าผิดเป็นครู จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด"


 


"ฉะนั้นหลังจากนี้โอกาสของความผิดพลาดจะน้อยลง ทุกคนเข้าใจวิธีปฏิบัติ ไม่มีอีกแล้วสายเหยี่ยว สายพิราบ แต่ทุกยุทธศาสตร์และยุทธวิธีจะต้องเดินไปพร้อมกัน"


 


พ.อ.อัคร บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายหลายเรื่องก็ส่งผลดี และมาออกดอกออกผลในช่วงนี้ เมื่อผนวกกับการวางยุทธศาสตร์ใหม่ที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะการสอบสวนผู้ต้องสงสัยของฝ่ายตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จึงทำให้เราได้รู้ว่า รูปแบบการต่อสู้ของฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างไร มีใครอยู่เบื้องหลัง และมีวิธีการชักนำเยาวชนอย่างไร


 


"เมื่อก่อนเราเดินเข้าบ้านไม่ได้เลย แต่ตอนนี้เราเจอกุญแจแล้ว และเข้าบ้านได้แล้ว" เขากล่าวเปรียบเทียบ และว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวแกนนำได้ทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนพอที่จะจับกุมเท่านั้นเอง


 


ส่วนปัญหาเรื่องการอุ้มฆ่า อุ้มหาย ซึ่งถูกตั้งคำถามมาตลอดนั้น พ.อ.อัคร กล่าวว่า ด้วยภาพลักษณ์และวิธีการทำงานของ พล.ต.ท.อดุลย์ ย่อมสร้างความมั่นใจได้ว่า ขณะนี้ไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


 


"สิ่งที่เราจะต้องเร่งดำเนินการในขั้นต่อไป ก็คือการสร้างภูมิต้านทาน ด้วยการเปิดเวทีให้ประชาชนได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น และหลังจากนั้นแม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกบ้าง แต่ผู้ที่ถูกตำหนิจะกลายเป็นฝ่ายผู้ก่อการ เพราะประชาชนอยู่ข้างเราแล้ว" พ.อ.อัคร กล่าวในที่สุด


 


กลับหน้าแรกประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net