Skip to main content
sharethis

ประชาไท—23 พ.ค. 2549 ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าปัญหาราคาน้ำมันและการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2-4 จะเติบโตดีขึ้น


 


นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมมนาซึ่งจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี แต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว จึงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ในภูมิภาคเอเชียต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตาม


 


ทั้งนี้ นักลงทุนเห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐกำลังจะถึงจุดสูงสุด ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ต้นปี ทำให้ภูมิภาคนี้มีค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ในส่วนของประเทศไทยไตรมาส 1 เศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างน่าพอใจ เห็นได้จากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 17.9 แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น การบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนลดลง โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง แต่ก็ได้รับการชดเชยจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 จะออกมาน่าพอใจ


 


ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจจะมีแนวโน้มลดลง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอื่น เช่น การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว อัตราการมีงานทำน่าพอใจ ภาคการผลิตไม่มีปัญหาข้อจำกัด แต่ผลที่ยังไม่ชัดเจนคือปัจจัยด้านราคาน้ำมันและปัจจัยการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งมองว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี เพราะต้องให้เวลากับการปรับตัวทางการเมืองเพื่อให้ตั้งต้นใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงร้อยละ 0.5 เพื่อสะท้อนปัญหาดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อ เพราะถ้าเงินเฟ้อสูงจะมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อประชาชน รวมทั้งการใช้จ่ายของเอกชน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และอาจกระทบความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมานั้นได้ปรับขึ้นไปร้อยละ 1.75 ก็ไม่ได้ส่งผลเสีย เพราะเอกชนปรับตัวได้ดี สินเชื่อขยายตัว หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ได้เพิ่มมากและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงไม่กระทบฐานะการเงินภาคธุรกิจ ขณะที่ดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ จึงถือว่าดอกเบี้ยไม่ได้สูงจนเป็นอุปสรรคในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนค่าเงินบาทที่ผ่านมายอมรับว่าแข็งค่าขึ้น แต่ผู้ส่งออกปรับตัวได้ดี ตัวเลขส่งออกมีการเติบโตและอัตราดอกเบี้ยกับค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่สอดคล้องกัน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2-4 จะเติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 น่าจะมีการใช้จ่ายในประเทศมากโดยเฉพาะการจ้างงาน การส่งออกเติบโต ภาวะสภาพคล่องดีขึ้น การเมืองคลี่คลาย


 


ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net