Skip to main content
sharethis

 



วันที่24 พ.ค. นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงสรุปภาพรวมความเสียหายล่าสุดจากเหตุการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 30 คน แยกเป็น จ.อุตรดิตถ์ 22 คน สุโขทัย 7 คน แพร่ 1 คน ผู้สูญหายมีทั้งสิ้น 77 คน แยกเป็น จ.อุตรดิตถ์ 75 คน แพร่ 2 คน

 


ส่วนบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมีทั้งสิ้น 34,100 ครัวเรือน ถนน 80 สาย สะพาน 28 แห่ง พื้นที่การเกษตร 31,619 ไร่ วัด/โรงเรียน/สถานที่ราชการ 25 แห่ง บ้านเรือนประชาชน 178 หลัง พนังกั้นน้ำ 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 31 แห่ง ได้รับความเสียหาย


 


จ.อุตรดิตถ์ ยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลับแล มีน้ำท่วมขังใน 8 ตำบล ได้แก่ ต.ชัยจุมพล, แม่คำมัน, ทุ่งยั้ง, นานก-กก, ฝายหลวง, แม่พูล, ไผ่ล้อม และเทศบาลตำบลศรีนพมาศ แม้ว่าระดับจะเริ่มลดลง แต่ในพื้นที่ลุ่มยังคงมีน้ำท่วมขัง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.2-0.4 เมตร ซึ่งพบว่า มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 25 ราย บาดเจ็บสาหัส 12 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 800 คน


บ้านเรือนประชาชนเสียหายทั้งหลัง 44 หลัง เสียหายบางส่วน 800 คน


 


อ.ท่าปลา มีน้ำขังใน 7 ตำบล ประกอบด้วย ต.ท่าปลา, น้ำหมัน, จริม, ร่วมจิต, นางพญา, หาดล้า และ แฝก ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว มีผู้เสียชีวิต 7ราย สูญหาย 50 ราย


 


อ.เมือง เกิดน้ำท่วมใน 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.น้ำริด, ท่าเสา, ด่านนาขาม และเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ขณะนี้ระดับน้ำได้เริ่มลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังสูง ทำให้บริเวณ ถ.บรมอาจ รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย (ต.น้ำริด)


 


จ.สุโขทัย มีพื้นที่ประสบภัย 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม, บ้านด่านลานหอย, ศรีสัชนาลัย, สวรรคโลก และศรีสำโรง โดยที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม และ บ้านด่านลานหอย น้ำได้เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.2-0.3 เมตร อ.สวรรคโลก น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในหลายตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.5 เมตร และ อ.ศรีสำโรง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ที่ ต.ขุนไกร, ราวต้นจันทน์, บ้านไร่, บ้านซ่าน ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย


    


อ.ศรีสัชนาลัย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ยังมีน้ำท่วมขัง 6 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านตึก, แม่สิน, ศรีสัชนาลัย, สารจิตร และดงคู่ ส่งผลประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,560 หลังคาเรือน ต้องอพยพประชาชนประมาณ 1,500 คน ไปยังที่ปลอดภัย บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 52 หลัง และ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย


 


ส่วนศูนย์วิทยุนเรนทรสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยใน 4 จังหวัดภาคเหนือในตัวเลขที่ต่างไปว่า พบผู้เสียชีวิตแล้ว 51 ศพ และสูญหายอีก 81 คน บาดเจ็บรวม 264 คน ตาย ส่วนจังหวัดที่มีตัวเลขการสูญเสียสูงสอดคล้องกันคือ จ.อุตรดิตถ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ101 คน ตาย 46 คน สูญหาย 73 คน จ.แพร่ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 127 คน ตายจำนวน 3 คน สูญหาย 1 คน


 


จ.สุโขทัย มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 46 คน เสียชีวิต 2 คน และ สูญหายจำนวน 3 คน ส่วน จ.ลำปางยังไม่ได้รับรายงานถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และ สูญหาย


 


วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์บินตรวจสอบสภาพความเสียหายที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วน โดยเฉพาะเรื่องน้ำดื่มที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนการสูญหายของราษฎรเชื่อว่ายังมีอีกหลายสิบค ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งสำรวจค้นหาทางอากาศแล้ว เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้


 


นอกจากนี้ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างบ้านสำเร็จรูปโดยด่วน เพื่อมอบให้ประชาชนเป็นราย ๆ ไป ขณะเดียวกันในวันที่ 25 พ.ค. จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


     


นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาการอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ไม่ทัน ว่า ไม่ใช่เพราะระบบเตือนภัยไม่ได้ผล หรือขาดประสิทธิภาพ แต่เกิดจากความเชื่อของประชาชนที่มั่นใจว่าเมื่อมีที่อยู่อาศัยอยู่บนเขาแล้ว น้ำจะไม่สามารถท่วมได้


 


ด้าน นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากจังหวัดเชียงราย เพื่อบินตรวจพื้นที่ป่าตั้งแต่ จ.แพร่ ไปถึง จ.อุตรดิตถ์ และสมทบกับคณะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้ถือว่ารุนแรงเป็นอย่างมาก


 


โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าสาเหตุเกิดจากความชื้นของฝั่งทะเลอันดามัน และความกดอากาศต่ำจากจีนมาพบกันทำให้มีฝนตก 384 มม. มากเป็นประวัติการณ์ ความเร็วของน้ำ 584 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ถือว่าฝนตกหนักมาก เท่ากับฝนตก 2 วัน เท่ากับฝนตก 30% ของฝนตกทั้งปี คือ 1,200 มม.


 


ทั้งนี้ ได้หารือกับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน เพื่อปิดประตูเขื่อนสิริกิติ์ ลดการปล่อยน้ำลงแม่น้ำน่าน และเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนไว้ปั่นกระแสไฟฟ้ามากที่สุด และช่วยป้องกันน้ำหนุนเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรซ้ำอีกรอบ


    


สำหรับพรรคฝ่ายค้าน นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดภาคเหนือว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดระดมของบริจาค อาทิ ข้าวสาร น้ำ อาหารแห้ง รวมทั้งสิ่งอุปโภคบริโภคที่สำคัญ โดยวันนี้จะมีการจัดสิ่งของต่างๆ ส่งไปยังจังหวัดแพร่


    


ส่วนในวันที่ 25 พ.ค. นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ นายวิทยา แก้วภราดัย จะนำสิ่งของต่างๆ ไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ และสุโขทัย ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์นั้นขณะนี้ได้ทราบจากสาขาพรรคจังหวัดว่ามีความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ จึงคิดว่าหากทางรถไม่สามารถเข้าไปได้ก็จะมีการประสานขอเฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก เพื่อเข้าไปช่วยเหลือให้ได้ทุกจุดที่ประสบภัย


 


นอกจากนี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความเป็นห่วงอุทกภัยภาคเหนือ โดยได้จัดรถเครนจำนวน 4-5 คันเพื่อเตรียมไปยกสิ่งกีดขวาง รถทำความสะอาดบ้าน และจะมีการจัดแพทย์ พยาบาลอีก 2 คันรถเพื่อบรรเทาทุกข์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net