Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 มิ.ย. 2549 นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังจากการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลงว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำเสนอการกำหนดแนวทางในการเพิ่มคุณภาพการบริการสุขภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายภาครัฐด้วยบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งทางอย. ได้เสนอให้ใช้บัญชียาหลักเดียวกัน ทั้งโครงการ 30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค, โครงการประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการใช้ยา (ยกเว้นเรื่องห้องพักคนไข้)


 


ในส่วนของสวัสดิการข้าราชการเท่าที่ผ่านมา พบว่ากรมบัญชีกลางได้จัดทำรายการบัญชียาที่แยกออกมาใช้เอง แม้จะมีการนำบัญชียาหลักแห่งชาติมาอ้างอิง แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักได้โดยคณะกรรมการยาของกรมบัญชีกลางเป็นจะผู้พิจารณาเป็นกรณีไป การรักษาเกือบทั้งหมดจึงเป็นการใช้ยานอกบัญชียาหลักทั้งสิ้น


 


เมื่อคิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในปี 2547 พบว่าร้อยละ 30 เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาทั้งสิ้น และยังมีอัตราค่าใช้จ่ายในการซื้อยาเพิ่มขึ้นอีกปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท


 


ทาง อย. เสริมว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มุ่งเพียงการลดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับภาครัฐเท่านั้น แต่มุ่งในเรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสมให้กับประชาชนด้วยการเสนอให้ใช้บัญชียาหลักในทุกระบบประกันสุขภาพ รวมถึงประกันสังคม เพราะยาในบัญชียาหลักถือเป็นยาที่ดีที่สุด และครอบคลุมในการรักษาทุกโรค ซึ่งในปัจจุบันพบว่าบริษัทยาต่างๆ มีกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย มีทั้งการจัดโปรโมชั่น และการโฆษณาสรรพคุณยา จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ยาพร่ำเพรื่อ


 


ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความเห็นชอบกับข้อเสนอของอย. โดยให้เหตุผลว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่จำเป็นของภาครัฐได้ไม่ต่ำกว่า 23,000 ล้านบาทต่อปี จึงควรจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปในอนาคตอันใกล้


 


อย่างไรก็ตาม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมหาแนวร่วม เพื่อคัดค้านกระทรวงสาธารณสุขในกรณีที่มีการปรับบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีการรวมประกันสังคมกับโครงการ 30 บาทให้เป็นบัญชีเดียวกัน เนื่องจากว่าอาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่ไม่อาจเข้าถึงยาได้อย่างเต็มที่เหมือนเคย นอกจากนี้ยังเกรงว่าในอนาคตผู้ประกันตนอาจต้องจ่ายชดเชยให้โครงการ 30 บาทด้วย


 


ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่าการใช้บัญชียาหลักเพียงบัญชีเดียวของทั้ง 3 กองทุนจะส่งผลกระทบกับผู้ประกันตนอย่างแน่นอน เพราะจากที่เคยสามารถใช้ยานอกได้ด้วย ต่อไปก็จะใช้ได้แค่ยาหลัก ซึ่งอาจจะมีคุณภาพด้อยกว่าที่เคยได้รับ ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือนในอัตราที่สูงอยู่แล้ว จึงมีการเสนอว่าก่อนที่รัฐบาลจะทำอะไรเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่กำหนดจากเบื้องบนแล้วสั่งการลงมาอย่างเดียว


 


น.ส.วิไลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าความพยายามของรัฐในการรวมกองทุนด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน อาจเนื่องมาจากโครงการ 30 บาทที่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ แม้ผู้ประกันตนจะไม่ได้รังเกียจโครงการ 30 บาท และเห็นด้วยที่มีโครงการนี้ แต่รัฐควรจะดูแลให้ดี และจัดการให้ประชาชนทั่วไปได้รับมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ควรบริหารจัดการด้วยการโยกเงินจากกองทุนหนึ่งไปอุดอีกกองทุน เพื่อให้เดินหน้าเป็นโครงการหาเสียงต่อไปได้


 


เช่นเดียวกับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของประกันสังคมยังไม่มีประสิทธิภาพดีนัก ประกันสังคมควรจะหันมาดูแลตรงส่วนนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้คุ้มกับเงินที่ประชาชนต้องเสียไป เช่น ไม่ควรจำกัดโรงพยาบาลรักษาเพียงโรงพยาบาลเดียวแก่ผู้ประกันตน แต่ควรจะเข้าได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินก่อนด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net