Skip to main content
sharethis


เอเอฟพี - องค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เผยแพร่ "รายงานการค้าและการพัฒนา" ประจำปี 2006 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาวิพากษ์นโยบายเปิดเสรีและปฏิรูป ที่เป็นประเด็นหลักดันหลักของ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

 


รายงานของอังค์ถัดระบุว่า นโยบายมาตรฐานของเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถช่วยลดความยากจนได้เลย โดยการปฏิรูปต่างๆ แบบพึ่งพิงตลาด ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ดำเนินการผลักดันให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใช้ ไม่ได้ผลเป็นไปตามคำมั่นสัญญาแต่อย่างใด


อังค์ถัดยังได้เสนอให้ รัฐบาลในประเทศยากจนทั้งหลาย กล้าหลาญที่จะใช้นโยบายแทรกแซงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา, อัตราดอกเบี้ย, การค้า, การไหลเวียนของเงินทุน, หรือการสนับสนุนรายได้ ทั้งนี้ ไฮเนอร์ ฟลาสเบก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโลกาภิวัตน์ของอังค์ถัด กล่าวระหว่างการแถลงรายงานชิ้นนี้ที่นครเจนีวา ได้ยกตัวอย่างของจีน ซึ่งสามารถรักษาการเติบโตอย่างสูงลิ่วได้อย่างต่อเนื่องในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อก็ต่ำด้วย


 


"ถ้าคุณดูแนวความคิดเดิมๆ ในทฤษฎีการพัฒนาและเศรษฐกิจมหภาค แล้วดูจีนในช่วง 20 ปีหลังมานี้ คุณจะพบว่า 95% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีควรจะต้องได้ข้อสรุปว่า จีนไม่มีทางที่จะทำได้ แต่มันกำลังเป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว ... เพราะพวกเขาใช้เครื่องมือตัวช่วยต่างๆ มากกว่า และนโยบายต่างๆ ซึ่งกำหนดกันออกมาก็ช่างแตกต่างไปจากพวกนโยบายเดิมๆ ที่เป็นตัววางกรอบสิ่งซึ่งพวกเราเรียกกันว่า เงื่อนไขทางการเงินอันแข็งแรง"


 


รายงานชิ้นนี้ยังชี้ด้วยว่า การลดเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเงินที่ใช้อยู่ในละตินอเมริกา ได้นำไปสู่วิกฤตธนาคารหลายต่อหลายระลอก ทว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก กลับสามารถประคองรักษาอัตราการขยายตัวเอาไว้ได้ ด้วยการใช้ระเบียบควบคุมสินเชื่อแห่งชาติ และมาตรการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุน


 


อย่างไรก็ตาม ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัด ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มีช่องทางที่ชาติต่างๆ จะเข้าแทรกแซงสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศของตน โดยที่ไม่ถอยหลังเลิกราบรรดาดอกผลซึ่งได้มาจากการเจรจาเปิดเสรีการค้าทั้งหลาย โดยเตือนด้วยว่า รายงานของอังค์ถัดนี้ เป็นเพียงการเสนอให้ใช้นโยบายสนับสนุน  อุตสาหกรรมในประเทศ แต่การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่ยืนยาวไปตลอดกาล และเป็นวิธีในเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น


 


"สำหรับบางประเทศแล้ว จำเป็นต้องมีการแทรกแซงกันบ้างในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างความได้เปรียบให้แก่พวกผู้ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ในการแข่งขันในตลาดส่งออก"


 


วันเดียวกัน นายโรดริโก ราโต กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศที่จะแก้ไขกฎระเบียบของไอเอ็มเอฟ โดยให้ชาติกำลังพัฒนา มีสิทธิ์ในการออกเสียงมากขึ้น เพื่อสะท้อนดุลอำนาจของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป


 


ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟมีสมาชิก 184 ประเทศทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนสถานภาพที่เป็นจริงของสมาชิกบางประเทศ เช่น จีน ที่บัดนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้แผนการของไอเอ็มเอฟนี้จะส่งให้ผู้ว่าการธนาคารชาติของแต่ละประเทศสมาชิกพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุมัติแผนขั้นสุดท้ายในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟที่สิงคโปร์ในระหว่างวันที่ 19 - 20 กันยายนนี้


 


 


................................................................................................................


ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ และ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net