Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรในสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมมักอยู่ในรูปแบบการใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงผ่านวิธีการชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ แต่ผลของการเรียกร้องก็ไม่อาจสำเร็จอย่างยั่งยืนมากนัก เห็นได้จากการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ กันทุกปี ซ้ำร้ายในกระบวนการขับเคลื่อนหรือชุมนุมแต่ละครั้งแกนนำและตัวเกษตรกรเอง ต้องประสบปัญหาจากการดำเนินคดีทางกฎหมายจากภาครัฐ ไม่ว่าการจับกุม ปรับ ด้วยข้อหาคลาสสิค เช่น การกีดขวางทางจราจร การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ฯลฯ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการให้เกิดประสิทธิผล ทั้งในแง่รูปแบบการขับเคลื่อนนโยบาย และการตอบรับสาระสำคัญข้อเสนอของเกษตร

ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฯ อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดรูปแบบการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิเกษตรกร ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(8) ดังนั้นการยกร่าง พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาตินี้ จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรรวมถึงสังคมไทยต้องเฝ้าจับตามองให้สภาเกษตรแห่งชาติ เป็นเวทีและเป็นปากเป็นเสียงของเกษตรกรอย่างแท้จริง และ ตอบสนองต่อสิทธิเกษตรกรในท้ายที่สุด

ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติฯ ฉบับที่พรรคชาติผลักดันผ่านคณะรัฐมนตรี ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา (คาดว่าน่าจะเข้าสู่วาระการพิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคม) ร่าง พรบ. ฉบับนี้ มีข้อน่าวิตกกังวลหลายประการ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการรวมกลุ่มของเกษตรกเพื่อพัฒนาสิทธิเกษตรกร อาทิ

     - วิธีการคัดเลือกตัวแทนเกษตรกร ซึ่งกำหนดให้องค์กรเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับราชการจึงจะมีสิทธิส่งชื่อผู้เข้าสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระดับจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิ

     - จัดให้มีสภาเกษตรกร 2 ระดับ คือ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สภาเกษตรกรจังหวัด โดยผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเท่า นั้น และอาจทับซ้อนกับการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีหน่วยงานในส่วนกลาง และภูมิภาคไม่แตกต่างกัน

     - ไม่มีการจัดตั้งสมัชชาเกษตรกรให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง

     - อำนาจและหน้าที่ของสภาเกษตรกรหลักๆ คือ การจัดประชุมเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายสาธารณะด้านการเกษตรเป็นหลัก เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนจึงจะเข้าคณะรัฐมนตรี

     - การประชุม การลงคะแนนเสีย จะจัดให้มีการประชุมประจำปีเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบาย การออกมติใช้ระบบเสียงข้างมาก

     - มติของสภาเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติ ต้องผ่านการคัดกรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเสมอ รัฐบาลและราชการไม่มีข้อผูกมัดใดที่จะต้องปฏิบัติตามมติของสภาเกษตรกร

     - การบริหารจัดการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และระดับจังหวัด ให้กระทรวงเกษตรเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะสำนักงานเลขาธิการเพื่อบริหารงานภายในองค์กร

     - การบริหารและจัดการงบประมาณแบบราชการ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร และตอบสนองต่อสิทธิเกษตรกร ยังมีความเป็นไปได้ทั้งวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายคู่ขนานกันไป หรือการสร้างกระแสสังคมเพื่อให้รัฐสภาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติให้เป็นไปตามความมุ่งหวังข้างต้น โดยข้อเสนอที่อาจจะเป็นทางเลือกในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

คัดเลือกตัวแทนเกษตรกรมาโดยให้ เกษตรกรทั้งหลายสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรงในวันเปิดประชุมสมัชชาเพื่อเสนอตัวเข้ารับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเกษตรกรยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกในองค์กรเกษตรที่จดทะเบียนกับราชการ

สภาเกษตรกรจัดให้มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นองค์กรเชื่อมระหว่างเกษตรกร กับ ภาครัฐ โดยจะมีสมัชชาเกษตรกรเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องชนะการคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร

จัดให้มีสมัชชาเกษตรกรเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรง และมีสมัชชาให้เข้าร่วมได้หลายระดับทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด พื้นที่ และสมัชชาเฉพาะประเด็นที่เกษตรกรมีความสนใจ หรือมีปัญหาเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจเป็นแนวทางลดความขัดแย้งดังที่เคยปรากฏมาในอดีตอีกด้วย

สภาเกษตรกรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนา “สิทธิเกษตรกร” จัดประชุมเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายสาธารณะด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นหลัก เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภาโดยตรง

จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีเพื่อทำแผนแม่บท และนโยบายพัฒนาสิทธิเกษตรกร แต่สมาชิกอาจขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญได้หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อ แก้ไขปัญหาให้เกษตรกร การออกมติใช้ระบบเสียงข้างมากยังอาจมีความจำเป็นอยู่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปได้จริง

มติของสภาเกษตรกรทีมีความจำเป็นต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติ อาทิ แผนแม่บท และนโยบายสาธารณะ ไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานใดๆ ให้นำเสนอต่อคณะรับมนตรีโดยตรง หากคณะรัฐมนตรีรับหลักการต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลและราชการจึงมีข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามมติของสภาเกษตรกรที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การบริหารจัดการสภาเกษตรกรแห่งชาติให้มีคณะกรรมการบริหารที่คัดเลือกจากสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 21 คน และให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการอิสระภายใต้การควบคุมของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มิใช่มาจากราชการ

จัดให้มีกองทุนสำหรับการบริหารงานอย่างอิสระ ภายใต้กำกับของกฎหมาย โดยให้สำนักงานเลขาธิการฯเป็นผู้บริหารภายใต้ควบคุมของคณะกรรมการบริหารสภา เกษตรกรแห่งชาติ

ดังนั้นการปล่อยให้ ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติฯ ฉบับร่างของรัฐบาล ผ่านไปโดยไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกรมากกว่าการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร การเฝ้าจับตามองและผลักดันให้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนา การรวมกลุ่มของเกษตรกร และส่งเสริมสิทธิเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น

 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net