ครั้งแรก! เครือข่ายผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมทั่วอาเซียน เร่งเครื่องคุ้มครองสิทธิประชาชนรับมือเปิดเสรีการค้า

 28 ก.ค.52 สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดประชุมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงราย (ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ค.) หัวข้อ “The New Wave of ASEAN Consumer Protection in Telecommunications” โดยมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคหลายประเทศในอาเซียนเข้าร่วม โดยเวทีนี้เป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมประจำปีของสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่ง กทช.เป็นเจ้าภาพ
สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สบท. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของ กทช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในอาเซียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างกันเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคจำเป็นต้องทำงานในระดับภูมิภาคมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลของประเทศอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันในการทำตลาดการค้าให้เป็นตลาดเดียวมาตั้งแต่ปี 2007 โดยในปี 2010 นั้นจะมีการเปิดเสรีอย่างน้อย 3 ด้านในภาคบริการ ได้แก่ บริการสุขภาพ บริการการบิน และบริการการขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต
เธอกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคระดับภูมิภาค มีการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council)หรือ SEACC ขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2007 โดยจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาฯ อาเซียน และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ขณะนี้มีประเทศสมาชิกรับรองแล้ว 5 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โดยมุ่งการติดตามการเปิดเสรีใน 3 ประเด็น คือ เรื่องความปลอดภัยของสินค้า การเงิน และด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะมุ่งไปที่เรื่องอัตราการคิดค่าบริหาร การปกป้องข้อมูลส่วนตัว และการจัดการข้อพิพาทข้ามพรมแดน
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธาน SEACC กล่าวเสริมถึงองค์กรนี้ว่า เมื่ออาเซียนเป็นตลาดเดียวกันมากขึ้น ปัญหาของผู้บริโภคก็จะยิ่งมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องโทรคมนาคม ซึ่งในช่วงหลังมีข้อร้องเรียนมากเป็นลำดับต้นๆ ในปี 2007 ประเทศอาเซียน 7 ประเทศจึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงพลังของเครือข่ายว่าสามารถคานอำนาจธุรกิจ การเมือง และผลักดันให้ผู้บริโภครู้จักสิทธิ และคุ้มครองตนเองได้
Mr.Seah Seng Choon ตัวแทนจากสิงคโปร์ กล่าวว่า การประชุมหารือกันครั้งนี้และการทำงานร่วมกันของเครือข่ายในระดับภูมิภาคจะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถแบ่งปันข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศตนเพราะขณะนี้เทคโนโลยีและภาคธุรกิจก็เชื่อมโยงกันหมดแล้ว และการร่วมพลังกันเช่นนี้ยังเป็นการลดต้นทุนและเสริมศักยภาพในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ร่วมกันด้วย
Ms.Indah Sukamaningsih จาก Globla Just and SEACC กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อหารูปแบบและมาตรการในการคุ้มครองสิทธิที่ดีที่สุดในอาเซียน เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคในประเทศต่างๆ นำไปปรับใช้ให้เป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันโดยการรณรงค์หรือเรียกร้องต่อรัฐบาลของตนเอง 
 


 
ทำความรู้จัก สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน
(Southeast Asian Consumer Council – SEACC)
 
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและสามารถดึงดูดการลงทุนของธุรกิจต่างๆ ด้วยประชากร 567 ล้านคน ในพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) มีผลผลิตมวลรวมในประเทศรวมกันถึง 876 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงจากสถิติของ ASEAN ในปี 2549)
 
ประชากร 567 ล้านคนก็คือผู้บริโภค 567 ล้านคนที่สมควรได้รับการคุ้มครองและได้รับความสะดวกในการเรียกร้องการชดเชยเมื่อได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
 
แม้จะมีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) มีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) แต่ปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การแพร่กระจายของสินค้าและบริการนั้นดูเหมือนจะเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อขาดหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว การทำงานเพื่อให้การศึกษาและคามรู้แก่ผู้บริโภคในระดับภูมิภาคจึงค่อนข้างจำกัด จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และจัดทำแผนการปฏิบัติงานในภูมิภาคขึ้น  องค์กรผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนจำนวนหนึ่งจึงได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรระดับภูมิภาคขึ้นโดยใช้ชื่อว่า สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน หรือ SEACC
 
 
พันธกิจ
-          เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาค
-          สร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคในภูมิภาค
-          ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็ฯที่เกี่ยวกับผู้บริโภค
-          ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก
 
 
องค์กรร่วมก่อตั้ง
ได้แก่ องค์กรผู้บริโภคจากประทเศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย
Yayasan Dembaga Indonesia (YLKI)
Federation of Malaysia Consumers Associations (FOMCA)
IBON Foundation, the Philippines
Consumer Association of Singapore (CASE)
Consumer Association of Brunei Darussalam (CAB)
Vietnam Standards and Consumers Association (VIANSTAS)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Foundation for Consumers (FFC), Thailand
 
ด้วยการสนับสนุนจาก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Consumers International, Asia Pacific Office)
 
 
สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ
  1. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากากรใช้สินค้าและบริการ
  2. สิทธิที่จะได้รับข้อเท็จจริงเพื่อการเลือกและตัดสินใจ
  3. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการมากกว่า 1 ราย
  4. สิทธิที่จะแสดงความเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค
  5. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
  6. สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเมื่อถูกละเมิด
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน
  8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
 
 
ที่มา : แผ่นพับ “การคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค” สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน email: konsumen@red.net.id, indah_ylki@yahoo.com
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท