Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ Telegraph ของอังกฤษได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการที่ Sotheby บริษัทจัดประมูลรายใหญ่ที่เก่าแก่ของอังกฤษได้ขายไวน์ในรอบปีที่ผ่านไปในฮ่องกงเป็นมูลค่าถึง 14.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่าในนิวยอร์คที่ขายได้เป็นมูลค่า 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลอนดอน 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้กล่าวต่อไปถึงการประมูลไวน์ Chateau Petrus ปี 1982 จำนวน 1 Imperiale (8 ขวด) ด้วยราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 93,077 เหรียญฯ สหรัฐ โดยชาวจีนแผ่นดินใหญ่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของตลาดและกำลังซื้อไวน์จากชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีน รายงานข่าวฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลต่อไปด้วยว่าฮ่องกงได้กลายเป็นศูนย์กลางการประมูลไวน์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ในทางเดียวกันกลุ่มผู้ประมูลไวน์เหล่านี้ก็คือบรรดาเศรษฐีชาวจีนจากทั้งบนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ที่มีจำนวนถึงร้อยละ 61 ของกลุ่มคนที่ทำการประมูล ซึ่งขยายตัวอย่างมากจากจำนวนเพียงแค่ร้อยละ 7 ในปี 2005 นอกจากนี้ปริมาณการซื้อไวน์ของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในระหว่างเดือนกันยายนปี 2008 ถึงพฤษภาคมปี 2009

 
สำหรับผู้เขียนแม้รายงานข่าวฉบับนี้จะเป็นเพียงข้อเขียนสั้นๆ หากแต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดื่มกินของชาวจีนในปัจจุบันสมัยได้เป็นอย่างดี โดยผู้เขียนได้มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับปริมาณและมูลค่าการบริโภคไวน์อันสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและการเพิ่มจำนวนของเศรษฐีใหม่ (NouveauRiche) ในประเทศจีน
 
ข้อสังเกตประการแรก คือ การขยายตัวของการประมูลไวน์และการตั้งศูนย์การประมูลไวน์ในฮ่องกงของบริษัทจัดประมูลชั้นแนวหน้าของโลกเป็นผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่ทางการฮ่องกงได้ยกเว้นภาษีไวน์ เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ชนิดอื่นๆ เมื่อช่วงต้นปี 2008 ซึ่งสวนทางกับแนวทางในหลายประเทศที่พยายามเพิ่มภาษีประเภทนี้ ส่งผลให้ราคาไวน์ในฮ่องกงมีราคาที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลก บริษัทจัดจำหน่ายและประมูลไวน์จำนวนมากจึงได้ขยายหรือย้ายฐานมาจัดตั้งในฮ่องกง อย่างไรก็ดีการยกเว้นภาษีดังกล่าวก็มิได้ทำให้รายได้ของทางการลดลง เพราะรายได้จากการซื้อขาย จัดเก็บ และประมูลไวน์ ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 4 พันล้านเหรียญฯ สหรัฐในรอบปีที่ผ่านมา
 
ประการที่สอง แม้เงื่อนไขทางภาษีจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับการขยายตัวของตลาดไวน์ในฮ่องกง หากแต่การขยายตัวอย่างมหาศาลดังกล่าวจะเป็นไปมิได้เลยหากขาดแรงสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจที่เปิดรับตลาดเสรีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 และการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2001 ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งภาคการส่งออกและบริโภคภายในประเทศดังกล่าว ได้ส่งผลให้ชาวจีนมีฐานะร่ำรวยขึ้นอย่างมากและกลายเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง เคยมีการประมาณการอย่างคร่าวๆ ว่ามีมหาเศรษฐีจีนประมาณ 130 คนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านเหรียญฯ สหรัฐ จำนวนของมหาเศรษฐีเหล่านี้ดูจะเป็นรองแต่เพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ นักข่าวผู้สันทัดเรื่องจีนได้เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่ามหาเศรษฐีเหล่านี้ใช้เงินมากมายขนาดที่ว่าสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปรับประทานอาหารตามเมืองต่างๆ ของประเทศจีนแล้วค่อยกลับมาทำงาน ในแง่นี้จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่พวกเขาจะมีเงินในการซื้อหาไวน์ราคาแพงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Chateau Petrus, Chateau Lafite Rothschild,Chateau Mouton Rothschild หรือ Domaine de la Romanee-Conti ทั้งเพื่อดื่มกิน เก็บสะสมและเก็งกำไร นอกจากนี้บรรดาชาวจีนที่รวยระดับรองลงมาก็ยังได้หันมาบริโภคไวน์กันมากขึ้นอันส่งผลให้ตลาดไวน์ในทุกระดับขยายตัวอย่างมาก มีตัวเลขประมาณการว่าอัตราการจำหน่ายไวน์ (ทั้งที่ผลิตในและนอกประเทศ) ในประเทศจีนเพิ่มจาก 1.5 พันล้านลิตรในปี 2001 มาเป็นประมาณ 2.5 พันล้านลิตรในปี 2008 การเพิ่มจำนวนการจำหน่ายไวน์ดังกล่าวนี้ได้ทำให้จีนกลายเป็นประเทศบริโภคไวน์สูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก (5 อันดับแรก คือ ฝรั่งเศส อิตาลี อเมริกา เยอรมันและสเปน) และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่อัตราการการจำหน่ายหรือบริโภคจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ซึ่งปัจจุบันบริษัทไวน์จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะออสเตรเลียและอิตาลีก็ได้เห็นโอกาสทางการค้าและพยายามเข้ามาทำตลาดแย่งส่วนแบ่งกับไวน์จากฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่นิยม
 
ประการที่สาม ผู้เขียนมีความคิดว่าตลาดไวน์และอัตราการบริโภคไวน์ของจีนจะขยายตัวขนาดนี้มิได้เลยหากขาดแรงจูงใจทางการบริโภคสัญญะที่แฝงอยู่ในไวน์ เพราะบรรดาชาวจีนที่ร่ำรวยทั้งหลายต่างมีความสามารถในการซื้อหาเครื่องดื่มที่มีมูลค่าพอๆ กับไวน์ราคาแพงได้ อาทิ Single Malt หากแต่ตลาดและความนิยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ก็มิได้ขยายตัวมากมายแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่าไวน์เป็นเครื่องดื่มที่มีความสัมพันธ์กับการให้คุณค่าทางสังคมอย่างยากจะแยกขาด แม้ในอดีตไวน์อาจเป็นเครื่องดื่มของหลายกลุ่มคนตั้งแต่ชนชั้นสูง ถึงชนชั้นล่าง (ไวน์เคยถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างแรงงานในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลีในช่วงกลางศตวรรษที่ 19) แต่ในปัจจุบันสมัยไวน์ดูจะถูกทำให้มีความหมายของการเป็นเครื่องดื่มสำหรับ “ผู้มีฐานะ” ทางสังคมและเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ฐานะดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ผันแปรไปตามการครอบครองหรือบริโภคไวน์แต่ละยี่ห้อ แต่ละปี ในแง่นี้ย่อมส่งผลให้ไวน์ที่ถูกจัดอันดับต้นๆ ทั้งจากนิตยสารไวน์และแวดวงสังคมได้รับความนิยมอย่างมากจากบรรดาเศรษฐีที่ต้องการยกสถานะทางสังคมของตัวเอง นอกเหนือจากสถานะทางเศรษฐกิจ เพราะไวน์ราคาสูงจาก Chateau ต่างๆ เป็นสิ่งที่แฝงไปด้วยเรื่องราวและสะท้อนให้เห็นถึงการที่จะต้องมีความรู้ในการทำความเข้าใจเรื่องราวและชื่อที่ปรากฎอยู่บนฉลาก รวมถึงวิธีการดื่มที่ถูกต้อง
 
สัญญะที่แฝงอยู่ในไวน์ยังแสดงให้เห็นอีกว่าแม้จีนจะสามารถผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ป้อนสู่ตลาดโลกได้อย่างมหาศาล อันนำมาซึ่งความร่ำรวยของชาวจีนจำนวนมาก หากแต่ถึงที่สุดแล้วสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจากยุโรปก็ยังเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการยกสถานะทางสังคมของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ยุโรป เครื่องแก้วคริสตอลยี่ห้อดัง หรือนาฬิกาสวิสต์ เป็นต้น และถึงแม้จะมีสินค้าจีนบางยี่ห้อที่สามารถสร้างความนิยมและสถานะทางสังคมอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูปผู้ชายยี่ห้อ Trands แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าโดยรวมสินค้าประเภทนี้ก็ยังมีจำนวนไม่มากเท่าใดนักและปัจจุบันก็ยังมีชื่อชั้นทัดเทียมกับสินค้าจากยุโรปไม่ว่าจะเป็น รองเท้าหนังจากอิตาลี หรือเสื้อผ้าจากฝรั่งเศส ได้ยากยิ่ง ซึ่งการพัฒนามูลค่าทางสัญญะของสินค้าจีนคงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะไวน์ที่ผลิตในจีนอาจต้องใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษในการสร้างเรื่องเล่าและมูลค่าทางสัญญะให้กับสินค้า
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ถึงการที่ไวน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ในการสร้างสถานะและตัวตนของผู้ครอบครองและผู้บริโภคให้มีความแตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งความต้องการสร้างสถานะทางสังคมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่บรรดาคนร่ำรวยทั้งหลายได้ใช้มูลค่าเงินในกระเป๋าของพวกเขาแลกเปลี่ยนกับไวน์ชั้นดีเพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าทางสัญญะที่จะทำให้พวกเขาดูมีวิถีชีวิตที่หรูหราและมีสถานะทางสังคมทัดเทียมกับชนชั้นนำในที่ต่างๆ ของโลก
 

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "มุมมองบ้านสามย่าน" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net