Skip to main content
sharethis

 

 
นายจุมพล เดชดำนิล ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการสาธิตพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจังหวัดปัตตานี จะย้ายกลับมาติดตั้งที่แหลมตาชี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่ของกองทัพเรือ เพราะขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ทำ MOU ความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงกลาโหมแล้ว
 
นายจุมพล กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการนี้ย้ายออกจากพื้นที่ของกองทัพเรือ ที่แหลมตาชีไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เนื่องจากกองทัพเรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ แต่เมื่อตกลงทำความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงกลาโหม จึงพิจารณาร่วมกันคัดเลือกเห็นว่า พื้นที่แหลมตาชีมีความเหมาะสม จึงย้ายโครงการกลับมาดำเนินการที่เดิมซึ่งเป็นของกองทัพเรือคือ
 
“หลังจากนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานได้จัดสัมมนาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 1 โดยบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เมื่อเวลา 09.00–11.30 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2553 ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย นายอดิศักดิ์ ชูสุข วิศวกรชำนาญการจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ นายพีรพงค์ เชี่ยววัฒนากุล จากบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด ปลัดอำเภอยะหริ่ง ตัวแทนอำเภอยะหริ่ง นายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์และราษฎรตำบลแหลมโพธิ์ ทั้ง 4 หมู่บ้าน เข้าร่วม 150 คน และมีผมเข้าร่วมประชุมด้วย” นายจุมพล กล่าว
 
นายจุมพล เปิดเผยว่า ในวันดังกล่าว นายพีรพงค์ เชี่ยววัฒนากุล จากบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ประกอบด้วย ความรู้เบื้องต้น ประวัติกังหันลม ผลกระทบจากการติดตั้งกังหันลม และตอบข้อซักถามของประชาชนที่มาเข้าร่วม และจะเป็นเวทีชี้แจงเวทีสุดท้าย โดยก่อนหน้านี้เคยนำชาวบ้านตำบลแหลมโพธิ์ มารับฟังคำชี้แจง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาแล้ว 1 ครั้ง และเคยจัดเวทีชี้แจงข้อมูลต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีอีก 1 ครั้ง
 
นายจุมพล กล่าวว่า สำหรับบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบฐานรากของที่ตั้งกังหันลม มีกำหนดแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ขณะนี้กังหันลมทั้ง 2 ตัวสร้างเสร็จแล้ว ติดตั้งได้ทันที่ที่สร้างฐานรากเสร็จ ถือเป็นโรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดใหญ่ของไทย
 
ทั้งนี้ สำหรับกังหันลมขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีเสียงดังเท่ากับตู้เย็นประจำบ้าน ผลิตไฟฟ้าได้ 15% ของความเร็วลมทั้งปี 24 ชั่วโมง คูณกับ 365 วัน ซึ่งจะได้กระแสไฟฟ้า 328,500 หน่วยต่อปี ขายหน่วยละ 8 บาท เป็นเงินจำนวน 2,491,000 บาทต่อปี โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ 2 ตัว ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5 กิโลวัตต์
 
“ในส่วนของชาวบ้านที่ต่อต้าน เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แหลมโพธิ์ต้องไปทำความเข้าใจ สาเหตุที่ชาวบ้านปิดถนนประท้วง เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบกับวิถีชุมชน อันที่จริงการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้” นายจุมพล กล่าว
 
นายจุมพล กล่าวอีกว่า สำหรับผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ ขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ จะประสานกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ โดยอาจจะนำภาษีจากโรงไฟฟ้ากังหันลม จัดตั้งเป็นกองทุนและสวัสดิการให้กับประชาชนชาวตำบลแหลมโพธิ์ รวมทั้งทำให้สถานที่ก่อสร้างกังหันลมเป็นสถานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือก หากทางองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์บริหารดีชาวบ้านก็จะมีรายได้
 
นายและ แวสะมาแอ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้ากังหันลมแหลมตาชี เปิดเผยว่า ชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้ากังหันลม ถ้าหากสร้างจริงตนจะนำชาวบ้านออกมาทวงถามนายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เพราะเคยรับปากกับชาวบ้านว่าจะประสานงานกับหน่วยงานข้างบนให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลม
 
“ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ตนจะเป็นแกนนำชาวบ้านล่ารายชื่อถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนนายนิราศ เพราะต้องการให้เข้ามายุติโครงการนี้” นายและ กล่าว
 
“ผมอยากทราบว่าถ้าโรงไฟฟ้ากังหันลมเกิดขึ้น ชุมชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จะได้รับผลกระทบอย่างไร ผมไม่อยากให้ลูกหลานต้องรับชะตากรรมในวันข้างหน้า ชาวบ้านที่นี่เขาไม่ต้องการแต่ไม่รู้จะพูดคุย อธิบาย ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่รัฐยังไง ทราบมาว่าพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้ากังหันลมส่งผลกระทบกระเทือนต่อชายฝั่งทำให้ปลาไม่เข้าฝั่ง กระทบต่อระบบนิเวศ กระทบต่อนกที่อพยพเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนทุกปี” นายและ กล่าว
 
นายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ กล่าวว่า ตนไม่สามารรถรับปากกับกลุ่มผู้คัดค้านได้ว่า จะชะลอโครงการหรือยุติการสร้างได้หรือไม่ เพราะตนไม่สามารถห้าม หรือไปยกเลิก หรือชะลอโครงการได้ เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ
 
“ตนต้องยึดเหตุผลและประโยชน์ของชาวบ้านส่วนใหญ่ ที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ส่วนที่ชาวบ้านที่คัดค้านจะออกมาล่ารายชื่อถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล จะประสานงานไปยังอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมพลังงานทดแทนฯ ให้ชาวบ้านลงมติว่าจะให้สร้างหรือไม่” นายนิราศ กล่าว
 
สำหรับโครงการสาธิตพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจังหวัดปัตตานี จะมีการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 250 กิโลวัตต์ 1 ตัว ราคา 23.5 ล้านบาท ผลิตจากประเทศอินเดียเสร็จแล้วรอการติดตั้ง และกังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ ราคา 130 ล้านบาท ผลิตจากประเทศจีนเสร็จแล้วรอการติดตั้ง โดยจะสร้างสถานีวัดลมขนาดความสูง 100 เมตรอีก 1 สถานี งบประมาณทั้งหมดมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net