15 ปี "สมัชชาคนจน" ขบถรุ่นแรกสถาปนา "สิทธิชุมชน" เบื้องหลังแบกคดีอาญาอื้อ

นักนิติศาสตร์ชี้ "สมัชชาคนจน" เคลื่อนไหวมีพลัง-ท้าทาย เปลี่ยนนโยบายรัฐ แต่โดนฟ้องกลับเพียบ ด้านทนายคนจนแนะฟ้องคดีเชิงรุก ตั้งคณะทำงานร่วมสู้คดี นักสิทธิฯ เสนอตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาล

 
วานนี้ (13 ธ.ค.53) นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม” ในวาระครบรอบ 15 ปี การก่อตั้งสมัชชาคนจน ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา การที่สมัชชาคนจนปะทะกับนโยบายและกฎหมายของรัฐ โดยใช้รูปแบบที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีลักษณะท้าทายและไม่ค่อยได้เห็นกันนักอย่างการปิดถนนหรือยึดเขื่อนนั้นมีพลัง ทำให้รัฐบาลและสังคมเห็นถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล ก่อให้เกิดการปรับตัวตั้งแต่ระดับรัฐ ที่มีการพูดถึงสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มกลไกรัฐอย่างการแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวนมากขึ้นมาแก้ปัญหา รวมถึงมีการปรับนโยบายสาธารณะบางส่วนด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การต่อสู้ดังกล่าวได้ก่อภาระตามมา นั่นคือการต้องเข้าสู่กระบวนการอาญา ไม่ว่าจะในขั้นของตำรวจ อัยการและศาล โดยยกตัวอย่างกรณีคดีบุกรุกที่ดินของชาวบ้าน 19 คนที่บ้านท่าหลุก จ.ลำพูน ซึ่งต้องโทษจำคุก 6 เดือนและพ้นโทษออกมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิตในคุก ขณะที่คนที่เหลือก็ต้องกลับมาอยู่ในที่ดินที่ผิดกฎหมายอีก เพราะไม่มีที่อยู่ นอกจากนี้ ยังมีกรณีคนงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ที่ฟ้องคดีมาตั้งแต่ปี 2538 และมีการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยจากค่าเสียหายที่คนงานเรียกร้องไป 2 ล้านบาท สุดท้ายศาลตัดสินให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยคนงานราว 110,000 บาทต่อคน ขณะที่หากเป็นคดีของชนชั้นนำในสังคมไม่ว่าฝ่ายไหนก็มักหลุดคดีด้วยเทคนิคทางกฎหมาย อาทิ กรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครองพื้นที่ป่าสงวนเขายายเที่ยง ปปช. ระบุว่าไม่สามารถสอบสวนคดีที่มีอายุเกิน 2 ปีหลังจากเกษียณได้ หรือคดีทุจริตที่ดินอัลไพน์ของนายเสนาะ เทียนทอง ที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากหมดอายุความ 
 
นอกจากนี้ นายสมชายยังยกตัวอย่างกรณีชาวบ้านคนหนึ่งในภาคเหนือที่มีคดีทั้งสิ้น 49 คดี โดยหลุดไปแล้ว 47 คดี ซึ่งทำให้เห็นว่ากระบวนการอาญาทำให้คนในสังคมหรือคนตัวเล็กๆ ต้องแบกรับสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่เป็นธรรม ดังนั้นแล้ว นอกจากการต่อสู้กับนโยบายและคดีต่างๆ เรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันก็คือ การยกเครื่องกระบวนการอาญา เพื่อให้ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่มีภาระหนัก ซึ่งหากผลักดันสำเร็จไม่เพียงแต่สมัชชาคนจนจะได้ประโยชน์ แต่ประชาชนคนอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ด้วย 
 
"กระบวนการทางอาญาเป็นกระบวนการที่ปรับตัวช้าที่สุดในทัศนะผม ช้ากว่าการต่อรองนักการเมือง" นายสมชายกล่าวและว่า การจะผลักดันเรื่องนี้ต้องอาศัยการรวมตัวจากประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อทำให้เป็นประเด็นที่กว้างขวาง รวมถึงสถาบันทางวิชาการต่างๆ และสภาทนายความต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีผู้ถูกกระทำจากกระบวนการนี้มากเท่าใดด้วย 
 
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ถูกดำเนินคดีมักถูกแยกส่วนไปจากขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งเขามองว่า ควรนับคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสียสละเพื่อขบวน รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาด้วย 
 
นอกจากนี้ นายสุรชัยแสดงความเห็นว่า การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของขบวนการประชาชนยังขาดการฟ้องคดีในเชิงรุก โดยที่ผ่านมา จะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเยียวยาที่ปลายเหตุ เขาได้ยกตัวอย่างการฟ้องร้องในเชิงรุก เช่น กรณีที่มีการฟ้องคดีในข้อหาทำให้โลกร้อน ซึ่งมีการนำแบบจำลองมาใช้คำนวณค่าเสียหายซึ่งสูงเกินจริง อาจดำเนินการฟ้องร้องให้เพิกถอนการใช้แบบจำลองที่ไม่เป็นธรรมนี้ หรือกรณีพื้นที่ประมงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อาจผลักดันให้มีการประกาศ "พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม" ซึ่งจะช่วยยับยั้งการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวได้
 
ทั้งนี้ นายสุรชัยกล่าวถึงคดีต่างๆ ที่ขบวนการประชาชนต่อสู้อยู่ว่าจะสำเร็จได้ ต้องมีกฎหมายที่สนับสนุนการใช้สิทธิของประชาชน โดยหากกฎหมายใดไม่เปิดช่องดังกล่าวก็ควรได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ เสนอให้มีคณะทำงานเชิงคดี ที่เป็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้าน ทนายความ เอ็นจีโอ และนักวิชาการ เพื่อร่วมมือกันใช้ข้อมูลของแต่ละฝ่ายในการต่อสู้คดีด้วย 
 
ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า เมื่อเป็นคดีความกันแล้ว การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจนนั้นเป็นเรื่องยากตั้งแต่การหาหลักทรัพย์ประกันตัว ตลอดจนหาเงินจ้างทนายสู้คดี เหมือนกับประชาชนแพ้ตั้งแต่ต้นเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้น รัฐที่เป็นธรรมจะต้องทำให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น 
 
นายไพโรจน์วิจารณ์ด้วยว่า กฎหมายที่มีอยู่นั้นไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น โดยเมื่อกฎหมายเข้าข้างรัฐ ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาก็มีความโน้มเอียงที่จะเข้าข้างรัฐตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ เมื่อชาวบ้านใช้พื้นที่ป่า โดยไม่มีเอกสิทธิ์ก็ตีความว่าเป็นการบุกรุกตามกฎหมาย โดยไม่พิจารณาถึงความเป็นมาของชุมชนในบริเวณนั้นๆ 
 
ด้านแนวทางแก้ไข เขาเสนอให้ประชาชนที่ต่อสู้ในประเด็นต่างๆ รวมตัวกันเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่างๆ โดยไม่ต้องรอ ส.ส.หรือรัฐบาลเสนอให้ สร้างกลไกระงับข้อพิพาทเรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อให้มีมาตรการบางอย่างรองรับนอกจากการพิจารณาแต่ข้อกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว 
 
ทั้งนี้ เขาระบุด้วยว่าคดีความต่างๆ นั้น ที่จริงแล้วสามารถระงับไม่ให้ไปถึงชั้นศาลได้ ซึ่งเป็นกระบวนการกฎหมายปกติที่ทำได้ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้จริง แต่ที่ผ่านมา กระบวนการเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น
 
ต่อคำถามเรื่องการตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาลนั้น นายไพโรจน์แนะนำว่า  สามารถทำได้โดยการเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาล เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านคดีทั้งในชั้นตำรวจ อัยการและศาลต่อสาธารณะ ว่ามีการสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องกี่คดี ด้วยเหตุผลใด และมีการตัดสินจำคุกแล้วกี่ราย เพื่อให้เกิดการวิจารณ์ได้ รวมถึงควรมีการวิจารณ์คำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการปรับตัวด้วย   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท