กสม.ยก 5 ปัญหาหลักสิทธิมนุษยชนไทย จี้รัฐฯ ปฏิรูประบบยุติธรรม

กสม.สรุปรายงานคู่ขนานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ยก 5 ปัญหาหลักสำคัญให้รัฐแก้ด่วน ชี้สิทธิถูกละเมิดจากกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก พร้อมเร่งรัดให้มีการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ แถมจวก พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ ฉ.ใหม่ ขวางการตรวจสอบรัฐบาล

 
วันนี้ (11 มี.ค.54) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมด้วย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชน นำเสนอสาระสำคัญของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยที่ กสม.จัดทำขึ้น เพื่อส่งให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามกระบวนการตรวจสอบ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ (Universal Periodic Review – UPR) ใน วันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยเป็นข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ กสม.ที่ได้เคยมีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนข้อร้องเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.
 
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. สรุปสาระสำคัญของรายงานว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นภาคีของสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนถึง 7 ฉบับ และมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่สังคมไทยยังคงมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการ เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติ รัฐยังมีความล่าช้าในการออกกฎหมายหรือปฏิบัติตามหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้แต่การดำเนินการพิจารณาและประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติฉบับใหม่ ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งยังมีบทบัญญัติห้าม กสม.เปิดเผยข้อเท็จจริงจากการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืน ซึ่งจะทำให้ กสม.ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
 
รายงานได้นำเสนอปัญหาสำคัญ 5 เรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างรุนแรงกว้างขวาง คือ 1) ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ปัญหาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 3) ปัญหาสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน 4) ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 5) ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้อพยพ คนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบ
 
แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่มีสภาพปัญหาร่วมกันที่สำคัญคือ สิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนถูกละเมิดจากกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศหรือใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายพิเศษเหล่านี้ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกว้างขวางมีกระบวน การการควบคุมตัวและสอบสวนที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดกลไกการตรวจสอบที่เหมาะสม รวมทั้ง ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มีการจับกุมคุมขัง การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย นอกจากนี้ ในกรณีสิทธิชุมชน รัฐได้เพิกเฉย ล่าช้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครองสิทธิชุมชน ทั้งยังมีการออกกฎหมายที่ละเมิดต่อวิถีชุมชน เช่น กรณีป่าชุมชน หรือการออกเอกสารสิทธิที่ทับซ้อนกับที่ทำกินของราษฎรแต่เดิม เป็นต้น ตลอดจนมีการข่มขู่ คุกคาม และสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และแกนนำชุมชน โดยรัฐบาลยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
 
ประธาน กสม.กล่าวด้วยว่า หลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) ในช่วง พ.ศ.2552-2553 เสรีภาพในการแสดงความเห็นได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายเพื่อควบคุม ตรวจสอบ จับกุมผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจ ได้อย่างกว้างขวาง และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้สื่อมวลชนเซ็นเซอร์หรือควบคุมตัวเองในการเสนอข่าวสาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ โดยเน้นการควบคุมมากกว่าการรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจาก อาวุธ
 
นอกจากนี้ยังมีปัญหาข้ามชาติ คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นสตรีและเด็ก ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย จำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ และ ขาดกฎหมายคุ้มครอง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน รวมถึงกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้อพยพ คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา สถานะและสิทธิของบุคคลปี 2548 และแม้ว่าประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจาก ประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด แต่ยังมีการส่งกลับ หรือการผลักดันผู้หนีภัยเหล่านี้กลับไปในสภาวะที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต อันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายจารีต   
 
ข้อเสนอของรายงานนี้ คือ ให้รัฐปฏิรูประบบความยุติธรรมให้เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และผลักดันให้เกิดองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหากจำเป็นจะต้องมีกฎหมายดังกล่าว ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่ง ยกเลิกหรือทบทวนกฎหมาย/ร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบเร่งกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์
 
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาฯ กสม.กล่าวว่า กสม. แสดงความชื่นชมในการที่รัฐบาลสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่ริเริ่ม และผลักดันโดยภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ กสม. สนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูป ที่ดินทำกิน การปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูประบบความยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบสังคมสวัสดิการ และการปฏิรูปสื่อ ตลอดจนสนับสนุนการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง
 
นายแพทย์ชูชัยฯ กล่าวด้วยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของ กสม. ที่เสนอต่อสหประชาชาตินี้ จะเป็นรายงานคู่ขนานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับรายงานจากภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่สหประชาชาติจะนำข้อมูลไปพิจารณาร่วมกับรายงานของรัฐบาล เพื่อพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในเดือนตุลาคม 2554 และรัฐบาลจะประกาศรับข้อเสนอจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่จะ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องใดบ้าง ซึ่ง กสม. จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบว่า ภาครัฐได้ ดำเนินการตามคำประกาศไว้หรือไม่ต่อไป เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยก็จะต้องเสนอรายงานความก้าวหน้าตามที่ได้ให้คำมั่นไว้   
 
ต่อจากนั้น นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม.ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. จัดทำรายงานฉบับนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองในบทบาทของ กสม. รายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชน กระบวนการที่เกี่ยวข้องจะพบว่าสถานการณ์การละเมิดหรือปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม มีหลายบริบท ด้วยข้อจำกัดบังคับไว้เพียง 5 หน้า แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่ กสม.ได้เข้าไปเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ราชการ และเอกชน ได้ประมวลไว้ในภาคผนวกไม่ให้ตกหล่น ความคิดเห็นจากการมีส่วนร่วม กสม. ถือเป็นหัวใจในกระบวนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กสม. มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากมีการปฏิบัติของหน่วยงานในเชิงละเมิดสิทธิ หรือละเลยการกระทำ
 
ข้อเสนอมาจากหลายมุมมอง เช่น การปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปองค์กรและกระบวนการ จะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เช่น กรณีการทำแผนประกอบการรับสารภาพ จะกระทบต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระทบต่อกฎหมาย ครอบครัว รูปคดี การวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ต้องทำด้วยใจเป็นกลาง และฟังข้อมูลรอบด้าน และดูมิติมาตรฐานสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือในส่วนของการรวบรวมข้อมูลและระบบกลไก ด้านกฎหมาย
 
 
อ่านการตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมที่: http://www.nhrc.or.th/news.php?news_id=7744

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท